svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไขปมวุฒิ ป.เอก สว.คนสวย ผิดตรงไหน “กฎหมาย หรือ กฎสังคม”

ไขปมวุฒิ ป.เอก ของ สว.คนสวย ผิดตรงไหน กฎหมายหรือกฎสังคม พร้อมไขข้อสงสัย ศาสตราจารย์ ตปท. ต่างจาก “ศ.เมืองไทย” อย่างไร

ประเด็นวิจารณ์เรื่องปริญญาเอก ระดับดอกเตอร์ของ สว.บางคน จำเป็นต้องแยกแยะประเด็นให้ชัด เพื่อความไม่สับสน โดยแยกเป็น 5 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

1.ชื่อมหาวิทยาล้ยที่ ก.พ.รับรองวิทยฐานะ ตรวจสอบได้กับทาง ก.พ. และในอินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบัน ก.พ.ชี้แจงว่า ไม่ได้ผู้รับรองวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาในต่างประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ให้ทางมหาวิทยาลัยต้นทางส่งหลักฐานการได้รับการรับรองจากประเทศที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่มาด้วย 

2.การใช้หรือแสดงวุฒิการศึกษาของ สว.บางราย ไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะการสมัคร สว. ไม่มีเงื่อนไขคุณสมบัติเรื่องวุฒิการศึกษา 

3.การได้วุฒิการศึกษาจากสถาบันที่เรียกกันติดปากว่า “มหาวิทยาลัยห้องแถว” น่าคิดว่าเป็นความผิดทางกฎหมายตรงไหน อย่างไร ต้องแยกประเด็นดังนี้ 

3.1 กรณีเป็น ”วุฒิปลอม” หรือปลอมวุฒิขึ้นมา คือ ไม่มีเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชานั้นจริง แต่อ้างว่ามีวุฒิการศึกษา มีใบปริญญา หรืออีกแบบคือ มีการเปิดการเรียนการสอนจริง แต่ผู้ถือวุฒิการศึกษาไม่ได้ไปเรียนจริง แต่กลับได้วุฒิมา แบบนี้เรียกว่า “วุฒิปลอม” หรือ “ปลอมวุฒิขึ้นมา” 

การนำวุฒิปลอมไปใช้ เพื่อประโยชน์บางอย่าง เช่น เข้าสมัครงาน โดยเฉพาะสมัครเป็นข้าราชการ หรือหลอกลวงเอาประโยชน์บางอย่างจากบุคคลอื่น ลักษณะนี้เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย 

3.2 ไม่ใช่วุฒิปลอม แต่เป็นวุฒิการศึกษาจากสถาบันที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการยอมรับ ที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยห้องแถว” แบบนี้น่าจะไม่ผิดตามกฎหมาย แต่อาจจะผิดกฎสังคม ในทางพุทธศาสนา อาจเรียก “โลกะวัชชะ” หรือโลกติเตียน 

ยกตัวอย่าง รัฐมนตรีคนหนึ่ง จบปริญญาตรีจากสถาบันที่ได้รับการรับรอง แต่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยห้องแถว รัฐมนตรีคนนี้ไม่มีความผิดทางกฎหมาย เพราะคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีบังคับเฉพาะ “ปริญญาตรี” ส่วนปริญญาเอกจบจากสถาบันที่ไม่มีชื่อเสียง หรือมหาวิทยาลัยห้องแถว ก็ไม่ผิด แต่คนอาจไม่เชื่อถือ ก็เท่ากับโดนสังคมวิจารณ์ 

อดีตรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็น “หัวเรือใหญ่ของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง” ก็อ้างประวัติว่าจบการศึกษาจากต่างประเทศ ต่อมาถูกตรวจสอบ เรียกร้องให้นำภาพการเรียนในต่างประเทศมาเปิดเผย ปรากฏว่า อดีตรัฐมนตรีรายนี้ ชี้แจงว่า ตนจบหลักสูตร “เรียนทางไปรษณีย์” ซึ่งมีอยู่จริง วุฒิที่ใช้จึงไม่ใช่วุฒิปลอม แต่อาจมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ โดยในประวัติของอดีตรัฐมนตรีท่านนี้ ในเวลาต่อมาก็อ้างสาขาที่เรียนจบ พร้อมวงเล็บว่า “เรียนทางไปรษณีย์”  

4.การเสนอข่าว หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ต้องระมัดระวัง และไม่ควรมีลักษณะบูลลี่ เพราะความสามารถแต่ละด้านของแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น อาจจบจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แต่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดี ก็เป็นได้ 

"บทเรียนของเรื่องนี้มีเพียงอย่างเดียวคือ อย่าเชื่อคำโฆษณา หรือภาพลักษณ์ที่มีการสร้างผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ มากเกินไป"

5.การใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ ถ้าใช้จริง โดยไม่ได้รับการรับรองหรือประกาศจริง น่าจะมีความผิด เพราะเป็น “ตำแหน่งทางวิชาการ” ที่ต้องได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่หากอ้างว่าเป็นศาสตราจารย์ที่ได้รับจากต่างประเทศ ก็สามารถอ้างได้ แต่ในเมืองไทยน่าจะมีไม่มากนัก 

ศาสตราจารย์ ตปท. ต่างจาก “ศ.เมืองไทย”

มีมุมคิดของศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง ศาสตราจารย์ท่านนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะอาจารย์ แต่ยังเป็น “คนการเมือง” ด้วย เขาขอแสดงความเห็นโดยไม่เปิดเผยชื่อ เพราะไม่อยากให้สังคมนำไปเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองที่เขาสังกัดอยู่ 

ศาสตราจารย์ท่านนี้แสดงความเห็นในกรณีหมอเกศกมล กับวุฒิการศึกษาที่ระบุว่าตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ได้มาว่า น่าจะเป็นตำแหน่งที่ได้จากทางมหาวิทยาลัยในอเมริกาจริงๆ เพราะในอเมริกามีมหาวิทยาลัยเป็นพันแห่ง เล็กบ้างใหญ่บ้าง และเป็นอิสระต่อกัน เมื่อมหาวิทยาลัยได้มอบตำแหน่งศาสตราจารย์ให้กับใคร โดยปกติก็จะได้รับการยอมรับ ซึ่งจะแตกต่างจากตำแหน่งในศาสตราจารย์ในประเทศไทย ที่มีขั้นมีตอนและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันมาก

ส่วนประเด็นเรื่องการการใช้ภาษาอังกฤษของหมอเกศกมล ศาสตราจารย์ท่านนี้มองว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สังคมสมควรโฟกัส เพราะสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในวิชาชีพนั้นๆ