svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สติธร" ชี้ซิกเลือก สว. ให้จับตาระดับอำเภอใครมีเสียงจัดตั้งมากก็คุมเกมหมด

09 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สติธร ธนานิธิโชติ" เผยซิกแนลสำคัญเลือก สว. อยู่ที่ระดับอำเภอ ย้ำหากมีเครือข่ายใหญ่ช่วย ก็ได้โอกาสเข้ามาเป็นผู้กำหนดเกม ชี้ กกต. กำหนดกติกาเคร่งครัด ยิ่งเปิดทางพวกคิดไม่ซื่อ ฝากผู้ลงสมัครต้องช่วยกันตรวจสอบ

9 พฤษภาคม 2567 "ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวในงานสัมมนา "Next Station สว." เวทีเสวนา "กว่าจะ (ได้) เป็น สว." ตอนหนึ่งว่า หากอยากเป็น สว.ในครั้งนี้ เลือกอำเภอที่ชอบ เลือกกลุ่มที่ใช่ สำรวจคุณสมบัติตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มแรกที่เกี่ยวกับหน่วยงานของภาครัฐ ก็จะต้องลาออกก่อน

ดร.สติธร กล่าวต่อว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 60 สว. คือ สภาเติมเต็ม ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยงตามที่เคยมีในอดีต ซึ่งระบบนี้ต้องการความหลากหลาย และเมื่อเจตนารมณ์เป็นเช่นนี้ และวิธีการดูเหมือนจะซับซ้อน แต่ความซับซ้อนจะมีเพียงแค่ไม่กี่อำเภอเท่านั้น ในกรณีที่มีคนมาสมัครเยอะ แต่เมื่อมาถึงระดับประเทศแล้ว ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้สมัครอิสระก็สามารถเลือกสมัครอำเภอ ที่มีผู้สมัครน้อยเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกได้ แต่ถ้าหากเป็นผู้สมัครแบบมีเครือข่ายจัดตั้ง ก็จะมีหลายระดับที่ใหญ่ที่สุด คือ ระดับประเทศที่สามารถพิจารณาหาผู้สมัครลงได้ทั่วทุกหัวระแหง

 

"เพราะในระดับอำเภอจะมีขนาดเล็กกว่าเขตเลือกตั้ง ซึ่งถ้าหากเป็นเครือข่ายทางการเมืองเขาสามารถใช้เครือข่าย ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในการหาผู้สมัครเลือกสว.ได้ เพราะถ้าหากมีเครือข่าย ผ่านเสียงหัวคะแนนจากระบบเลือกตั้งก็จัดคนลง ใช้หมู่บ้านละคนก็ได้ ก็จะทำให้เกิดผู้สมัครมากถึง 80,000 คน และถ้าหากมีที่มีศักยภาพระดับนี้สัก 5 กลุ่ม ก็จะมีผู้สมัครถึง 400,000คน ดังนั้นหากเกิดแบบนี้ขึ้นมาจริงๆ ก็จะมีความเสี่ยงต่อผู้สมัครอิสระที่มีเครือข่ายขนาดย่อม" ดร.สติธร กล่าว 

ทั้งนี้ เพราะกลุ่มเครือข่ายขนาดใหญ่ มีโอกาสได้ผลลัพธ์ระดับอำเภอ 2 ใน 3 จากผู้ที่จะได้รับเลือก ซึ่งก็จะเป็น 2 ใน 3 ที่จะต้องไปเลือกในระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไปโดยอัตโนมัติ ที่เหลือก็แค่ส่งซิกให้ถูกว่า จะเลือกใคร ซึ่งซิกดังกล่าวก็ทำได้หลากหลาย เช่น การตั้งกลุ่มไว้ล่วงหน้า

อย่างไรก็ดี แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำกติกาออกมาให้ดูเหมือนควบคุมเคร่งครัด แต่ยิ่งทำให้คนที่มีความสามารถในการจัดตั้งทำอะไร ลับๆ ล่อๆ จนไม่มีใครไปช่วย กกต.ตรวจสอบได้ ก็จะเกิดการระวังตัวและตามจับยาก ซึ่งสิ่งนี้ทำให้คนที่มีเครือข่ายหนาแน่นเหนียวแน่นยิ่งทำงานได้ง่าย กกต.ก็จะยิ่งตรวจสอบได้ยากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้สมัครอิสระก็จะมีความรู้สึกว่า จะมีโอกาสสู้กับเครือข่ายเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะมีข้อจำกัดมากกับตัวเอง หรือจะให้เพื่อนช่วยเชียร์ ก็เกิดความน่ากังวล ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ผิดกฎหมายหรือไม่ 

 

"จุดสำคัญคือระดับอำเภอ ใครที่มีเสียงจัดตั้ง ทำให้คนของตนเองชนะ 2 ใน 3 ของแต่ละกลุ่มได้ เขาจะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ทั้งเกมได้" ดร.สติธร ระบุ 

สำหรับเรื่องของการแนะนำตัวที่กำหนด ให้เขียนคุณสมบัติตนเอง 5 บรรทัด ที่จะส่งไปหาผู้สมัครแต่ละคนให้ได้ทราบข้อมูลผู้สมัครคนอื่นล่วงหน้าก่อนวันเลือก 3 วัน ซึ่งการเขียนคุณสมบัติ 5 บรรทัด อาจจะเป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งเพื่อบอกสมาชิกในกลุ่มว่าจะต้องเลือกใคร และเลือกไขว้จะต้องเลือกใคร

 

"จึงพูดได้ว่าหากยิ่งปิด ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้คนที่จะทำไม่ดีมีร้ายกับระบบทำงานได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เรื่องเหล่านี้จึงควรจะเปิดเพื่อให้ช่วยกันตรวจสอบ จึงฝากว่าที่ผู้สมัครให้ช่วยกันระแวดระวัง การส่งสัญญาณแบบนี้ด้วย รวมถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในวันเลือก วิธีการเดียวที่จะกันคนที่จะทำลายระบบนี้ ได้ คือ ต้องหาผู้สมัครอิสระให้ได้มากที่สุด ผู้สมัครที่มีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองลงมาให้เยอะที่สุด" ผอ. สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระแสชวนคนให้ไปสมัครเพื่อให้ไปเลือกอาจจะขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญหวังว่าทุกคนที่มาลงสมัคร คือ ต้องอยากเป็นในระดับอำเภอ จึงให้มี 2 สิทธิ์ 1 คะแนนเลือกตนเอง อีก 1 คะแนนเลือกเพื่อนในกลุ่ม

 

"แต่เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ หลักการนี้อาจใช้ไม่ได้ เพราะผู้ที่มาสมัครบางคนบอกว่า มาสมัครเพราะไม่ได้อยากเป็น แต่มาสมัครเพราะอยากเลือก และเมื่อมีการรณรงค์ให้ไปเลือก ก็จะเข้าทางคนที่เขาจ้างมา จึงฝากผู้ที่จะสมัคร ว่าในกระบวนการที่ดูเหมือนจะสลับซับซ้อน ช่วยกันติดตาม เฝ้าระวังในแต่ละกระบวนการแทนประชาชนอย่างพวกเรา" ดร.สติธร กล่าว 

logoline