svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"wewatch" ขอ กกต.ระงับระเบียบแนะนำตัว สว. ชี้ไม่ควรปิดปากเพื่อความยุติธรรม

07 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่ม wewatch ยื่น กกต.คัดค้านระเบียบแนะนำตัววุฒิสภา พร้อมขอให้ระงับและนำกลับมาพิจารณาใหม่ ด้าน "นันทนา" ชี้กติกาสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้สมัคร เพราะมีโทษถึงอาญา ย้ำหากไม่ดำเนินการปรับปรุง ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์กรรมการการเลือกตั้งเอง

7 พฤษภาคม 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรม ยื่นเรื่องคัดค้านและเรียกร้องให้ระงับการบังคับใช้ ระเบียบฯ การแนะนำตัว สว. และแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด

โดย นายนนทวัฒน์ เหล่าผา อาสาสมัครเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (wewatch) ได้อ่านจดหมายที่มีเนื้อหาถึงการประกาศใช้ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567

ทั้งนี้ wewatch เห็นว่าเป็นการวางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศความน่ากังวลและความกลัวแก่ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยมีความเห็นว่า ระเบียบฉบับนี้ เป็นการปิดปากผู้สมัคร ปิดปากสื่อมวลชน และปิดหูปิดตาประชาชน ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ กกต. ดังนี้

  1. ระงับการบังคับใช้ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนําตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขเพื่อรองรับหลักการของการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
  2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรกําหนดมาตรการและแผนงานในการส่งเสริมการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบการทุจริตโดยประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ผ่านการเปิดกว้างเพื่อรับ ฟังเสียงประชาชนและสื่อมวลชนที่จะได้รับผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น
     

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขระเบียบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า กกต.จะทำหน้าที่ได้อย่างยุติธรรม ให้กับสื่อมวลชนและประชาชน ในกระบวนการเลือกตั้ง สว.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

ด้าน นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิ์เสรีภาพและความเป็นธรรม และผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ร่วมยื่น คัดค้านในครั้งนี้ด้วย พร้อมกล่าวว่า กกต.ต้องไม่ให้กฎระเบียบ มาเป็นกำแพงกั้นขวางความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริ งและให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว และให้ผู้สมัครได้แถลงข้อมูลแก่ประชาชน กกต. อย่าเอากฎระเบียบมาขวางความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

"สว.เป็นหนึ่งใน 500 คนของรัฐสภา ที่ยึดโยงโดยตรงกับภาคประชาชน ฉะนั้นการมาวันนี้ ก็เพื่อเรียกร้องกกต.ว่าอย่าปิดกั้น การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าเสรีภาพของผู้สมัคร หรือเสรีภาพของสื่อมวลชน หรือประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วม อย่าให้กฎระเบียบมาเป็นกำแพงขัดขวาง กระบวนการประชาธิปไตย จึงอยากให้ กกต.และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันกติกาประชาธิปไตย และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนให้ได้มากที่สุด" นายวรา กล่าว 

 

ขณะที่ "นางนันทนา นันทวโรภาส" ผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ "นายพนัส ทัศนียานนท์" อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสงค์จะลงสมัคร สว. ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ต่อศาลปกครอง และศาลปกครองรับคำร้องไว้พิจารณา ว่า ตนเห็นสอดคล้องกับกลุ่มนายพนัส ที่ได้ไปยื่นร้องต่อศาลปกครอง

ทั้งนี้ แต่ศาลปกครองนัดไต่สวนวันที่ 16 พ.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีกฤษฎีกาการเลือก สว.ออกมาแล้ว ดังนั้น การมายื่นต่อ กกต.เป็นการยื่นโดยตรง เพื่อกระตุ้นให้เห็นระเบียบที่ กกต.ออกมา ส่งผลต่อความหวาดกลัว ทำให้ผู้ที่จะประสงค์ลงสมัคร ไม่มั่นใจว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร

นางนันทนา กล่าวต่อว่า ฉะนั้น ถ้า กกต.เห็นว่ากฎระเบียบดังกล่าว ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ผู้สมัคร ได้แนะนำตัวให้กับประชาชนได้รับรู้ จึงควรจะปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้อง กับข้อเท็จจริงและทำต่อ การที่จะมีกฤษฎีกาการเลือกสว.ออกมา เพื่อให้การเลือก สว.เป็นที่รับรู้ และไม่ปิดหูปิดตาประชาชน

 

"จากระเบียบ กกต.ที่ออกมา ในเรื่องของการแนะนำตัว ถ้าหากผิดพลาดไปมีโทษทางอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความหวาดกลัว เพราะการเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นเรื่องใหม่และประชาชนไม่ได้รับรู้มาก่อน การที่ผู้ประสงค์จะสมัคร อาจจะแนะนำตัวผิดพลาดหรือไม่ เป็นไปตามระเบียบของ กกต. ก็ไม่ควรจะมีโทษทางอาญา ควรจะเป็นโทษที่ทำไปเพราะไม่รู้" นางนันทนา ระบุ 

 

นอกจากนี้ การแนะนำตัวให้แนะนำตัวกับผู้ที่จะสมัครด้วยกัน ซึ่งผู้สมัครเองก็ไม่มีใครรู้ว่า ใครประสงค์จะสมัคร เพราะ กกต.ก็ไม่มีช่องทางการสื่อสารว่าใครจะเป็นผู้สมัคร ตรงนี้จึงเป็นการปิดกั้นผู้สมัครด้วยกันเอง และการแนะนำตัว ไม่ควรที่จะแนะนำตัวเฉพาะผู้ที่จะประสงค์ลงสมัครด้วยกันเอง ประชาชนควรจะได้รับรู้ด้วย เพราะแม้จะไม่ได้เลือก แต่ สว.ก็เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ควรที่จะได้รับรู้ประวัติของผู้สมัคร และมีส่วนที่จะได้เฝ้ามองการเลือกครั้งนี้ 

อย่างไรก็ตาม การที่ กกต.ออกระเบียบมาแบบนี้ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน ปิดหู ปิดตา ประชาชน และปิดกั้นสื่อในการทำหน้าที่ เพราะสื่อไม่สามารถที่จะออกมาสัมภาษณ์ หรือเผยแพร่ข้อมูลของผู้สมัครได้เลย เพราะอาจจะเข้าข่ายความผิดและมีโทษทางอาญาด้วย 

 

"เพราะฉะนั้นการที่ กกต.ออกระเบียบ ตรงนี้ออกมาแล้วมีผู้ออกมาท้วงติง กกต.ควรจะรับฟัง และยังมีเวลาที่จะออกมาปรับปรุง ระเบียบเพื่อที่จะไม่ให้ถูกข้อครหานินทาจากประชาชนว่า กกต.ไม่ได้สนับสนุนการเลือก สว. และไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนทั้งหมดได้รับรู้ข้อมูลการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้น จึงเป็นการเรียกร้องให้ กกต.ออกมาปรับปรุง และแก้ไขระเบียบตรงนี้" นางนันทนา กล่าว

 

ขณะเดียวกัน การที่มาวันนี้ (7พ.ค.) ไม่ได้ต้องการร้องเป็นคดีความกัน ต้องการขอความเห็นใจจาก กกต. ขอความเข้าใจจาก กกต.ว่าการเลือกสว.ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ สำหรับผู้ประสงค์จะสมัคร สำหรับประชาชน สำหรับสื่อมวลชน ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือก สว.เป็นภารกิจสำคัญ กกต.ควรจะให้ความสำคัญ กับกฎกติกาที่จะออกมาบังคับใช้ กับผู้ประสงค์จะสมัคร และสื่อมวลชน ให้มีความโปร่งใสชัดเจน

 

"แต่ถ้ากกต.ไม่คิดจะมีการทบทวนกติกา ไม่ได้มีการปรับปรุงประชาชนก็จะเห็นว่า กกต.ไม่ได้อยู่ในฝ่ายที่จะมาจัดการเลือกตั้ง มาสนับสนุนการเลือกให้เป็นประชาธิปไตย และเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางที่สุด ภาพลักษณ์ของ กกต.ก็จะเสียหายเอง" นางนันทนา กล่าว

logoline