svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พิธา-ปิยบุตร" เตรียมยื่นอุทธรณ์คดีแฟลชม็อบเหตุติดใจระยะชุมนุม 150 เมตร

8 จำเลยคดีแฟลชม็อบเมื่อปี 62 เตรียมยื่นอุทธรณ์ ด้าน "พิธา" ติดใจเรื่องระยะห่าง 150 เมตร วัดจากตรงไหน เมื่อเทียบกับคดีอื่นที่เคยชุมนุมจุดเดียวกัน แต่กลับไม่โดน ขณะที่ "ปิยบุตร" ยกปิดสนามบินมี่แต่โทษปรับ 2 หมื่นบาท ฝากก้าวไกลแก้ไขกฎหมายไม่เหมาะสม

5 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีที่ศาลแขวงปทุมวัน ได้มีคำพิพากษา 8 จำเลย อาทิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , นายปิยบุตร แสงกนกกุล , น.ส.พรรณิการ์ วานิช และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในความผิดฐานชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562 ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ คดีกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จำนวน 191 ล้านบาท และจำเลยยังได้สลับกันขึ้นปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว

โดย "นายกฤษฎางค์ นุตจรัส" ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความ กล่าวภายหลังศาลพิพากษาว่า จำเลยยังติดใจในประเด็นเรื่องของ ระยะ 150 เมตร ของเขตมาตรฐานว่าวัดจากจุดไหน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวมีการเทียบเคียงกับคดีอื่น ที่มีการชุมนุมสถานที่เดียวกัน จุดเดียวกัน ซึ่งศาลอาญากรุงเทพฯใต้ เคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ทั้งที่เป็นการชุมนุมจุดเดียว

อีกทั้ง ในประเด็นเรื่องของการไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลแขวงจังหวัดเชียงราย เคยมีคำวินิจฉัยว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเพียงแต่ต้องแจ้ง พนักงานสอบสวนให้ทราบเท่านั้น แต่หากมีการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็ถือว่าเจ้าหน้าที่รับรู้แล้ว ซึ่งคดีนี้ตำรวจรับรู้ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2562 แล้วว่ามีการชุมนุม เนื่องจากจำเลยมีการโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะทนายคิดว่าจำเลยควรที่จะอุทธรณ์คดี เรื่องนี้ไม่ต้องการเอาชนะ เเต่ต้องการความจริง ตนเคารพคำพิพากษาศาล เเต่เคารพข้อเท็จจริงมากกว่า ส่วนอัยการจะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักกว่าเดิมหรือไ ม่ต้องถามทางอัยการ 

ขณะที่ นายพิธา กล่าวว่า จากการหารือกับจำเลยคนอื่น ว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์คดี เพราะมีประเด็น ข้อเท็จจริง เรื่องของระยะของการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน ว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อนของ 150 เมตร ว่าวัดจากจุดไหน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่นๆ  และการที่ศาลตัดสินในลักษณะนี้ ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลเสียเครดิตทางการเมือง เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง ตนเองอยากโฟกัสเรื่องงาน เพราะสัปดาห์หน้าจะไปสภาอภิปรายเรื่องของปัญหาการประมง

ด้านนายปิยบุตร กล่าวว่า คดีนี้มีหลายประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ต่อ พร้อมเทียบเคียงกับคดีปิดสนามบิน มีผลกระทบจำนวนมาก และเป็นความผิดชัดเจน แต่ศาลพิจารณาสั่งปรับคนละ 20,000 บาท ส่วนคดีการชุมนุมคดีนี้ เป็นการชุมนุมใช้ระยะเวลาไม่นาน หลังเลิกชุมนุมก็มีการช่วยกันเก็บขยะ ศาลใช้ระยะเวลาอ่านคำพิพากษานานกว่าการชุมนุมดังกล่าวด้วยซ้ำ สุดท้ายถูกจำคุกถึง 4 เดือน ปรับ 20,200 บาท เป็นเหตุผลที่จะต้องอุทธรณ์คดี เพื่อให้ศาลสูงพิจารณา ส่วนเรื่องความไม่เหมาะสมของกฎหมาย ก็อยากจะฝากให้พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขในสภาต่อไป

อนึ่ง การพิจารณาคดีดังกล่าว โดยวันนี้ (5ก.พ.) จำเลยทั้งหมดได้เดินทางมาศาลพร้อมกับทนายความ ซึ่งการพิจารณาคดีนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยประกาศเชิญชวนผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ของกลุ่มจำเลยเอง ย่อมรู้อยู่แล้วว่าหากประกาศโพสต์เชิญชวน จะต้องมีประชาชนมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก ดังนั้น จำเลยจึงเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยแบ่งหน้าที่กันทำ

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าจำเลยไม่สามารถรับผิดชอบต่อการชุมนุม ไม่ให้กีดขวางการสัญจรของประชาชนต่อระบบขนส่งสาธารณะ และการชุมนุมอยู่ในเขตพระราชฐาน ใกล้กับพระราชวังสระปทุมฯ ในระยะ 150 เมตร จึงพิพากษาจำคุก จำเลยทั้ง 8 คน เป็นเวลา 4 เดือน พร้อมปรับ 10,000 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์อายุประวัติสถานะทางสังคมความมีชื่อเสียง และมีผู้ติดตามจำนวนมากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และการชุมนุมเป็นการแสดงออกแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรงเห็นควรให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี ส่วนกรณีที่จำเลยไม่แจ้งการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ปรับพินัยฯ ศาลสั่งปรับ 20,200 บาท

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 8 คน ประกอบด้วย

  1. น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา
  2. นายพริษฐ์ ชีวารักษ์
  3. นายธนวัฒน์ วงค์ไชย
  4. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
  5. นายปิยบุตร แสงกนกกุล
  6. น.ส.พรรณิการ์ วานิช
  7. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
  8. นายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร


สำหรับความผิด

  • พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ
  • ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
  • ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวังฯ
  • ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ
  • ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ
  • ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงจะคาดหมายได้ฯ
  • พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ