นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง SME D Bank โดย “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.” ร่วมกับ “สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ดำเนินการสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 4/2567 และคาดการณ์อนาคต” จากกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 500 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ ไตรมาสที่ 4/2567 อยู่ที่ระดับ 55.21 ปรับดีขึ้นอย่างชัดเจนจากไตรมาสที่ 3/2567 ที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 43.63 เป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับเข้าสู่ช่วง High Season การท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นการบริโภค และมีการจ้างงานในภาคบริการ รวมถึง การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
ทั้งนี้ วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) มีดัชนีความเชื่อมั่นสูงสุดที่ระดับ 60.98 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและปรับตัวทางธุรกิจได้ดีกว่าวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) และขนาดย่อย (Micro) ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจการผลิต การท่องเที่ยว และบริการอื่น ๆ มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 57.14-57.26 ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ยังคงเป็นกลุ่มที่มีระดับความเชื่อมั่นต่ำที่สุด
รวมถึง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เชื่อมั่นผลประกอบการและสภาพคล่องปรับเพิ่มขึ้น จะลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ความต้องการกู้ยืมสินเชื่อ ในไตรมาส 1/2568 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความต้องการ คิดเป็นสัดส่วน 56.80% ในการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สัดส่วน 34.80% และเพื่อลงทุน สัดส่วน 22.00%
ส่วนความคิดเห็นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท (ระยะที่ 1) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 75% ระบุว่าได้รับประโยชน์ โดยธุรกิจขนาดย่อย และภาคธุรกิจการค้าเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากสุด อยู่ที่ระดับ 80% และ 85% ตามลำดับ
ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 1/2568) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยภาพรวมความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 58.82 ซึ่งเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน ทุกขนาดธุรกิจ และทุกประเภทอุตสาหกรรม ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นและเชื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ การท่องเที่ยวยังคงอยู่ในช่วง High Season รวมถึง ภาพรวมของการส่งออกขยายตัว
ขณะที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 56% ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนราคาถูก โดยธุรกิจขนาดย่อย และภาคธุรกิจการค้า ได้รับผลกระทบมากที่สุด พร้อมระบุว่า หากในอนาคตยังมีสินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 58% ในทุกขนาดธุรกิจและทุกประเภทธุรกิจ ซึ่งแนวทางปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อประเด็นดังกล่าว 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปรับกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจให้แตกต่างจากสินค้าจีน 2.พัฒนาคุณภาพและนวัตกรรมของสินค้าเพื่อสร้างความแตกต่าง และ 3.เพิ่มมูลค่าในสินค้าและบริการ
นายพิชิต กล่าวเสริมว่า แม้ดัชนีเชื่อมั่น ประจำไตรมาส 4/2567 จะปรับสูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดย่อมและขนาดย่อย ยังมีความเปราะบางในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนราคาถูก ดังนั้น SME D Bank จึงมุ่งช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียกระดับเพิ่มผลิตภาพธุรกิจ หลีกหนีการแข่งขันเรื่องราคา ผ่านกระบวนการสนับสนุนด้านการเติมทุนควบคู่กับการพัฒนา โดยจัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือบริการ และผลักดันปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจ รองรับเทรนด์ใหม่ของโลก รวมถึงสนับสนุนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดต้นทุน เช่น สินเชื่อ “Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้” ทำธุรกิจ 1 ปีก็กู้ได้ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MLR-1% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี เป็นต้น
ควบคู่กับช่วยพัฒนาผ่านแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (dx.smebank.co.th) ที่ให้บริการฟรี สะดวกสบาย ช่วยเสริมแกร่งธุรกิจครบวงจรตลอด 24 ชม. มีฟีเจอร์สำคัญ เช่น Business Health Check ระบบตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจ E-Learning รวบรวมหลักสูตรความรู้สำคัญ ช่วยเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจ และ SME D Coach ที่ปรึกษาและให้คำแนะนำธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ เป็นต้น