แน่นอนการเลือกตั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ดูจะไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบเท่าไหร่นัก เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ภายหลัง "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" อดีตหัวหน้าพรรค ตัดสินใจประกาศลาออก ผ่านไลน์กลุ่มพรรรค เพื่อรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เนื่องจากได้จำนวน สส. ไม่เป็นไปตามเป้า
ก่อนที่ต่อมาประชาธิปัตย์กำหนดให้วันที่ 9 ก.ค. 2566 เป็นวันเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ แต่ทว่าการประชุมดำเนินไปราว 6 ชั่วโมง และต้องยุติลง เพราะเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ มีเพียง 201 จากจำนวนองค์ประชุม 250 คน
ถัดมาในวันที่ 6 ส.ค. 2566 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนผลจะลงเอยแบบเดิม เนื่องจากองค์ประชุมมีเพียง 210 คน
กระทั่งในวันที่ 14 พ.ย. การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ ซึ่งใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ก่อนมีมติให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 9 ธ.ค. พร้อมทั้งการแก้ไขข้อบังคับพรรค โดยเพิ่มองค์ประชุมอีก 150 คน มาจากตัวแทนภาค ภาคละ 30 คน เพื่อสำรองกรณีองค์ประชุมไม่ครบ
จากเหตุการณ์ที่ไล่เรียงมานั้น แท้จริงแล้วปัญหากับการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น และทำให้หวนย้อนกลับไป ราว 36 ปีก่อน ก็เคยมีเรื่องราวลักษณะมาแล้ว จนเป็นที่มาของคำว่า "กลุ่ม 10 มกรา"
ท้าวความกลับไป กลุ่ม 10 มกรา นับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประชาธิปัตย์ ภายหลังจบเลือกตั้ง 27 ก.ค. 2529 กับความพยายาม "เปลี่ยนเลือดใหม่" เข้ามาทำหน้าที่บริหาร และดำเนินทิศทางการเมืองของพรรค ทว่า กลับกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่ยากจะสมาน
เมื่อหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปการเลือกหัวหน้าพรรคในเวลานั้น โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2530 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งเป็นการแข่งขันของ 2 กลุ่ม คือ
โดยผลประกฏว่าฝ่ายหลังสามารถกุมขัยชนะไปได้ ส่งผลให้ "พิชัย" สามารถก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค คนที่ 4 โดยมี พล.ต.สนั่น เป็นเลขาธิการพรรค คนที่ 11
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการเกิด "กลุ่ม 10 มกรา" นำโดย "เฉลิมพันธ์-วีระ" และมี "กลุ่มวาดะห์" ซึ่งนำโดย "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" และ "เด่น โต๊ะมีนา" เข้าร่วม
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ "กลุ่ม 10 มกรา" ถือกำเนิด อันเนื่องมาจากความไม่พอใจ ที่ "พิชัย" จะเสนอ "พิจิตต รัตตกุล" บุตรชาย เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ชื่อกระทรวงในเวลานี้ เพื่อให้มาแทน "ดำรง ลัทธพิพัฒน์" ซึ่งถึงแก่กรรม
ก่อนที่ "กลุ่ม 10 มกรา" และ "กลุ่มวาดะห์" จะพร้อมใจยกมือโหวตสวนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร และลาออกจากพรรคเวลาต่อมา ซึ่งเป็นเหตุให้ "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" นายกรัฐมนตรี เวลานั้น ต้องประกาศยุบสภา
แม้ล่าสุด กลุ่ม 21 สส.ประชาธิปัตย์ มีมติเอกฉันท์ไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย. โดยจะเสนอชื่อ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รักษาการหัวหน้าพรรค เข้ามารับบทผู้นำพรรคคนใหม่ ขณะที่เจ้าตัวขอใช้เวลาและจะมีคำตอบในวันที่ 9 ธ.ค. ว่าจะตัดสินใจอย่างไร
ส่วนเลือดใหม่ไฟแรง อย่าง "วทันยา บุนนาค" หรือ "มาดามเดียร์" ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ที่ประกาศชัด จะไม่เปลี่ยนคำพูดรวมถึงจุดยื่น และขอสู้ให้ถึงที่สุด กับการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่
ไล่เรียงเหตุการณ์ในอดีตจวบจนปัจจุบัน กับผลลัพธ์ว่าใครจะได้เป็นผู้นำ ปชป. คนที่ 9 ก็คงต้องมาร่วมลุ้นกันในวันที่ 9 ธ.ค.นี้