svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ส่องสเต็ปพ.ร.บ.กู้เงิน-เดินพลาด"หมื่นดิจิทัล"หลุดกระเป๋า

กลายเป็นความท้าทายของรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" หลังประกาศเดินหน้าจัดทำ พ.ร.บ.กู้เงิน จำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กับวิกฤตประเทศที่กำลังเผชิญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ที่จำเป็นต้องกระตุ้นให้ฟื้นคืนชีพกลับมา

"โครงการดิจิทัลวอลเล็ต" กำลังตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้า แถมคายไม่ออก ท่ามกลางสายตาจากทั้งฝ่ายค้าน วุฒิสภา นักวิชาการ หรือกระทั่งผู้มากประสบการณ์ทางการเมือง ต่างพร้อมเพรียงออกมาให้ความเห็น รวมถึงตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาล ต่อการออกกฎหมายกู้เงินเพื่อนำมาใช้กับโครงการนี้

เนื่องด้วยความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญและวินัยการเงินการคลัง แต่ทว่า เส้นทางรัฐบาลที่เลือกเดินยังต้องเผชิญกับแต่ละด่าน จนกว่าจะคลอดกฎหมายนี้ออกมาให้ทันตามกำหนดเวลาช่วงเดือน พ.ค. 2567 แต่สุดท้ายกฎหมายฉบับดังกล่าว จะส่งให้เศรษฐกิจ "ฟื้น หรือ ฟุบ" ยังเป็นเรื่องน่าติดตาม 

โดย "รศ.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ ว่า ในชั้นกฤษฎีกาคงไม่ได้มีอุปสรรคมากนัก เพราะว่ากรรมการกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาล ดังนั้น ส่วนไหนที่เห็นว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย คงจะมีการชี้แจงให้กับรัฐบาลได้ไปปรับแก้ หรืออาจจะมีคำแนะนำต่างๆ ให้กับรัฐบาล หรืออาจจะมีส่วนร่วมในการช่วยร่างกฎหมายให้กับรัฐบาลด้วย

รศ.ยุทธพร ยังได้ขยายความต่อถึงจุดน่าเป็นห่วงและต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่ขั้นตอนของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในส่วนนี้จะเริ่มมีความเสี่ยงได้ตลอด ที่จะมีการไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงชั้นของวุฒิสภา เพราะฉะนั้นถ้าเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาแล้ว ความเสี่ยงก็เริ่มจะเกิดขึ้นได้ตลอด

อย่างไรก็ตาม ส่วนการไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะเกิดขึ้นในการพิจารณาเสร็จสิ้นในวาระที่สาม ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเก้าหรือไม่นั้น ซึ่งการยื่นต่อศาลธรรมนูญในการพิจารณาได้ว่า กฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่อาจจะส่งผลต่อเรื่องของกฎหมายกู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต

สำหรับเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะโหวตให้มีความเสี่ยงหรือไม่ บางครั้งอาจจะต้องพึ่งเสียง สว. จากทั้งเสียงของฝั่ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็มีส่วน เพราะต้องอาศัยเสียงของฝั่งวุฒิสภาอย่างแน่นอน แต่อย่าลืมว่าพรรคร่วมรัฐบาลในส่วนของพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติ ก็คือพรรคที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับทั้ง พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น ถ้าสองพรรคนี้ไปในทิศทางเดียวกัน วุฒิสภาก็มีโอกาสที่จะไปในทิศทางเดียวกันด้วย

"ถ้า สว. ไม่ผ่าน ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้จะตกไป เพราะท้ายที่สุดก็ต้องวนกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหาก สส. มีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ สส. ก็สามารถเสนอยื่นขึ้นทูลเกล้าได้เช่นกัน แม้สว.จะไม่เห็นด้วย แต่ถ้า สส. ยืนยันก็ยังไปได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า ว่าจะสามารถมีคนไปยื่นได้หรือไม่ และจะทำให้การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาคล้ายๆกับการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในสมัยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่" 

 

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่ สส. ฝ่ายค้าน อย่างพรรคก้าวไกล จะเข้าชื่อกัน เพราะมีท่าทีค่อนข้างชัดว่าไม่เอาด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนนักร้องนอกสภาต้องมีขั้นตอนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ส่วนปัจจัยอื่นๆ อย่าง ป.ป.ช. ก็มีโอกาส ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา และให้มีการส่งเอกสารข้อมูลต่างๆทั้งหมด ของโครงการนี้ไปที่ ป.ป.ช. ด้วย และ ป.ปช. ก็มีอำนาจที่จะดำเนินการได้ด้วยในเรื่องของการสั่งยับยั้งหรือว่าจะเข้ามาตรวจสอบในเรื่องของการดำเนินการโครงการต่างๆได้