svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดวิสัยทัศน์ "ไตรรงค์" รรท.ผบช.ไซเบอร์ เข้มวินัย ลดภัยอาชญากรรมออนไลน์

เปิดวิสัยทัศน์ "ไตรรงค์ ผิวพรรณ" รรท.ผบช.ไซเบอร์ เน้นความประพฤติวินัยตำรวจในสังกัดเคร่งครัด เป็นที่พึ่งของประชาชน ลดภัยอาชญากรรมออนไลน์ พร้อมตั้ง Special Cyber Force ดึงหัวกะทิสนับสนุนคดีสำคัญ

1 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ไตรรงค์  ผิวพรรณ รรท.ผบช.สอท. ได้มอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้กับข้าราชการตำรวจระดับ ผกก. ขึ้นไป ในสังกัด บช.สอท. เมื่อวันที่ 27 พ.ย.67 ที่ผ่านมา โดยมีนโยบายสำคัญๆ  ดังนี้

  1. วิสัยทัศน์ “ตำรวจไซเบอร์พึ่งพาได้ ลดภัยอาชญากรรมออนไลน์ สร้างความอุ่นใจให้ประชาชน”
  2. การนำนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ  พันธุ์เพ็ชร  ผบ.ตร. ทั้ง 15 ข้อ ไปปฏิบัติ
  3.  ให้ ผบก. เป็น CEO พื้นที่ทั้งด้านสืบสวนสอบสวนและป้องกันปราบปราม
  4. ตั้งชุด Special Cyber Force ที่รวบรวมเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านสืบสวนสอบสวน และด้านเทคนิคเพื่อเป็นชุดสนับสนุนในการทำคดีสำคัญ
  5. กำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ลง 1 ต.ค.37 เรื่อง มาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจอย่างเคร่งครัด
  6. เร่งรัดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
  7. การบริหารคดี/Case ID ให้กับพนักงานสอบสวน
  8. ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อลดความหวาดกลัวของประชาชนจากอาชญากรรมออนไลน์

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวเพิ่มเติมถึงนโยบาย ตั้งชุด Special Cyber Force ว่า ตนให้แนวความคิดกับผู้บังคับการ สอท.แต่ละพื้นที่ว่า ในกองบังคับการซึ่งมีทั้ง 5 กองบังคับการรวมกับทีม ที่ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) ซึ่งกองบังคับการของเเต่ละท่านย่อมต้องมีบุคลากรที่มีฝีมือไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอบสวนสืบสวน การเดินการสะกดรอย การเฝ้าจุดหรือฝ่ายกฎหมาย

ซึ่งจะมีทีมพนักงานสอบสวน ทีมเทคนิคทีมไล่เส้นเงินธนาคาร เราก็จะขอให้ผู้บังคับการใน สอท.ให้เอาคนเก่ง มาตั้งเป็นทีมบูรณาการเพื่อช่วยทํางานในคดีสําคัญของเเต่ละกองบังคับการ ตั้งเป็นทีมขึ้นมา 1 ทีมเรียกว่าทีมบูรณาการหรือ "Special Cyber Force" ก็จะมาจากทั้งหมด 6 กอง ถ้ามีเคสใหญ่ๆ ก็มาช่วยสนับสนุนงานเป็นเหมือนดรีมทีมของตํารวจไซเบอร์ ซึ่งยูนิตไม่ควรเกิน 11-12 คน 

ยกตัวอย่างคดี เช่น คดีคอลเซนเตอร์ ซึ่งหากเราสืบสวนได้มีข้อมูลจํานวนมาก หรือคดีการหลอกลวงคดีการพนัน ที่เป็นเว็บไซต์ขนาดใหญ่มันต้องบูรณาการกัน เพราะว่าพื้นที่ในการกระทําผิดของคนกลุ่มนี้จะครอบคลุมไปหมด มีผู้เสียหายเป็นจํานวนมาก เราก็จะบูรณาการกัน ซึ่งเราต้องเสริมในทีมเทคนิค เพราะปัจจุบันนี้ ในการไหลของเส้นการเงิน มันจะไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี ที่ทาง บก.ตอท.จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้วก็ต้องส่งทีมเข้ามาไปสนับสนุนทุกหน่วยถ้ามีคดีสำคัญ 

พล.ต.ท.ไตรรงค์ บอกอีกว่า นอกจากนี้ ตนยังตั้งหน่วยสายตรวจไซเบอร์ ซึ่งปกติตํารวจมีหน้าที่การตรวจป้องกันอาชญากรรม แต่คดีเราเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ ก็ต้องตรวจทางไซเบอร์ ในแต่ละวันตนจะจัดเวรโดยคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ตํารวจที่มีความชํานาญ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางก็คือกรุงเทพมหานคร จัดเวรโดยผลัดกันเข้าเวร เพื่อตรวจสอบว่าในสังคมออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ต มีการทําผิดอะไรบ้าง เมื่อตรวจสอบพบก็ดําเนินการตรวจสอบขั้นต้น เพื่อให้ทราบถึงผู้เกี่ยวข้องถิ่นที่ แล้วรายงานให้ทราบว่าเป็นความผิดประเภทใด เราก็จะส่งต่อให้หน่วยที่รับผิดชอบทําการสืบสวนจับกุมต่อไป 

ตั้งแต่ตนให้แนวความคิดในการจัดทําสายตรวจไซเบอร์ คดีเเรกที่ทำ คือไปช่วยเหลือเด็กอายุ 10 ขวบ ถูกล่อลวงไปล่วงละเมิด กักขังอยู่บนเรือ เราก็ช่วยจนถูกปล่อยตัวกลับมา ซึ่งในส่วนการดำเนินคดีตอนนี้จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย อยู่ระหว่างขยายผลต่อ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เราถือว่าเป็นเรื่องที่สะเทือนขวัญ เป็นเรื่องที่เกิดกับเยาวชนอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น จึงอยากเตือนประชาชนว่า แค่มีสื่อลามกเด็กไว้ในครอบครองก็ถือว่าผิดกฎหมายแล้ว

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวด้วยว่า เรื่องของคดีก่อนหน้านี้ที่รับมาอยู่ในความรับผิดชอบของตํารวจไซเบอร์ จะต้องมีการขับเคลื่อนให้มีการออกสํานวนคดีให้ได้ คดีที่ออกเป็นเคสไอดีจะต้องนําไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยพนักงานสอบสวนมีปัญหาผู้บังคับบัญชาต้องลงไปช่วยแก้ไข หัวหน้าหน่วยตั้งแต่ระดับผู้กํากับการ ผู้บังคับการต้องลงไปดูว่าพนักงานสอบสวนทุกคนในสังกัดของท่านมีปริมาณงานในความรับผิดชอบอย่างไร มีความแตกต่างกันระหว่างปริมาณงานหรือไม่ 

เช่น คนที่รับมากที่สุดมี 300 คดีต่อคน แต่คนที่รับน้อยที่สุดรับ 1 คดี ทําไมปริมาณงานถึงต่างกันมาก ผู้บังคับบัญชาต้องลงไปตรวจสอบว่าปัญหาเกิดจากอะไร ถ้าปัญหาไม่ได้เกิดจากการที่น้องพนักงานสอบสวนเกียจคร้านหรือทําผิดระเบียบต้องลงไปแก้ เเละใช้อํานาจของผู้บังคับบัญชาในการปรับโอนคดี ทุกคนต้องมีปริมาณคดีที่เท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้ปริมาณงานลงที่คนใดคนหนึ่ง จะต้องไม่มีคนที่ไม่ได้ทำงานมาแฝง ทุกคนต้องมีเลขคดี ทำงานตามคําสั่ง ตร.โดยเคร่งครัด

ในส่วนข้อ 5 เรื่องวินัยความประพฤติตำรวจ ตนเน้นย้ำตามนโยบายของ ผบ.ตร.ว่าทําดีมีรางวัล ทําไม่ดีก็ต้องถูกลงโทษ โดยเฉพาะในกรณีที่ฝ่าฝืนวินัยร้ายแรงอย่างตามที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น ไปร่วมกับแก๊งกรรโชกทรัพย์ ข่มขู่คนตบทรัพย์ หรือที่เรียกกันว่าเป็นนักบินอยู่เขตสอท.ภาคใต้ไปจับในเขตภาคกลาง ภาคเหนือซึ่งไม่ได้เขตรับผิดชอบ และนําไปสู่การกระทําความผิด ข่มขู่กรรโชกทรัพย์อื่นๆ พวกนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นเด็ดขาดเราต้องดูแลเรื่องความประพฤติและวินัยให้ดี เรามีคําสั่งในการกํากับดูแลกันตามระดับชั้นอยู่แล้ว เรื่องนี้ตนจริงจังและเน้นย้ำ ต้องทําตามระเบียบของกฎหมาย 

"ตํารวจไซเบอร์จะไปยุ่งเว็บการพนันไม่ได้ อะไรที่ผิดกฎหมายแล้วตํารวจไปมีส่วนรับรู้ไปเป็นผู้ประกอบการ หรือมีส่วนในการไปร่วมกับเขาตบทรัพย์ ไปอุ้มเจ้าของเว็บมารีดเอาทรัพย์แทนที่จะจับดําเนินคดี อย่างที่มีปัญหาในอดีตต้องไม่เกิดขึ้น

แต่ถ้าหากเกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบตามลำดับชั้น ต้องมีการกํากับดูแลกันแล้วก็ดําเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่มีการปกป้องช่วยเหลือกันแน่นอน" พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุ


พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนคนทําดีต้องมีรางวัล ผบ.ตร.ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดตร.เราเน้นโครงการนี้ ซึ่งทางสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ได้มีการกําหนดอยู่แล้วว่าในการผลการปฏิบัติประจําเดือนจะต้องคัดเลือกบุคลากรที่มีความประพฤติดีมีผลงานดีเด่นขึ้นมาเชิดชู ให้รางวัลหรือเป็นผู้ทำคดีสําคัญ ต้องมีการให้รางวัล เรามีเงินกองทุนสืบสวนปราบปราม ในทุกคดีที่ตํารวจไซเบอร์ออกไปทําแล้วมีผลการจับกุมเข้าสู่หลักเกณฑ์การให้เงินรางวัลของกองทุนสอบสวนจะมีการให้รางวัล

"ตนจะขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิต่างๆ ที่ทํากับตํารวจเราไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิของกองทุนดีอีฯ ในการที่จะมาสนับสนุนงบประมาณในการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ตํารวจซื้อเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน ก็จะดําเนินการประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นขวัญกําลังใจให้กับข้าราชการตํารวจไซเบอร์ทุกคน" พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวทิ้งท้าย