20 กันยายน 2566 วานนี้ (19 ก.ย.) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา 11.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ( เวลาที่สหรัฐอเมริกาช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบกับ Mr. Larry Fink CEO กลุ่มบริษัท Black rock ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำในการบริหารการเงิน และการลงทุนของโลก เพื่อศึกษาแนวทางในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งในภาคการลงทุนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวกับ Clean Energy เพื่อขยายฐานการลงทุน และการผลิตในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจที่จะลงทุนใน Sustainability Linked Bond ที่จะออกโดยรัฐบาลไทย ซึ่งบริษัทฯ มีแนวโน้มในการลุงทุนในบริษัทในประเทศไทยเร็วๆ นี้
โดย Black rock เป็น บริษัทจัดการลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2023 9.43 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐโดยมีหลายๆ กองทุนใหญ่ๆ ของไทยเช่น ประกันสังคม และ กบข. มีการลงทุนผ่านการซื้อหน่วย Exchange Traded Fund (ETF) ของ Black Rock อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Black Rock เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญในการลงทุนด้านความยั่งยืน (Sustainability) โดยมีแผนที่จะมีการลงทุนในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนใน Sustainability Linked Bond ที่จะออกโดยรัฐบาลไทยในปีหน้า
Mr. Larry Fink กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)รวมถึงประเทศไทย เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงและจะมีการลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ผลจากการพบปะกันครั้งนี้จะนำไปสู่การลงทุนของ Black Rock ใน Sustainability Linked Bond และ การลงทุน ด้านการเงินในประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ต่อไป
จากนั้นเวลา 17.00 น. ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) ว่า
รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำ ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 ซึ่งถือเป็นการกล่าวถ้อยแถลงครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลยังคงเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกประเทศในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ได้เผชิญกับความท้าทายร่วมกันมา ถึงในช่วงครึ่งทางของวาระดังกล่าว และในทศวรรษนี้ สหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) พร้อมสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่ง สำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030” นายกรัฐมนตรีกล่าว พร้อมกล่าวต่อ
ตนเองมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้
1. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027
2. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจน หลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ.2027
3. ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ.2030
“ผมหวังว่า การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องดังกล่าว จะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป” นายกฯ กล่าว