18 กันยายน 2566 เป็นอีกหนึ่งวาระงานสำคัญของ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ต้องเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 19 - 24 กันยายน นี้ โดยมีรายงานว่า การประชุมเวทีนี้ นายกฯ ไทยเตรียมแสดงวิสัยทัศน์ "ด้านสิ่งแวดล้อม"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดย นายกฯ จะเน้นย้ำในบทบาทของไทย ด้านความร่วมมือเพื่อต่อสู้ กับความท้าทายระหว่างประเทศ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ ที่ "นายกฯ เศรษฐา" หยิบยกมาแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ด้วย คือ "โครงการ โคก หนอง นา โมเดล"
ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ระหว่างที่ "นายกฯ เศรษฐา" ตรวจราชการ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
"นายกฯ เศรษฐา" ได้เปรยเหมือนกันว่า "ในการเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ นั้น
ถ้ามีโอกาสจะนำ "โมเดลโคกหนองนา" ไปเสนอเวทียูเอ็น ถึงภาพรวมของโครงการ เพราะแน่นอนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องความน่าภาคภูมิใจของคนไทย ที่ต้องนำไปเสนอ"
"โคก หนอง นา โมเดล" เป็นอย่างไร
"โคก หนอง นา โมเดล” ถือเป็นแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยเป็นการทำเกษตรในพื้นที่จำกัด กักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดินและใต้ดิน แต่สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างเห็นผล
“โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการจัดสรรที่ดิน สำหรับบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่ทำการเกษตร เปลี่ยนแนวคิดสู่การทำเกษตรอินทรีย์ แบบไม่ใช้สารเคมี และสร้างความเข้าใจ ในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง
การน้อมนำ ศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต จึงไม่เพียงทำให้คนในชุมชน สามารถกลับพึ่งพาตนเอง มีของกิน ของใช้ และที่อยู่อาศัยเท่านั้น
หากแต่ยังทำให้สภาพแวดล้อม ทั้งดินและน้ำดีขึ้น มีอากาศที่บริสุทธิ์ โดยทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ ทั้งพื้นที่สังคมเมือง และสังคมชนบท เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มี โครงการนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงอำเภอนำร่อง : Change Agents for Strategic Transformation Program (CAST) เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการสร้างต้นแบบของทีมคนทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่มีจิตอาสา มีความเสียสละ ประกอบด้วย ภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่อำเภออย่างยั่งยืน
โดยมี “นายอำเภอ” ในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ดึงศักยภาพ และความมุ่งมั่นของทีมงานออกมาอย่างเต็มที่ ร่วมกันทำงานเป็นทีม ช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น
ซึ่งเป็นแนวทาง และวิธีการที่จะนำการเปลี่ยนแปลง ในระดับอำเภอได้อย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สุข แก่ประชาราษฎร อย่างยั่งยืนตลอดไป
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอำเภอนำร่องคัดเลือกจาก 878 อำเภอ ให้เป็นตัวแทน 76 จังหวัด ต่อมาคัดเลือกเป็นตัวแทน 18 กลุ่มจังหวัด และมาคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 10 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา, อ.เมือง จ.ขอนแก่น, อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี, อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์, อ.เทพา จ.สงขลา, อ.เมือง จ.ยะลา, อ.เมือง จ.พิษณุโลก, อ.วังเจ้า จ.ตาก, อ.หันคา จ.ชัยนาท และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
โครงการนี้ มี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อน อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยทั้ง 10 อำเภอ มีผลงานที่โดดเด่นในเชิงประจักษ์ ก่อเกิดประโยชน์ ประชาชนมีพื้นที่ทำกิน และพื้นที่ใช้ประโยชน์ ทำให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ มีอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีความสุขเพิ่มขึ้น และมีหนี้ลดลง
การที่ นายกฯเศรษฐา เตรียมนำ โครงการโคก หนอง นา โมเดล แสดงวิสัยทัศน์บนเวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยมีผู้นำจากหลากหลายประเทศ เข้าร่วมประชุม จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้แชร์ความคิด วิถีเกษตรของไทย ในรูปแบบของการหันมาพึ่งพาตนเอง เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นทางรอด เสริมสร้างความรู้ให้ประชากรของโลก ได้มีอาชีพ เพิ่มรายได้ อย่างมีความสุข ที่สำคัญเป็นการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน