13 กันยายน 2566 คอการเมืองต่างจับตา ภายหลังการแถลงนโยบาย "รัฐบาลเศรษฐา" ต่อที่ประชุมรัฐสภา เสร็จสิ้น กำหนดการต่อไปคือ การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ในวันนี้(13 กันยายน2566 ) เวลา 09.30 น. ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
โฟกัส การประชุม ครม. นัดปฐมฤกษ์ ภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่ "นายเศรษฐา ทวีสิน" คือบรรดาคำมั่นสัญญาทั้งหลาย ที่เคยให้ไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้ง หรือแม้แต่ การบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลว่า เมื่อเป็นรัฐบาลจะดำเนินงานตามนโยบายอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน วีซ่าฟรี และอีกหลาย ๆ เรื่อง
"การประชุมครม.นัดแรก วันที่ 13 กันยายน จะมีหลายประเด็น ไม่ว่าเป็นเรื่องการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน วีซ่าฟรี และอีกหลายๆเรื่อง "
นายเศรษฐา นายกฯให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566
นี่คือคำให้สัมภาษ์ของ นายเศรษฐา ที่เปิดหัวเชื้อ วาระต่าง ๆ ที่จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมการ ครม. นัดแรก ชนิดให้พี่น้องประชาชนรอฟังข่าวดี แต่จะเป็นข่าวดีชนิดเห็นผลทันทีหรือไม่ ลองมาไล่เลียงกันดู
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ลดค่าไฟ พลังงานทันที ?
จับท่าทีของ "นายกฯเศรษฐา" และพรรคเพื่อไทย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หรือแม้แต่การให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 กันยายน เห็นได้ว่า มีการเน้นย้ำ นโยบายการลดค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม มาโดยตลอด
รวมถึงการได้รับเสียงสนับสนุน จากพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะ รมว.พลังงาน ฉะนั้น มติครม. ในวันที่ 13 กันยายน นี้ ในเรื่องลดค่าฟ้า ค่าน้ำมัน แก๊สหุงต้ม จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่ก็มีคำถาม จะมาพร้อมแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างการคิดคำนวณค่าพลังงานด้วยหรือไม่? หรือเป็นแค่ นโยบายฉาบฉวย เอาใจประชาชนในระยะสั้นแล้วหายไป
พักหนี้เกษตรกรเด่นสุด
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย วางแผนการทำงาน อย่างเป็นระบบ เพราะในการแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวานนี้ (12 กันยายน) นายเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ประกาศไว้ในที่ประชุมสภา เช่นกัน ว่า “เรื่องการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ ในการประชุม ครม. ครั้งแรก จะมีเรื่องการพักหนี้ เข้าสู่ที่ประชุม เป็นเรื่องเรื่องเร่งด่วน จะทำให้ได้ในไตรมาสสี่ปีนี้ โดยเป็นการพักหนี้ทั้งต้นและดอก และยังรวมถึงแผนสร้างรายได้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างปลูก และผลิตตามที่ตลาดโลกต้องการ"
สอดรับกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวย้ำว่า “เราเตรียมการล่วงหน้าไปมากแล้ว โดยเชื่อว่าภายในไตรมาสนี้ จะเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องการพักหนี้เกษตรได้" นั่นหมายความว่า วาระพักหนี้เกษตรกร ค่อนข้างชัวร์สุด ที่จะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ผ่านการประชุม ครม. 13 กันยายน นี้
ดันฟรีวีซ่า เสนอเปลี่ยนชื่อสนามบินภูเก็ต
อีกนโยบายที่มีความสำคัญ ต่อการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ คือนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยที่ประชุม ครม. วันนี้ (13 กันยายน) จะมีการเสนอแนวทาง อำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า จัดทำ Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ ส่งเสริมจัดงานเทศกาลระดับโลก ยกระดับประเทศไทย เป็นสถานที่สำหรับจัดงานแสดงต่าง ๆ ปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ปรับปรุงสนามบิน เพิ่มเที่ยวบินดึงนักท่องเที่ยว
โดยเฉพาะการปรับปรุงสนามบินนั้น มีการหารือกันหลังห้องประชุมสภา โดย"นายเศรษฐา" มีแนวคิดที่จะเสนอให้เปลี่ยนชื่อ "ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต" เป็น "ท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน" เพื่อเป็นแรงจูงใจ ไม่ใช่มีเพียงภูเก็ต แต่หากมีจังหวัดในพื้นที่รอบท้องทะเลอันดันมันมากมาย จึงสามารถมาท่องเที่ยวได้ด้วยการนำเครื่องลงจอดท่าอากาศยานนานาชาติอันดามันหวังสร้างความเข้าใจใหม่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สนามบินภูเก็ต
จับตา ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
นโยบายที่ดูจะเป็น พระเอก ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ออกตัวแรง คาดหวังสูง แต่ผลสำเร็จแค่ไหน นั่นคือ นโยบายจ่าย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งแม้แต่ในการแถลงนโยบายรัฐบาล ต่อที่ประชุมรัฐสภา กำหนดไว้เป็นวาระเร่งด่วน บันทึกไว้หน้าแรก ๆ เสียด้วยซ้ำ
นี่จึงเป็นนโยบายท้าทายรัฐบาลเศรษฐามากที่สุด และนำไปสู่ประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายซักถาม ตลอดสองวัน ทั้งที่มาของงบประมาณ ทั้งระบบบล็อกเชน การสร้างแอปพลิเคชั่น ให้เกิดความรัดกุมปลอดภัยแค่ไหน ยังรวมไปถึงการตั้งข้อสังเกต โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะมีส่วนเอื้อประโยชน์ไปถึง หน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนใดหรือไม่ ฉะนั้นแล้ว ในการประชุม ครม.นัดแรก จะมีการหารือออกมาในแนวทางใด หรือเป็นแค่วาระรับหลักการ
แก้ไข รธน. โดยมี สสร.ยังไม่ชัด
หากจำกันได้ พรรคเพื่อไทยแถลงในช่วงจับขั้วพรรคการเมือง ในการจัดตั้งรัฐบาล โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รมว.สาธารณสุข ได้แถลงผ่านสื่อมวลชน รวมถึงปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ ด้วยข้อความว่า “ทันทีที่มีการประชุมครม.นัดแรก จะมีการเสนอวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ที่ประชุมครม.เป็นวาระแรก"
ขณะที่ นโยบายรัฐบาลที่เพิ่งแถลงผ่านที่ประชุมรัฐสภา เสร็จไปหมาด ๆ ก็ถูกฝ่ายค้านโจมตีว่า ไม่มีการนำเสนอไว้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับการตั้ง สสร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น หากการประชุม ครม.นัดแรก ไม่มีเรื่องนี้เข้าหารือ หรือไม่มีโมเดล กรอบระยะเวลาการแก้ไข รธน.ที่ชัดเจน เชื่อได้ว่า ฝ่ายการเมือง เตรียมดิสเครดิตรัฐบาลเศรษฐา แน่นอน
แว่วมาว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ยกร่างข้อเสนอแก้ไขรธน. โดยกำหนดให้มีคณะทำงานศึกษาการแก้ไขรธน. มีประเด็นใดบ้าง เข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อขอมติในขั้นรับหลักการ
สส.สอบตก แห่จองตำแหน่งเทกระโถน
นอกเหนือจาก นโยบายเร่งด่วน ที่ต้องลุ้นกันเหนื่อย จะออกหัวออกก้อย อีกวาระที่สังคมจับคือ การมอบหมายแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง 6 คน กำกับดูแลกระทรวง ทบวง กรม ตามโควตาที่พรรคการเมืองได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี
แต่ความน่าสนใจ กับอยู่ที่ บรรดารองนายกฯ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่มีทั้ง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ , ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ , สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ และ ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.สำนักนายกฯ ใครจะได้รับมอบหมาย กำกับดูแลหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ใดบ้าง?
โดยเฉพาะงานทางด้านกฎหมาย เช่น หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกฯ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ ถ้าย้อนดูประวัติการทำงาน เห็นจะมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เคยดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์
แต่การแบ่งงานรอบนี้ เป็นที่สังเกต เพราะไม่มีมือกฎหมายเด่นชัด มาเป็นรองนายกฯ
ฉะนั้น นายกฯ จะลงนามแบ่งงานด้านกฎหมาย ให้ใครดูแลเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็น รมต.สำนักนายกฯ หนึ่งเดียวในทำเนียบ ฯ
ก็คงหนีไม่พ้น จะต้องได้การมอบหมายหน้าที่ กำกับดูแลงานการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ทั้ง สำนักปลัดสำนักนายกฯ , กรมประชาสัมพันธ์ , อสมท. หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาทีเดียว
คราวนี้ มาที่ตำแหน่งประจำ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง , ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี , ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี , ที่ปรึกษารัฐมนตรี , ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี , เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เเละเลขานุการ รมว. , ผู้ช่วยเลขานุการ รมว. , ผู้ช่วยรัฐมนตรี
ตำแหน่งเหล่านี้สำคัญไฉน? ตอบเลยว่า เป็นตำแหน่งอันเป็นที่ปรารถนา ของบรรดานักการเมือง สมาชิกในพรรคการเมือง ที่พลาดหวังจากเก้าอี้ รมต. รวมไปถึงเป็น สส.สอบตก
ต่างต้องการเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านี้ เพราะไม่เพียง เป็นตำแหน่งที่มีอัตราเงินเดือน ยังได้รับสิทธิ ทั้งสายสะพาย พิมพ์นามบัตร ไปบอกกล่าวพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ได้
แว่วมาว่า นอกจาก นายเศรษฐา ในฐานะนายกฯ เห็นชอบแต่งตั้ง "หมอชัย" นายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ ให้ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเปิดตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล ตาม โควตา พรรคร่วมรัฐบาล นั่นคือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ
ในขณะที่ ตำแหน่งอื่น ๆ ปรากฏว่า มีการจัดคนลงตาม โควตา ไว้แล้วเช่นกัน โดยมีการเสนอชื่อบรรดาอดีต สส. และสส. สอบตก ที่อยู่ในกลุ่ม สส.รายภาค ส่งให้ "นายใหญ่" จันทร์ส่องหล้า พิจารณาก่อนส่งบัญรายชื่อใส่มือ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง
เรียกได้ว่างานนี้ “นายกฯ เศรษฐา” แทบไม่มีโอกาส สแกนรายชื่อมากนัก ซ้ำร้ายยังส่งผลกระทบโควตาที่ ตนเองเตรียมเลือกมาทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเสมือน มันสมองของนายกฯ ก็อาจได้คนที่ไม่ใช่กลุ่มตนเอง
เพราะถูกอำนาจเหนือ หรือผู้มีบารมีนอกรัฐบาล ล็อกสเป็ค ส่งบุคคล มานั่งเก้าอี้ไว้ให้เรียบร้อยหมดแล้ว
อาทิ นายสมคิด เชื้อคง อดีต สส.อุบลราชธานี เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง , นายจักรพงษ์ ตั้งสุทธิธรรม อดีต สส.เชียงใหม่ เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายสังคม , นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ อดีตผู้สมัคร สส.ฉะเชิงเทรา เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ
ขณะที่ในส่วนของเลขานุการรัฐมนตรี นั้น นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ อดีต สส.หนองคาย มีชื่อเป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ เพราะมีความชำนาญ ในเรื่องเศรษฐกิจการค้า จะเข้ามาช่วยงาน นายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.พาณิชย์
และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย มีชื่อเป็นเลขานุการ รมว.คลัง เพราะมีส่วนในการจัดทำนโยบายของพรรคในการเลือกตั้ง มีความรู้ ความสามารถด้านการเงิน จะไปเสริมงานให้กับ นายเศรษฐา ในฐานะ รมว.คลัง
ประเด็นนี้ สอดคล้องกับกระแสข่าว การแต่งตั้งทีมที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ของ นายสุทิน คลังแสง ที่มีการปล่อยเอกสารแต่งตั้งคนในตระกูลชินวัตร ไม่ว่าเป็น นายพายัพ ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ดูแลภาคอีสาน น้องชายอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหม , นายพอพงษ์ ชินวัตร บุตรชายนายพายัพ เป็นเลขานุการประจำตัว รมว.กลาโหม
แม้นายสุทิน จะออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ซึ่งก็ไม่น่าจะผิดอะไร เพราะเอกสารที่เผยแพร่ออกมานั้น ยังไม่มีการลงนาม
แต่มีคำถามว่า เมื่อ นายสุทิน เข้าทำหน้าที่ รมว.กลาโหม อย่างเป็นทางการ หลังแถลงนโยบาย จะมีการลงนามคำสั่งแต่งตั้งนั้นหรือไม่?
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ในส่วนโควตาพรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย , น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย , นายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ช่วย รมว.มหาดไทย , นายสมเจตน์ ลิมปะพันธ์ ที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย ,
นายวัฒนา ช่างเหลา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของนายทรงศักดิ์ ทองศรี , นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ , นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ , น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ขณะที่ในส่วนของ พรรคชาติไทยพัฒนา นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เป็นเลขานุการ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์