11 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา นายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่า นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย มีการหาเสียงในนโยบายดังกล่าวหลายครั้ง รวมถึงยังมีรัฐมนตรีว่าการ และช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมถึง 3 คน และยังมีนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่กำกับงบประมาณ
โดยหากรัฐบาลตั้งใจจะทำนโยบายดังกล่าวจริง จะต้องบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล แต่กลับไม่มีการบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบาย โดยระบุเพียงว่าจะลงทุนทางถนน รถไฟ ราง และทางอากาศ ไม่มีทิศทางระบุที่ชัดเจน สวนทางกับการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงไว้ 20 บาทตลอดสาย
โดยพรรคเพื่อไทย ยืนยันผ่านเว็บไซต์ของพรรคว่า จะเร่งเจรจากับภาคส่วนต่าง ๆ ให้เอกชนลดราคา เพื่อให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ 20 บาทตลอดสาย ภายใน 3 เดือน ซึ่งเชื่อว่าแม้บริษัทจะยอม แต่ผู้ถือหุ้นก็ไม่ยินยอม และไม่เชื่อด้วยว่ารัฐบาลจะสามารถเจรจาได้สำเร็จภายใน 3 เดือน ยกเว้นจะใช้เงินอุดหนุน
นายสุรเชษฐ์ ยังมองว่า "นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ที่พรรคเพื่อไทย ตั้งใจทำนั้น จะต้องเป็น 20 บาทตลอดเส้นทาง เพราะรถไฟฟ้าของไทยแบ่งสายหลายสี และสามารถข้ามสายได้ รวมถึงตั๋วร่วม 20 บาท หรือค่าโดยสารร่วม ที่ยังไม่ชัดเจน เพราะที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น คือ ค่าโดยสารร่วม 20 บาท ตลอดสาย และยังจะต้องอาศัยร่างพระราชบัญญัติตั๋วร่วม ที่จะเป็นเครื่องมือจัดการเงินค่าใช้บริการ
ซึ่งขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้มีการพิจารณาแต่อย่างใด จึงมั่นใจว่า รัฐบาลจะไม่สามารถทำได้ภายใน 3 เดือนแน่นอน และในอดีตปี 2554 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจากพรรคเพื่อไทย ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมายอมรับแล้วว่า นโยบายดังกล่าวล้มเหลว ไม่สามารถทำได้ เพราะจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นเอกชน และอาจเกิดการฟ้องร้องกันได้
นายสุรเชษฐ์ ยังไม่สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะหากรัฐบาลจะดำเนินการ จะต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมาก เพื่ออุดหนุนชนชั้นกลางระดับบน ซึ่งมีมากกว่าประชาชนที่ใช้รถโดยสารประจำทางมาก และรัฐบาลควรจะอุดหนุนผู้ใช้รถโดยสารประจำทางก่อน เพราะหากรัฐบาลจะอุดหนุนเงินค่ารถไฟฟ้า ประชาชนที่จะได้ประโยชน์ คือ ประชาชนที่อาศัยบนคอนโดรอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้า
และยังมีปัญหาการเดินทางถึงสถานีรถไฟฟ้าที่ยังยากลำบาก ต่อให้รัฐบาลอุดหนุนเงินมาก ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนมาใช้บริการเยอะ เพราะกว่าที่ประชาชนจะเดินทางถึงสถานียังมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้รถไฟฟ้า ดังนั้น รัฐบาลจึงควรทบทวนให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย มากกว่าเส้นเลือดใหญ่