ประชาชนมอง "ก้าวไกล" พลาดในการจัดตั้งรัฐบาล ตรงไหน? "นิด้าโพล" จัดมาให้แล้ว
30 กรกฎาคม 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความผิดพลาด ของพรรคก้าวไกล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง
เกี่ยวกับ “ข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้” การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน ต่อข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ พบว่า
- ร้อยละ 42.98 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย เพื่อให้ได้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น
- ร้อยละ 30.46 ระบุว่า พรรคก้าวไกล ไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ ทั้งนั้น
- ร้อยละ 27.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสู้เกมการเมืองในสภาไม่ได้
- ร้อยละ 11.68 ระบุว่า พรรคก้าวไกลทำตัวปิดกั้นตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยมีพันธมิตรทางการเมือง
- ร้อยละ 10.23 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นจริงทางการเมืองแบบไทยๆ
- ร้อยละ 9.54 ระบุว่า พรรคก้าวไกลประมาทในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์)
- ร้อยละ 7.94 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสร้างศัตรูทางการเมืองไว้มากในช่วงที่ผ่านมา
- ร้อยละ 7.86 ระบุว่า ปัญหาจากพฤติกรรมของแฟนคลับ พรรคก้าวไกลทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนในรัฐสภา
- ร้อยละ 7.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลฟังแฟนคลับของตนเองมากเกินไป
- ร้อยละ 6.11 ระบุว่า พรรคก้าวไกลหลงไปกับตัวเลข 14 ล้านเสียง และ 151 สส. มากเกินไป
- ร้อยละ 5.88 ระบุว่า กุนซือ นักวิชาการของพรรคก้าวไกล ที่อยู่นอกพรรคฯ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด
- ร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการ ชุมนุมทางการเมือง หากพรรคก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน พบว่า
- ร้อยละ 35.19 ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่แต่จะสามารถควบคุมได้
- ร้อยละ 24.81 ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยและสามารถควบคุมได้
- ร้อยละ 23.66 ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่และไม่สามารถควบคุมได้
- ร้อยละ 11.99 ระบุว่า จะไม่มีการชุมนุมใด ๆ
- ร้อยละ 2.90 ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยแต่จะไม่สามารถควบคุมได้
- ร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชน ถึงความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีลักษณะบุคลากร และวิธีการดำเนินการทางการเมืองคล้ายกับพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น แต่มีความประนีประนอมมากกว่า พบว่า ตัวอย่าง
- ร้อยละ 35.88 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้
- ร้อยละ 33.89 ระบุว่า เป็นไปได้มาก
- ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย
- ร้อยละ 9.62 ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้
- ร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.01 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.56 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป