18 กรกฎาคม 2566 "นายชาดา ไทยเศรษฐ์" ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวยืนยันถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ว่า พรรคภูมิใจไทย จะไม่มีการเสนอชื่อ "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคฯ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ชิงกับ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ทั้งนี้ เพราะพรรคภูมิใจไทย เป็นเสียงข้างน้อย จึงต้องให้สิทธิ์พรรคการเมือง ลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 ก่อน และหลังจากนี้ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมของพรรค รวมถึงการตัดสินใจของหัวหน้าพรรค ด้วย
ส่วนจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ต่อการประชุมรัฐสภา ที่จะพิจารณาชื่อนายพิธาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 นั้น จะต้องรอผลการหารือของที่ประชุมพรรคภูมิใจไทยก่อน ซึ่งเย็นวันนี้ (18 ก.ค.) จะมีการประชุมร่วมกัน และผลการลงมติให้กับนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคภูมิใจไทย ก็ไม่น่าเปลี่ยนแปลง พร้อมย้ำว่ากรณีที่พรรคก้าวไกล ได้คะแนนมากเป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 นั้น ไม่ใช่การชนะขาด หรือผูกขาดการเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เพียงพรรคการเมืองเดียว แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่นักการเมืองให้เกียรติพรรคการเมืองลำดับที่ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งกฎหมายก็ไม่ได้เขียนบังคับไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าหากพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลด้วยนั้น แต่หากมีนโยบาย มาตรา 112 มายุ่งเกี่ยวด้วย ตนไม่สนับสนุน ซึ่งการมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลด้วย ก็หมายความว่า ยังมีนโยบาย มาตรา 112 อยู่ แต่การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้น ก็ยังจะต้องฟังความเห็นของพรรคภูมิใจไทยก่อน ว่าจะมีแนวทางอย่างไร ซึ่งตนเองไม่สามารถตัดสินได้ และย้ำว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับพรรครัฐบาลเสียงข้างน้อย
ส่วนกรณีที่มีพรรคการเมืองใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลพยายามรวบรวมเสียงจากฝั่งรัฐบาลเก่าเพื่อสนับสนุนนายพิธานั้น นายชาดา ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย เคยให้โอกาสพรรคก้าวไกลแล้ว แต่พรรคก้าวไกลไม่รับ และไม่ยอมถอยการดำเนินนโยบาย มาตรา 112 ซึ่งหากพรรคก้าวไกลยอมถอย พรรคภูมิใจไทย ก็พร้อมสนับสนุนให้นายพิธา เป็นนายกฯ โดยที่พรรคภูมิใจไทย จะไม่ร่วมรัฐบาลด้วย แต่พรรคก้าวไกล ยังคงเดินหน้านโยบายดังกล่าวอยู่ ดังนั้น ข้อเสนอพรรคภูมิใจไทยก็ถือว่า จบไปแล้ว และโอกาสไม่ได้มีมาบ่อย ๆ
นายชาดา ยังชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตต่อการถือครองหุ้นบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อกิจการคล้ายกับการประกอบธุรกิจสื่อมวลชน จะทำให้ซ้ำรอยนายพิธาด้วยหรือไม่ว่า เรื่องนี้คนละกรณีกัน และคนเป็นละเรื่อง คนละประเทศ ไม่สามารถนำมาผูกโยงกันได้
สำหรับกรณีที่มีสังคมออนไลน์กระหน่ำทัวร์ลงหลังการอภิปรายเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ตนเองไม่ได้ให้ความสนใจอยู่แล้ว ซึ่งตนเองไม่ได้ท้าทาย แต่ไม่ชอบพฤติกรรมป่าเถื่อน ด่าทอผู้ที่ไม่เห็นด้วย ข่มขู่ใช้ความรุนแรง ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มการเมือง แต่เป็นพฤติกรรมของอันธพาล ที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรปฏิบัติในยุคปัจจุบัน