21 มิถุนายน 2566 จากแรงกระเพื่อมของสังคมต่อความแคลงใจที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้ออกหนังสือเชิญรัฐมนตรีอาเซียน ร่วมถกปัญหาเมียนมา เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. ที่ผ่านมา
โดยนายดอน ได้ออกมาชี้แจง วานนี้(20 มิ.ย.) ว่า เป็นการประชุมนอกกรอบอาเซียน ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 และการหารือครั้งนี้ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย แต่ทุกคนมองข้าม แล้วมองว่าต้องทำตามแนวทางอาเซียนอย่างเดียว พร้อมย้อนถาม “รอได้หรือ”
“กรุงเทพธุรกิจ” ในเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานถึงเหตุผลของการประชุมนอกกรอบอาเซียนดังกล่าวว่า แหล่งข่าวนักการทูตและกองทัพ เปิดเผย สหรัฐกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม รอบนี้พุ่งเป้าไปที่ธนาคารของรัฐ 2 แห่ง ชนวนไทยต้องรีบหารือเพื่อนบ้านอาเซียนและประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในเมียนมา
ตามที่มีรายงานข่าวอ้างแหล่งข่าวนักการทูตรายหนึ่งว่า สหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมารอบใหม่พุ่งเป้าไปที่ธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา (Myanmar Foreign Trade Bank) และธนาคารลงทุนและพาณิชย์เมียนมา (Myanmar Investment and Commercial Bank) เพื่อจำกัดการเข้าถึงการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลลดความสามารถในการปราบปรามประชาชนของตนเองและทำสงครามภายในประเทศได้
ขณะที่แหล่งข่าวจากกองทัพไทย เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การคว่ำบาตรธนาคารเมียนมา ทั้ง 2 แห่งจะมีขึ้นในวันที่ 21-22 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะกระทบการค้าขายและการลงทุนของไทยปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท และสมาชิกอาเซียนปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ที่ส่งไปยังเมียนมา ได้แก่
1. เม็ดพลาสติก
2. โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์โทรศัพท์
3. น้ำมันเชื้อเพลิง (โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล)
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ธนาคาร 2 แห่งของเมียนมาที่คาดว่าจะอยู่ในแบล็คลิสต์ของสหรัฐ ได้แก่ Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) เป็นธนาคารที่เน้นให้บริการทางการเงินด้านการค้าระหว่างประเทศด้วย เครือข่าย Correspondent Bank กว่า 263 ธนาคาร ใน 54 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นธนาคารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการเลือก เปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศ
ส่วน Myanma Investment and Commercial Bank (MICB) มีขนาดเล็กกว่า MEB และ MFTB อีกทั้งยังให้บริการที่ คล้ายคลึงกับทั้ง 2 ธนาคารไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศ แต่จุดเด่นของ MICB คือ การเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นหลัก เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมียนมา
ทั้งนี้ ห้วงเวลาการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐต่อธนาคารเมียนมา สอดรับกับการที่กระทรวงการต่างประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดหารืออย่างไม่เป็นทางการ กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในเมียนมา เมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการของไทยนอกกรอบอาเซียน ที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ยืนยันในวันที่ 20 มิ.ย. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า "การหารือครั้งนี้ เราทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย แต่ทุกคนมองข้ามแล้วมองว่าต้องทำตามแนวทางอาเซียนอย่างเดียว"
นายดอน กล่าวว่า แนวทางอาเซียน ประเทศไทยและประเทศสมาชิกต้องทำตามอยู่แล้ว และที่รีบหารือเพราะประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมา กว่า 2,000 กิโลเมตร ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่น ๆ ไม่ได้มีชายแดนที่ติดยาวแบบไทยจึงไม่ได้รับความเดือดร้อน ไม่รู้สึกว่าต้องรีบหาทางออกเรื่องเมียนมา ที่เป็นปัญหายืดเยื้อแต่เรื่องนี้ส่งผลถึงประเทศไทย คนไทย การค้าชายแดน นักธุรกิจ และปัญหากลุ่มสแกมเมอร์ในเมียนมา ที่หลอกลวงคนจากหลายประเทศและคนไทย ข้ามไปทำงานผิดกฎหมาย รวมถึงปัญหาค้ายาเสพติด ของผิดกฎหมาย จึงอยากให้ทุกคนมองประเด็นเหล่านี้ด้วยว่า ฝ่ายไทยพยายามหาทุกวิถีทาง ดำเนินการโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศไทย
ส่วนผลการหารือ นายดอนระบุเพียงว่า
“ได้มีการตกลงกันว่า จะไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระต่อสาธารณชน แต่ขอให้รับรู้ว่าเป็นประโยชน์และอยากให้เราจัดอีก”
การจัดประชุมอย่างเร่งด่วนและไม่แถลงผลการประชุมอย่างเป็นทางการของไทยจนน่าผิดสังเกต ชวนให้สังคมสงสัยถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ไทยต้องเป็นเจ้าภาพหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียประธานอาเซียน รวมทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์
แหล่งข่าวกล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ด้วยว่า เป็นเพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยนั่นเอง กระทรวงการต่างประเทศ จึงเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียนมาร่วมประชุมหารือว่าจะจัดการอย่างไร เพียงแต่ไม่สามารถบอกกล่าวกับสาธารณะได้