svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มือกม.มหาชน ฟันธง "พิธา" ไม่พ้นผิด หลังสารภาพ"โอนหุ้นสื่อไอทีวี" ให้ทายาท

"ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม" นักกฎหมายมหาชน กางตำราสอนกฎหมาย "พิธา" สารภาพ"โอนหุ้นสื่อ"ให้ทายาท ชี้แม้โอนไปกี่ทอด ย่อมไม่พ้นผิด เพราะทางกฎหมาย เป็นการทำ"นิติกรรมอำพราง"

6 มิถุนายน  2566 ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ "ดร.ณัฎฐ์"  นักกฎหมายมหาชน ให้ความเห็นทางวิชาการต่อกรณี "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล  และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความสารภาพว่า ได้ทำการ"โอนหุ้นสื่อไอทีวี"ให้กับทายาทเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า ประเด็นการโอนหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงในการตรวจสอบโดยเฉพาะการโอนหุ้นของ"นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ว่าที่ ส.ส.และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมายเพื่อสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเพื่อเตรียมตัวในการต่อสู้คดีซุกหุ้น ไม่ว่าจะโอนให้แก่ทายาทคนอื่นหรือจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอก ในทางกฎหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์

"ให้พี่น้องประชาชนจับไต๋ในเอกสารการโอน โดยระบุว่า เป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก เพื่อสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเพื่อใช้ในการหักล้างข้อกล่าวหาเพื่อให้พ้นผิด ขัดแย้งกับเอกสารใบหุ้นที่ระบุชื่อว่า ถือครองในนามส่วนตัว"

หากคดีในชั้น "กกต."นายพิธา จะหยิบประเด็นเอกสารการโอนหุ้นอีกทอดหนึ่งขึ้นมาเป็นการต่อสู้ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ ใช้บังคับระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน ซึ่งเอกสารเอกชน สามารถเขียนอย่างไรก็ได้ แตกต่างจากเอกสาร บอจ.6 ที่ปรากฎรายการถือครองหุ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

 

"แม้โอนไปกี่ทอด ย่อมไม่พ้นผิด เพราะในทางกฎหมาย เป็นการทำนิติกรรมอำพราง เพื่อสร้างพยานหลักฐานขึ้นมา"

"นักกฎหมายมหาชน"รายนี้ กล่าวต่อไปว่า  หากคดีขึ้นสู่ชั้น กกต.และชั้นศาลรัฐธรรมนูญ การโอนหุ้นกี่ทอดก็ตาม ไม่สามารถให้พ้นผิด เปรียบดังการขว้างงูไม่พ้นคอ วิธีการเทคนิคทางกฎหมายโอนหุ้นให้แก่ทายาทหรือบุคคลภายนอกเพื่อหลีกเลี่ยงตรวจสอบและเพื่อให้ตนพ้นผิด พยานเอกสารที่จัดทำขึ้นมา มีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้ เพราะหากถือครองในฐานะผู้จัดการมรดกจริง ระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ผิดวิสัยผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาท หากไม่ถูกจับได้ว่า ซุกหุ้นสื่อ แล้วคุณจะโอนเพื่ออะไร"

ส่วนคำถามที่ว่า การถือครองหุ้นที่"นายพิธา" ยกเคส คำสั่งศาลฎีกา ลข.42/2566 ระหว่าง นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ปชป.เขต 2 นครนายก ผู้ร้อง ผู้อำนวยการเลือกตั้งเขต 2 นครนายก ผู้คัดค้านนั้น ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าข้อเท็จจริงแตกต่างจากการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา เพราะหุ้นเอไอเอส ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์โดยตรง

แต่เป็นการนำเงินไปลงหุ้น เป็นการประกอบกิจการโดยทางอ้อม แตกต่าง บมจ.ไอทีวี ที่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ชนะคดี สปน.ซึ่งในคดีถือครองหุ้นสื่อ ที่ผ่านมาศาลพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจและใบอนุญาตในการประกอบกิจการ

หากเทียบเคียงกับคดีถือครองหุ้นสื่อ"นายธนาธร" แม้เลิกกิจการ แต่ยังมีใบอนุญาตประกอบกิจการสื่ออยู่ แม้ในระหว่างพิพาทระหว่าง บมจ.ไอทีวี กับ สปน.ในประเด็นจอดำ แม้จะไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ แต่ยังมีรายได้ช่องทางอื่น จึงไม่เป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะนายพิธา หยิบมาแถลงการณ์ เพื่อดิ้นให้มวลชนเห็นใจ

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ "ดร.ณัฎฐ์"  นักกฎหมายมหาชน

"การถือครองหุ้นสื่อตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ผู้สมัคร ส.ส.ถือครองมากน้อยเพียงใด ย่อมขาดคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส.ตามมาตรา 42(3) แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 จะเห็นได้จากความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องไม่ถือครองหุ้นสื่อในวันสมัคร การโอนหุ้นในระหว่างถูกตรวจสอบ แม้โอนไปหลายทอด ย่อมไม่พ้นผิดเพราะเป็นความผิดสำเร็จนับแต่วันยื่นใบสมัคร ส.ส.แล้ว" ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว