svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปฏิรูปกองทัพไทย...ความท้าทายที่รอการเผชิญ

สำหรับคนที่สนใจและติดตามเรื่องของการปฏิรูปกองทัพแล้ว ดูจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมาก ที่อยู่ๆ กระทรวงกลาโหมในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาแถลงถึงผลงานในการดำเนินการปฏิรูปกองทัพที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

การออกมาแถลงผลในช่วงหลังจากการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นลง พร้อมกับการเตรียมการที่จะจัดตั้งรัฐบาลนั้น ย่อมทำให้การแถลงของกระทรวงกลาโหมในครั้งนี้ถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมาก

ว่าที่จริงแล้ว หากกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการมาก่อน ก็น่าที่จะแถลงให้สังคมได้รับรู้ไว้บ้าง มิใช่เพิ่งจะแถลงในภาวะปัจจุบัน อันทำให้ "ปัจจัยเวลา" ของการแถลงกลายเป็นปัญหาในตัวเอง เพราะทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมต้องมาแถลงในเวลานี้ การกล่าวถึงผลการปฏิรูปนี้มี "นัยทางการเมือง" แอบแฝงหรือไม่ … ต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เต็มไปด้วยความหวาดระแวง และความสงสัย การแถลงผลงานครั้งนี้ จึงอยู่ภายใต้ข้อสงสัยอย่างหนีไม่พ้น

ปฏิรูปกองทัพไทย...ความท้าทายที่รอการเผชิญ

ปัจจัยเวลาของการแถลงยังอาจนำไปสู่การตีความว่า กระทรวงกลาโหมกำลัง "ชิงทำก่อน" เพื่อที่จะบอกแก่สังคมว่า กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปฏิรูปกองทัพ ในเรื่องที่สังคมและพรรคการเมืองต้องการจะเห็นแล้ว หรือเป็นเสมือนกับการ "ชิงเวลา" ระหว่างรัฐบาลเก่าและรัฐบาลใหม่ที่จะทำการปฏิรูปกองทัพ

ในอีกด้านหนึ่ง การแถลงดังกล่าวอาจเป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะของ "ผู้นำการปฏิรูปกองทัพ" เพื่อแสดงว่า การปฏิรูปกองทัพได้เริ่มขึ้นในสมัยของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการดำเนินการของรัฐบาลเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หากมองในทางที่ดีบ้างแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่าการประกาศแผนการปฏิรูปกองทัพเช่นนี้ อาจนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพในภาพรวม เนื่องจากที่ผ่านมานั้น แผนและแนวทางการปฏิรูปกองทัพที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ไม่เคยถูกนำมากำหนดเป็นแนวทางปฎิบัติได้จริง และมักจะจบลงด้วย “ความเงียบ” กล่าวคือ ไม่เกิดอะไรขึ้นเลยในการนำมาปฎิบัติ

แต่ในครั้งนี้ เราเห็นถึงความพยายามในหลายส่วนอย่างไม่น่าเชื่อ ได้แก่

1) การยุติแผนการสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ซึ่งว่าที่จริงแล้ว การจัดตั้งสองกองพลใหม่นี้ มีข้อโต้แย้งในทางทหารพอสมควร (ผู้เขียนเองได้แสดงความเห็นแย้งในเรื่องนี้ในหลายวาระ เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างกำลังพลเพิ่มในขนาดดังกล่าว)

2) การปรับลดนายทหารในระดับนายพล ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน แม้จะเคยมีการทำแผนในเรื่องนี้มาก่อน แต่ทั้งในระดับกลาโหมและเหล่าทัพไม่เคยตอบรับกับแผนลดกำลังพลเช่นนี้ ซึ่งต้องถือว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีในครั้งนี้ และเท่ากับว่าจะใช้ระยะเวลาอีกเพียงไม่กี่ปี กองทัพไทยจะลดนายพลได้ถึงร้อยละ 50 ในปี 2570

3) การลดจำนวนทหารเกณฑ์ ซึ่งมีการประกาศว่าจะมีการลดจำนวนอย่างต่อเนื่อง และจะเปิดรับอาสาสมัครจำนวน 35,000 นายต่อปี

4) การปรับลดจำนวนกำลังพลทหารพรานในภาคใต้

ปฏิรูปกองทัพไทย...ความท้าทายที่รอการเผชิญ

5) การปรับลดกำลังพลเช่นนี้ จะสามารถประหยัดงบประมาณและงบกำลังพลลงได้เป็นจำนวนมาก

6) การเตรียมบรรจุกำลังพลพลเรือนในกระทรวงกลาโหม

7) การทำแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ

8) การปรับลดขนาดของกองทัพให้มีขนาดกะทัดรัด และทันสมัย

การนำเสนอแผนปฏิรูปกองทัพของรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่การปฏิรูปกองทัพ จะเริ่มต้นจริงๆ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ คู่ขนานอีกหลายเรื่องที่จะต้องทำการปฏิรูป เช่น ปัญหางบประมาณ และการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ เป็นต้น

 

แต่ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เราอาจต้องยอมรับว่าการ "ชิงการนำ" การปฏิรูปของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพไทยที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า เมื่อรัฐบาลเลือกตั้งเข้ามารับตำแหน่งแล้ว การขับเคลื่อนการปฏิรูป จะถูกผลักให้เคลื่อนไปข้างหน้ามากขึ้น แต่อย่างน้อย แนวทางปฏิรูปได้ถูกกำหนดขึ้นแล้ว

ดังนั้น นายทหารในระดับต่างๆ ของทุกเหล่าทัพอาจจะเตรียมตัวที่อยู่กับการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นในเงื่อนไขทางการเมืองใหม่ให้ได้ ซึ่งตัวอย่างของปัญหา เช่น ผลจากการลดนายทหารระดับนายพล เป็นต้น เนื่องจากในด้านหนึ่ง กองทัพไทยอยู่กับ "ความไม่เปลี่ยนแปลง" มาอย่างยาวนาน จากยุคสงครามเย็น สู่ยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งสถานการณ์ความมั่นคงมีความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน

ปฏิรูปกองทัพไทย...ความท้าทายที่รอการเผชิญ

การดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงขององค์กรกองทัพย่อมเป็นปัญหาในตัวเอง และทั้งการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองที่มากขึ้นจากรัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 ทำให้กองทัพกลายเป็น "คู่ขัดแย้ง" ทางการเมือง อันส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องของภาคสังคมในการปฏิรูป มีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในบริบทของสงคราม ก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามอัฟกานิสถาน สงครามอิรัก จนถึงสงครามยูเครน การเปลี่ยนแปลงของสงครามทำให้หลายกองทัพทั่วโลก ทำการปฏิรูปตัวเอง ปัจจัยเช่นนี้ได้กลายเป็นแรงกดดันอีกส่วน ที่ทำให้นายทหารจำนวนมากในกองทัพไทยต้องการเห็นการปฏิรูป ไม่ต่างจากกองทัพในเวทีโลก

ดังนั้น เมื่อการปฏิรูปกองทัพเริ่มต้นจากแรงผลักของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว คงต้องรอดูแรงผลักอีกส่วนจากรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ เพื่อที่ทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปกองทัพไทยเดินไปข้างหน้าได้จริงในอนาคต แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาและอุปสรรคของการปฏิรูปกองทัพรออยู่ข้างหน้าอย่างท้าทาย ฉะนั้น การปฏิรูปจึงต้องการ "ความรู้และความเข้าใจ" ในเรื่องทางทหารอย่างมากด้วย