พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เป็นกฎหมายฉบับใหม่ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
ซึ่งมีบทบัญญัติที่เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง และนายอำเภอ เข้ามากำกับดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อย และการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน
สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จึงได้นำเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง "การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง" ของ "นายมานะ สิมมา" ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ในฐานะเครื่องมือทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ
ความเป็นมาของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ประเทศไทยมีเหตุการณ์ปรากฏทางสื่อมวลชน กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชนในหลายเหตุการณ์
โดยมีการกระทำทรมานต่อผู้ต้องหา (ซ้อมทรมาน) เช่น ใช้ไฟฟ้าช็อตผู้ต้องหา เพื่อให้รับสารภาพ พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาในห้องขัง เกิดเหตุการณ์ผู้ต้องหาได้รับบาดเจ็บอวัยวะภายใน (ตับแตก) เสียชีวิตในห้องขังอย่างน่าสงสัย
ล่าสุด คือ "คดีอดีตผู้กำกับโจ้" จับผู้ต้องหาใส่กุญแจมือ และใช้ถุงดำคลุมศีรษะจนกระทั่งเสียชีวิต เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีคดีกระทำให้บุคคลสูญหาย (อุ้มหาย) เป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง คือ "ทนายสมชาย นีละไพจิตร" ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่าทนายสมชายฯ อยู่ที่ไหน ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ 15 กันยายน 2564 และครั้งที่ 21 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (นายสุทัศน์ เงินหมื่น กับคณะ เป็นผู้เสนอ) และ
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... (นายสิระ เจนจาคะ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นหนึ่งคณะเพื่อพิจารณา โดยให้ถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา
ผู้เขียนเกี่ยวข้องกับการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ โดยเป็นผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มาชี้แจงแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ..... สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยเป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทย
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
เป็นต้นไป
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
จึงกำหนดมาตรการป้องกัน มาตรการปราบปราม มาตรการเยียวยาเสียหาย และมีการจัดระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนจับกุมปราบปรามการกระทำความผิด การสอบสวน และการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีอยู่ในประเทศไทย
นอกจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำหนดไว้ในร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ยังเพิ่มเติมองค์กรอัยการ องค์กรตำรวจ และองค์กรฝ่ายปกครอง เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนให้เป็นไปตามหลักสากล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.มีบทบัญญัติความผิดฐานกระทำทรมาน (มาตรา 5) ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (มาตรา 6) และความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย (มาตรา 7)
2.กำหนดคำนิยาม "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย จากผู้มีอำนาจรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมาย "ควบคุมตัว" หมายความว่า การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกันอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล (มาตรา 3)
3.มีการกำหนดโทษและความผิดสำหรับความผิดที่ได้กระทำลงโดยการสมคบกัน และความผิดสำหรับผู้สนับสนุน นอกจากนี้ยังกำหนดโทษสำหรับผู้บังคับบัญชา ผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนจะกระทำหรือได้กระทำความผิด ไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย (มาตรา 39 มาตรา 40 และมาตรา 42)
4.ความผิดฐานกระทำทรมาน ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย แม้กระทำนอกราชอาณาจักรก็สามารถลงโทษ
ในราชอาณาจักรได้ (มาตรา 8) ซึ่งเป็นหลักอำนาจลงโทษสากล
5.กำหนดให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รวมถึงคดีซึ่งผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจ
ศาลทหารในขณะกระทำความผิดด้วย (มาตรา 34)
6.ในกรณีผู้ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดีต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ และแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ (มาตรา 31)
7.พฤติการณ์พิเศษใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 12)
8.ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย (มาตรา 13)
9.ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแล โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีมาตรการป้องกัน มาตรการดำเนินคดี และมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย (มาตรา 14 ถึงมาตรา 21)
10.กำหนดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง และให้แจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที
สำหรับในกรุงเทพมหานครให้แจ้งพนักงานอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หากผู้รับแจ้งเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ผู้รับแจ้งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาเพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำเช่นนั้นทันที (มาตรา 22 และมาตรา 26)
11.กำหนดมาตรการดำเนินคดี ให้มีความถูกต้องและเป็นธรรมยิ่งขึ้น และให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง โดยจัดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการสอบสวนระหว่างพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น โดยให้พนักงานอัยการเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน อีกทั้งหากเกิดกรณีไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนท้องที่ใดหรือหน่วยงานใด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบให้อัยการสูงสุดหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด
12.การกระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 และการกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา ๗ มิให้ถือว่าเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (มาตรา 9)
13.ในคดีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา ๗ ให้ดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด (มาตรา 10)
14.อายุความสำหรับความผิดตามมาตรา 7 มิให้เริ่มนับจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย (มาตรา 30)
15.ขยายขอบเขตของผู้เสียหายและผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายไว้กว้างขวางขึ้นกว่ากฎหมายทุกฉบับ โดยมุ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนในคดีความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา ๕ หรือความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา ๖ ซึ่งผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา ๗ ให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำทรมาน ผู้ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือผู้ถูกกระทำให้บุคคลสูญหายตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี เป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย (มาตรา 3 และมาตรา 11)
16.กฎหมายฉบับนี้มีบทยกเว้นความผิดให้กับผู้ที่พบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ผู้แจ้งการพบเห็นหรือทราบการทรมานดังกล่าว ถ้าได้กระทำโดยสุจริตไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แม้ภายหลังปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดตามที่แจ้ง (มาตรา 29)
สาระสำคัญทั้ง 16 ประการที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์สำคัญของการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่มุ่งให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว การบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้เกิดประสิทธิผลสมตามเจตนารมณ์ดังกล่าว
นับว่ามีความสำคัญต่อการทำให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของคนไทยมิใช่เป็นเพียงหลักการสวยๆ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อาจเกิดขึ้นเป็นจริงได้ในอนาคตอันใกล้นี้