31 พฤษภาคม 2566 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงการประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและติดตามสถานการณ์การเมือง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงการเลือกประธานสภาฯ เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งในกรณีที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล มีมติตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลโดยมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธาน และตั้ง 7 คณะทำงานแก้ปัญหาให้ประชาชนนั้น เป็นธรรมดาของการเตรียมความพร้อม
อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่พรรคก้าวไกลแสดงให้เห็นข้อเสนอ การแก้ปัญหาประเทศ ให้ประชาชน องค์กรต่างๆ คือ ความพยายามสร้างมวลชนกดดันองค์กรต่างๆ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อยู่ระหว่างการับรองส.ส. รวมถึงพิจารณาคำร้องขาดคุณสมบัติของนายพิธา, ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าวินิจฉัยประเด็นคุณสมบัตินักการเมืองหรือ วุฒิสภา ที่มีบทบาทต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี
“กรณีที่จัดตั้ง 7 คณะทำงาน เพื่อนำสถานการณ์ทิศทางไปสู่การบริหารประเทศ ผมมองว่า ข้อเท็จจริงควรต้องผ่านการจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อย แต่เมื่อเวลาไม่ลงตัว จึงต้องทำเพื่อสร้างศรัทธาจากมวลชน รวมถึงเรียกมวลชนให้ออกมาปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เขาจัดทำขึ้น ที่อาจจะได้มวลชน เพราะขณะนี้ยังมีเวลาเหลืออีกพอสมควรก่อนที่ กกต. จะรับรองผลเลือกตั้ง” นายเสรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พรรคก้าวไกลพยายามสร้างมวลชน เพื่อสู้กับนิติสงครามที่หัวหน้าพรรคเผชิญใช่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ตนไม่ขอใช้คำรุนแรงแบบนั้น แต่ตอนนี้เห็นว่าเขาพยายามสร้างมวลชน เป็นแรงสนับสนุนและผลักดัน รวมถึงเป็นแรงกดดัน กกต.ที่ต้องรับรอง ส.ส. ตรวจสอบข้อมูล ก่อนจะประกาศรับรองตามกระบวนการเลือกตั้ง
ส่วนพรรคก้าวไกลจะใช้มวลชน เพื่อกดดันพรรคเพื่อไทยไม่ให้เป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งด้วยหรือไม่นั้น ตนเชื่อว่า กดดันพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพราะพรรคนี้เขามีวิทยายุทธลึกล้ำ และวางสเตปทางการเมืองไว้ว่าจะเดินอย่างไร และสร้างการแสดงออกที่สร้างความเชื่อมั่น เชื่อใจในกลุ่มตั้งรัฐบาล แต่ในอนาคตนั้นตนเชื่อว่า เขาเดาออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเขารู้อยู่แล้ว
สำหรับการที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศจะร่วมตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล เป็นการการการันตีที่นายพิธา จะได้เป็นนายกฯหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า “การันตีไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน สัญญาคือลมปาก สิ่งที่เพื่อไทยแสดงความเป็นสุภาพบุรุษ ว่าจะสนับสนุนพรรคที่ได้คะแนนมาก แต่เขาก็รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สุดท้ายหวยก็ออกที่พรรคเพื่อไทย” ส่วนพรรคเพื่อไทยจะได้เสนอแคนดิเดตนายกฯแทนนายพิธาหรือไม่ ก็เดากันไป
นายเสรี ยังกล่าวถึงประเด็นคุณสมบัติ หรือการแก้มาตรา 112 ที่จะทำให้นายพิธาไม่ได้รับการเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่า ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลไม่ยอมถอย และมีเจตนาที่จะเสนอแก้ไข แม้ไม่ระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่มวลชนและเจ้าของพรรคก้าวไกลต้องการ ซึ่งตนไม่เข้าใจ ทำไมนายพิธาต้องยืนหยัดที่จะแก้ไข ทั้งที่ไม่ใช่ปัญหาของบ้านเมือง และตนเชื่อว่าประเด็นนี้ จะนำไปสู่ความขัดแย้งของบ้านเมืองได้ในอนาคต