17 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอกกิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการโอนย้ายคดี นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง ถูกยิงเสียชีวิต มาที่กองบังคับการปราบปรามว่า คดีนี้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี สามารถบริหารจัดการคดีได้เป็นอย่างดี แต่ในกระบวนการโอนคดีต้องเข้าเงื่อนไขด้วย ประกอบกับญาติของผู้เสียชีวิตมีความประสงค์ที่จะโอนคดีมายังกองบังคับการปราบปราม
โดยขณะนี้ตำรวจภูธรภาค 2 ร่วมกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี และกองบัญชาการสอบสวนกลาง อยู่ระหว่างการร่วมกันพิจารณา โดยจะเสนอมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นวันนี้ หรือพรุ่งนี้ ยังไม่ทราบ เพราะต้องพูดคุยเรื่องความชัดเจนของคดี และความเป็นธรรมของผู้ร้อง
ซึ่งขณะนี้ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ได้สอบสวนไปมากพอสมควร และเมื่อกองปราบปรามจะรับมาทำคดีต่อ ก็จะเป็นเรื่องของส่วนกลาง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เนื่องจากคดีนี้มีความซับซ้อนในตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นคดีที่มีผู้อิทธิพลในพื้นที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางน่าจะมีความเหมาะสมในการทำคดี
สำหรับขั้นตอนจากนี้ จะเข้าสู่การพิสูจน์ทราบ การรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวนต่อไป ทั้งการเก็บรายละเอียด DNA วัตถุพยาน เขม่าดินปืน พยานบุคคลที่ต้องสอบสวน เพื่อสนับสนุนองค์ประกอบฐานความผิดที่ได้แจ้งผู้ต้องหาทั้งหมด 7 คนไปแล้ว
ส่วนกรณีที่ตำรวจภูธรภาค 2 ระบุว่า ขอเคลียร์ก่อนที่จะส่งสำนวนคดีมายังกองบังคับการปราบปรามนั้น พลตำรวจเอกกิตติรัฐ กล่าวว่า มั่นใจในตัวผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี เชื่อว่าท่านจะดูรายละเอียดในสำนวนให้แน่นเสียก่อน พิสูจน์ได้จากวันที่ 14-16 ธ.ค.2567 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ตำรวจภูธรภาค 2 และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ทำงานบูรณาการเข้าตรวจค้น 57 จุดใน 3 วัน ได้อาวุธปืนกว่า 70 กระบอก ซึ่งเป็นจุดที่เรามีข้อมูลในมืออยู่แล้ว สอดรับกับนโยบายที่ตนเองให้ไว้ในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง และบุคคลตามหมายจับ เป็นบทพิสูจน์ได้ว่าทั้ง 3 หน่วยงาน มีความตั้งใจที่จะปราบปรามและป้องปรามผู้ที่คิดว่าตนเองมีอิทธิพลในพื้นที่แล้วจะทำอะไรก็ได้
“ตำรวจจะไม่ยอมในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดปราจีน หรือจังหวัดใดก็ตาม จังหวัดปราจีนบุรีจะเป็นต้นแบบ ซึ่งจะต้องป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง” ผบ.ตร.กล่าว
ขณะที่ หลังจากนี้การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะมีขึ้นอีกหลายจังหวัดนั้น ผบ.ตร.บอกว่าจังหวัดปราจีนบุรี จะเป็นต้นแบบ ตนเองจะลงมาดูเรื่องนี้ด้วยตนเอง ร่วมกับฝ่ายสืบสวนสอบสวน เราจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในจังหวัดอื่น จะบ้านเล็กหรือบ้านใหญ่ ไม่ให้มีอยู่แล้วอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างอิทธิพลด้วยการมีสมุนที่มีประวัติอาชญากรรม เป็นอาชญากรที่เคยต้องโทษ หรือจะมีอาวุธไว้ในการครอบครองทั้งที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียน จะต้องผ่านการตรวจสอบว่าใช้ในการกระทำผิดหรือไม่ ไม่ว่าบ้านเล็กบ้านใหญ่เราไม่ปล่อยไปทั้งหมด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้มีกี่กลุ่ม กี่ก๊วน ที่ทางตำรวจต้องจับตาเป็นพิเศษ ผบ.ตร.กล่าวว่า ไม่บอก แต่มีข้อมูลอยู่แล้ว ถ้าท่านคิดว่าเป็นผู้มีอิทธิพลแล้ว ทำสิ่งใดที่นอกเหนือกฎหมาย เราเยี่ยมท่านแน่นอน สิ่งเหล่านี้รบกวนสังคม ต้องอยู่กันแบบมีความสุขฉันมิตร สู้กันด้วยความชอบธรรมทางด้านการเมืองดีกว่าที่จะใช้วิธีเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ผบ.ตร.ยังบอกอีกว่า ตั้งแต่ที่ตนเองรับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมา ได้เปิดยุทธการปราบปรามผู้มีอิทธิพลไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจมาก แต่พอเกิดเรื่องที่ปราจีนบุรีก็เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่า นิยามของคำว่า “ผู้มีอิทธิพล” ไม่เพียงพอกับการที่เราจะเปิดยุทธการ เพราะจะต้องมีมาตรการ และวิธีการที่มากกว่านั้นอีก ซึ่งตนเองได้บอกกับทีมสืบสวนสอบสวน จะต้องมีการเรียกผู้บัญชาการมาพูดคุยกันอย่างเข้มข้น เพราะข้อมูลที่มีอยู่ในมือไม่เพียงพอแล้ว
“คนพวกนี้คิดว่าตนเองเป็นใหญ่ในสังคม มีบทบาทและอิทธิพลที่ทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม เราต้องกำหนดมาตรการเพิ่มไปมากกว่านี้” พลตำรวจเอกกิตติรัฐ กล่าวทิ้งท้าย