สำหรับ “โผครม. พิธา 1” ได้มีการสรุปเป็นตุ๊กตาออกมาแล้ว จากทางฝั่งพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผลมาจากการการพูดคุยนอกรอบระหว่างแกนนำและคณะเจรจาบางส่วน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติทั้งหมด
โดยตำแหน่งรัฐมนตรี และกระทรวงในโควต้าที่พรรคก้าวไกล ในฐานะ “พรรคแกนนำ” ต้องการดูแล ก็คือ
“เนชั่นทีวี” นำข้อมูล “โผครม.” ที่ได้มานี้ ไปสอบถาม “กูรูการเมือง” หลายคน ได้รับการสะท้อนมุมมองกลับมาว่า หลักคิดในการเลือกกระทรวงของพรรคก้าวไกล ไม่ได้มองที่ผลประโยชน์ในรูปตัวเงินงบประมาณ หรือโครงการที่จะไปกินหัวคิวเหมือนนักเลือกตั้งทั่วไป แต่จองกระทรวงที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายของตน และวางรากฐานทางความคิดความเชื่อในหมู่เยาวชน ซึ่งจะเป็นฐานการเมืองให้กับพรรคตนเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เช่น การจองเก้าอี้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดีอีเอส เพราะต้องไม่ลืมว่า บุคลากรของพรรคก้าวไกล มีความรู้ความชำนาญด้านโซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างมาก ครอบครัวของหลายคนทำบริษัทให้เช่า Cloud และนโยบายบางข้อของพรรค ยังมีนโยบายสร้าง “สภาเยาวชน” เพื่อสร้างเยาวชนพันธุ์ใหม่ที่สนใจการเมืองด้วย
ส่วนหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเกือบทุกพรรค จะมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคเล็ก จะได้พรรคจิ๋ว ซึ่งเป็นพรรค 1 เสียง จะได้โควต้าประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภา และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ
สำหรับสูตรคำนวณเก้าอี้รัฐมนตรี แม้พรรคแกนนำจะพยายามให้ข่าวว่า ให้คิดตามความรู้ความสามารถ ไม่แบ่งโควต้าตามจำนวน ส.ส. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่พ้นระบบโควต้า โดยมีข่าวว่าจะใช้จำนวน ส.ส. หารด้วย 8.6 ต่อรัฐมนตรี 1 เก้าอี้ ซึ่งมีทั้งหมด 35 เก้าอี้ ไม่รวมนายกฯ
พรรคก้าวไกล จะได้ 14 ที่นั่ง พร้อมด้วยเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (รวมเป็น 15 เก้าอี้)
พรรคเพื่อไทย ได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 ที่นั่ง
พรรคประชาชาติ ได้ 1 ที่นั่งรัฐมนตรีว่าการ
พรรคไทยสร้างไทยได้ 1 รัฐมนตรีช่วยว่าการ
ส่วนพรรคเล็กที่ได้ ส.ส. จำนวน 1-2 ที่นั่ง อาจจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี แต่ได้เก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการฯแทน
แบ่งเค้กประชาชาตินั่ง “กระทรวงยุติธรรม”
สำหรับพรรคอันดับ 3 อย่างพรรคประชาชาติ มีข่าวว่า พรรคก้าวไกล เตรียมจัดสรร “กระทรวงยุติธรรม” ให้เป็นโควต้าของพรรคประชาชาติ
โดยกระทรวงยุติธรรมยุคนี้ ถือเป็น “กระทรวงเกรด A” กระทรวงหนึ่ง เนื่องจากมีหน่วยงานในสังกัดเยอะมาก โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งมีอำนาจล้นฟ้า และกรมราชทัณฑ์ ที่มีงบประมาณสูงเป็นอันดับ 1 ของกระทรวง
ที่น่าสนใจคือ กรมราชทัณฑ์ มีส่วนสำคัญในการเสนอขอพระราชทานอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นนโยบายของบางพรรคการเมือง และยังมีกฎหมายราชทัณฑ์ที่แก้ไขใหม่ (พ.ร.บ.ราชทัณฑ์) กำหนดให้มี “สถานที่อื่นที่ใช้ในการคุมขัง ซึ่งไม่ใช่เรือนจำ” โดยในยุค "สมศักดิ์ เทพสุทิน" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกระเบียบรองรับเอาไว้แล้ว ทำให้มีข่าวลือว่าเตรียมการต้อนรับ “นักโทษวีไอพีจากแดนไกล” กลับบ้านหรือไม่
มีรายงานว่า หากพรรคประชาชาติตกลงรับโควต้านี้ อาจส่ง พ.ต.อ.ทวี มานั่งเป็นรัฐมนตรียุติธรรม เพราะเคยเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย