4 เมษายน 2568 ที่ ตึกเอ็มไพ ชั้น 47 บริษัท v beyond นายเกรียงไกร อินทจันทร์ หรือ "ทนายตั้ม" ในฐานะ ผู้บริหารบริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารบริษัทเหล็กในประเทศไทย แถลงข่าว กรณีผลกระทบจากกลุ่มทุนจีน ที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล็กประเทศไทย เสียเปรียบทางการค้า และเพราะเหตุใดเหล็กจีนบางส่วน จึงไม่ได้มาตรฐาน
ทนายตั้ม ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย เดิมทีจะผลิตเหล็กเองเพียงไม่กี่เจ้า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเหล็กมาจากต่างประเทศ ทั้งตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และจีน แต่ละแห่งคุณภาพก็จะไม่เหมือนกัน ทั้งเนื้อเหล็ก แร่ที่นำมาผลิต รวมถึงกรรมวิธีในการผลิตเหล็ก
โดยวิธีการผลิตเหล็กจะมี 2 แบบ คือ แบบเก่าที่เป็นการขึ้นแท่งเหล็ก นำมาวางไว้ให้เหล็กเย็นตัว ซึ่งเหล็กจะค่อยๆ เย็นตัว และประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนอีกวิธีคือ การผลิตเหล็กคือแบบ Tempcore โดยจะมีสัญลักษณ์ที่เหล็กเป็นตัว T อยู่ที่เหล็ก ซึ่งกรรมวิธีผลิตเหล็กแบบ Tempcore นั้น ใช้ระยะเวลาในการผลิตน้อย จึงทำให้ผลิตเหล็กได้มาก รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเหล็กชนิดนี้ สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ แต่จะต้องผ่านมาตรฐานของ มอก. ปัจจุบันพบว่า ส่วนมากจะนิยมใช้กรรมวิธีผลิตเหล็กแบบ Tempcore มากกว่า เนื่องจากแบบเก่าใช้เวลานาน
นายเกรียงไกร อินทจันทร์ หรือ "ทนายตั้ม"
ทนายตั้ม กล่าวต่อว่า สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ต้องยอมรับว่า สู้จีนไม่ได้ เนื่องจากนโยบายการค้าของจีน ที่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตส่งสินค้าออกนอกประเทศ รวมถึงการตั้งโรงงานในต่างประเทศ โดยส่งเสริมด้วยการลดหย่อนภาษี รวมถึงสินค้าจีนหรือวัตถุดิบที่นำเข้าไทย จะมีสนธิสัญญาบางตัว ที่ทำให้สินค้าดังกล่าวเป็น "สินค้าปลอดภาษี"
ทำให้ผู้ผลิตจีนหรือผู้นำเข้าจีน สามารถกดราคาลงต่ำได้กว่าผู้ประกอบการไทย หรือผู้นำเข้าไทยได้ ต่างจากนโยบายการค้าของไทย ต่อให้ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตต้องการวัตถุดิบที่มาจากต่างประเทศ ก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี ทำให้มีต้นทุนรวมสูงกว่า เมื่อเข้าไปประมูลงานทางภาครัฐ ก็ไม่สามารถสู้ราคาได้เหมือนกับผู้ที่ใช้วัตถุดิบจากจีน
นอกจากนี้ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ตึกสูงขนาดนี้ควรใช้เหล็กจากกรรมวิธีแบบเก่า เพราะมีความเหนียวและแน่นกว่า สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าด้วย
ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการจีน พยายามจี้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม นำตัวอย่างเหล็กจากโรงงาน ไปตรวจที่สถาบันยานยนต์ด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่า ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของผู้ประกอบการเหมือนกัน เพราะที่จริงแล้วสถาบันยานยนต์ ถึงแม้จะมีอำนาจในการตรวจเหล็ก เพื่อขอออก มอก. แต่อย่าลืมว่า สถาบันยานยนต์นั้น ตรวจเหล็กเพื่อนำไปผลิตรถยนต์ ซึ่งต่างจาก สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ที่ตรวจคุณภาพเหล็กโดยตรง
ทนายตั้ม กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ครอบครัวทำธุรกิจเหล็กมานาน ส่วนตัวค่อนข้างเชื่อมั่นเหล็กที่มาจากตะวันออกกลางมากกว่า เนื่องจากวัตถุดิบแร่โมเลกุลของเหล็กแตกต่างกัน ประกอบกับการควบคุมคุณภาพของเหล็กค่อนข้างมีคุณภาพสูง
นอกจากนี้ยังมองว่า เหล็กที่ส่งมาจากจีน ก็อาจจะไม่ได้เป็นเหล็กที่ผลิตในจีนทั้งหมด ซึ่งบางครั้งอาจจะมีการสั่งเหล็กมาจากที่อื่น แล้วนำเข้ามาที่ประเทศจีนก่อนจะส่งเข้าประเทศไทย เนื่องจากการส่งจากประเทศจีนไม่เสียภาษี ก็เป็นไปได้ว่าเหล็กดังกล่าวไม่ได้ผ่านการผลิตจากจีนโดยตรง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว อาจจะต้องมีการตรวจสอบอีกในหลากหลายประเด็น จึงอยากฝากสื่อมวลชน ให้ช่วยติดตาม หากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายการค้าของรัฐบาล ทำให้ผู้ค้าในต่างประเทศ อาศัยสนธิสัญญาการค้าไม่เสียภาษี เข้ามาทำธุรกิจโดยที่ผู้ประกอบการไทย ไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งรัฐบาลควรจะมีการพิจารณาสินค้าปลอดภาษี เป็นรายธุรกิจหรือเป็นรายตัวสินค้า ไม่ใช่การเปิดโอกาสให้ทุกสินค้า เข้ามาค้าขายโดยปลอดภาษีทั้งหมด หรือเรียกได้ว่ามาค้าขายเปรียบเสมือนคนไทยคนหนึ่ง