svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เลือกตั้ง66" ผลโพล ส่งต่อ สถานการณ์"ผู้นำรัฐประหาร" ถดถอยยกกำลังสอง!

หากเอาตัวเลข "โพล" เป็นข้อคาดการณ์ อาจทำให้เห็น "ผู้นำรัฐประหาร" ที่ผันตัวมาเป็น "นักเลือกตั้ง" ไม่ประสบความสำเร็จใน"การเลือกตั้ง 66" การเมืองหลังเลือกตั้งจะมีนัยถึงการสิ้นพลังของระบอบทหาร

จนถึงวันนี้ไม่มีใครตอบได้ว่า "โพล"ของสำนักใดจะใกล้ความจริงมากที่สุด แต่อย่างน้อยตัวเลขจากการตอบของประชาชนที่ปรากฏในสื่อนั้น ชวนให้น่าทดลองคาดคะเนถึงอนาคตการเมืองไทยใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ

1) สิ้นยุคพรรคทหารจริงหรือไม่?

ผลโพลที่ออกมาค่อนข้างจะชัดเจนว่า "พรรคทหารเก่า" (พลังประชารัฐ) และ "พรรคทหารใหม่" (รวมไทยสร้างชาติ) ไม่ใช่พรรคที่ในลำดับต้น ซึ่งจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในอนาคตแต่อย่างใด 

ถ้าผลโพลเป็นจริง เราคงตอบได้ทันทีว่า พรรคทหารเดินมาถึงจุดถดถอยจริงๆ แล้ว เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากการรัฐประหารนั้น โอกาสที่จะควบคุมการเมืองเช่นในปี 2562 ย่อมไม่เหมือนเดิม

ว่าที่จริง พลังอำนาจของอดีตผู้นำรัฐประหารมีภาวะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในด้านหนึ่งการเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ทำให้อดีตนายทหาร "3 ป." ที่เป็นหัวขบวนของการยึดอำนาจไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง

เนชั่นโพล เปิดเผยผลการสำรวจ ความนิยม เลือกตั้ง 66 ครั้งที่ 1 โดยจะมีการเผยแพร่ผลสำรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 พ.ค.นี้

เมื่อพวกเขาตัดสินใจ "สืบทอดอำนาจ" ด้วยการลงเลือกตั้ง พวกเขาย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการใช้ "กลเกมการเมือง" ซึ่งการเมืองในระบอบเช่นนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่ช่วยสร้างคะแนนนิยมในเวทีการเมืองแต่อย่างใด และยังทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาจากรัฐประหารพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 เป็นระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานถึง 9 ปีของผู้นำรัฐประหาร โดยใน 5 ปีแรกเป็นการเมืองในระบอบรัฐประหาร เพื่อการจัดตั้ง "รัฐบาลทหาร" เข้าควบคุมการเมืองของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ

3 พ.ค.66 นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจ ความนิยม การเลือกตั้ง 66 ครั้งที่ 3

และในอีก 4 ปีถัดมา เป็นการเมืองในระบอบพันทาง ที่เกิดการ "แปลงรูป-เปลี่ยนร่าง" ของรัฐบาลทหาร ไปสู่การจัดตั้ง "รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง" ซึ่งดูจะไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศเท่าใดนัก ยกเว้นการสร้าง "นโยบายประชานิยม"  เพื่อใช้เป็นฐานเสียง แต่การบริหารเศรษฐกิจของประเทศกลับประสบปัญหาอย่างมาก และเป็นประเด็นที่ทำลายฐานะทางการเมืองสำหรับผู้นำรัฐประหารและพรรคทหารอย่างมาก 

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม จะเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดอนาคตของพรรคทหารว่าพรรคนี้จะกลายเป็น "พรรคเฉพาะกิจ" หรือไม่?

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57

2) สิ้นพลังระบอบทหารจริงหรือไม่?

ระบอบทหารมีพลังมากที่สุดในการเมืองไทยหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหาร เพราะการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นทำให้การเมืองในภาวะปกติสิ้นสภาพไปโดยปริยาย พร้อมกับการสิ้นสุดของรัฐบาลเลือกตั้ง และอำนาจถูกเปลี่ยนผ่านมาอยู่ในมือของผู้นำรัฐประหารอย่างเบ็ดเสร็จ

แต่ระบอบนี้มีปัญหาในตัวเอง เพราะอำนาจที่ได้จากการรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง และทำให้ตัวระบอบเองต้องเผชิญกับการประท้วงและการต่อต้าน ดังนั้น การเปลี่ยนจาก "ระบอบเผด็จการรัฐประหาร" ไปสู่"ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง"จึงเป็นทางออกสำคัญในการลดแรงกดดันที่เกิดกับตัวระบอบดังกล่าว และยังเอื้อให้ความต้องการในการสืบทอดอำนาจเกิดเป็นจริงได้อย่างง่ายดายหลังเลือกตั้ง 2562

เมื่อพวกเขาต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปอีกในปี 2566 ความต้องการนี้จึงกลายเป็น "การเมืองภาคบังคับ" ให้อดีตผู้นำรัฐประหารลงสนามการเลือกตั้ง ซึ่งหากเอาตัวเลข "โพล" เป็นข้อคาดการณ์ถึงอนาคตแล้ว จะเห็นได้ว่า อดีตผู้นำนักรัฐประหารไม่ใช่ตัวเลือกของผู้คนในสังคมเท่าใดนัก

ฉะนั้น หากบรรดา "นักรัฐประหาร" ที่ผันตัวมาเป็น "นักเลือกตั้ง" ไม่ประสบความสำเร็จในการได้เสียงให้กับพรรคของตนเองแล้ว การเมืองหลังเลือกตั้งจะมีนัยถึงการสิ้นพลังของระบอบทหาร ซึ่งหมายถึงการเดินเข้าสู่จุดสุดท้ายของทั้งตัวผู้นำและตัวระบอบรัฐประหาร 2557 พร้อมกันไป อันเป็นเสมือนการ "ปิดฉาก" ลครการเมืองชุดใหญ่ที่ออกแสดงในสังคมไทยมานานถึง 9 ปีแล้ว

\"เลือกตั้ง66\" ผลโพล ส่งต่อ สถานการณ์\"ผู้นำรัฐประหาร\" ถดถอยยกกำลังสอง!
ภูมิทัศน์ใหม่ vs ภูมิทัศน์เก่า

ถ้าผลการเลือกตั้งเป็นเช่นในโพลแล้ว การเมืองไทยจะเดินเข้าสู่ "ภูมิทัศน์ใหม่" ที่เห็นถึงการ "ถดถอยยกกำลังสอง" คือ การถดถอยของอดีตผู้นำและตัวระบอบรัฐประหาร พร้อมกับการถดถอยของพรรคทหาร ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับการคงอำนาจของคณะรัฐประหารให้อยู่ได้อย่างมั่นคง 

แต่สภาวะของการถดถอยเช่นนี้ไม่ได้บอกว่า มรดกจากการยึดอำนาจที่เป็นดัง "สารพิษตกค้าง" ในสังคมการเมืองไทยจะหมดพลังไปตามด้วย เนื่องจากยังมี "ทายาทอสูร" ในภาคการเมืองที่พร้อมจะมีบทบาทและแสดงตัวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต เช่น บทบาทของ "องค์กร (ไร้)อิสระทางการเมือง" ที่จะช่วย "ด้อยค่า" การลงเสียงของประชาชนด้วยการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร เพื่อดำรงสภาพของ "ภูมิทัศน์เก่า" ให้คงอยู่ต่อไป

ฉะนั้น การเมืองหลังเลือกตั้งในบริบทมหภาคจึงเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นระหว่าง "ภูมิทัศน์ใหม่ vs ภูมิทัศน์เก่า" ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ที่ตื่นเต้นและเร้าใจอย่างแน่นอน และเดิมพันด้วยการกำหนดทิศทางอนาคตการเมืองไทยด้วย!