นับถอยหลังจากนี้เหลือเวลาเพียงไม่อีกกี่วันก็จะถึง "การเลือกตั้งปี 2566" วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 "เนชั่นโพล" ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของเครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชนในเครือเนชั่น ได้เปิดผลสำรวจและทำการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งรอบแรกไปแล้ว พอจะเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของพรรคการเมืองต่างๆที่จะคว้าเก้าอี้สภาผู้แทนราษฎร
เช่นเดียวกับ "ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์" ประธานสถาบันการสร้างชาติ ซึ่งอยู่ร่วมในคณะวิจัย "เนชั่นโพล" สามารถถอดรหัสผลโพลที่พอจะทำให้เห็นสถานการณ์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งได้ออกมา "4 ฉากทัศน์" ด้วยกัน ดังต่อไปนี้
ฉากทัศน์ที่ 1
ในฉากทัศน์ที่ 1 หลังการเลือกตั้ง “ศ.ดร.เกรียงศักดิ์” คิดว่ามีความเป็นไปได้ ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะได้เป็นนายกฯ ต่อไป เพราะมีแต้มต่ออยู่ที่ ส.ว. ฉะนั้นแค่ร่วมเสียง ส.ส. ให้ได้ 126 เป็นอย่างต่ำ ก็มีโอกาสเป็นนายกฯ 3 สมัย
ฉากทัศน์ที่ 1 ผมมองว่า ถ้ามีการสนับสนุนอยากให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ต่อ ถ้า “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ได้แค่ 25 เสียง ก็สามารถเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ได้ อาจจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่านั้น แต่เบื้องต้นต้องให้ได้ 25 เสียงขึ้นไป
ถ้า “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ได้ ส.ส. 25 คน ร่วมพันธมิตรจากพรรคต่างๆได้ 126 เสียงขึ้นไป และรัฐธรรมนูญระบุให้ ส.ว. 250 คน เลือกนายกฯ ได้ อีกทั้งยังมี “กองทัพ” ซึ่งมีบทบาทหาทางออกทางการเมืองอยู่เรื่อยมา
และเมื่อมี ส.ว. 250 คน ที่ต้องมาร่วมโหวตบวกกับ ส.ส.ในสภา ก็ต้องได้เสียงส่วนใหญ่ของ 2 สภารวมกัน ก็ได้จำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ดังนั้นถ้า “ลุงตู่” รวมพันธมิตร ส.ส. ได้ 126 ขึ้นไป ซึ่งคิดว่าเป็นไปได้ ส่วน ส.ว.อาจจะมีแตกแถวบ้าง แต่ในฉากทัศน์ที่ 1 คิดว่า “ลุงตู่” มีโอกาสได้เป็นนายกฯ ต่อ
เพราะในวันแรกถ้า “ลุงตู่” รวบรวมเสียง ส.ส. ได้ 126 เสียง ขึ้นไปหรืออาจจะมากกว่านั้น จะมีพวกอยากร่วมรัฐบาลโดดเข้ามาเป็นละลอก จนได้คะแนนเกิน 250 ในที่สุด เพราะไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน
หรือเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ช่วงเวลาหนึ่งก็อยู่ได้ (หลังจัดตั้งรัฐบาล อาจมีพรรคฝ่ายค้านย้ายขั้ว) อาจจะอยู่ไม่ครบ 4 ปี แต่ก็อยู่ไปได้ ซึ่งวิธีการต่างๆ เราก็จะเห็นมาบ้างแล้ว ฉากทัศน์ที่ 1 ก็จะประมาณนี้
และเป็นไปได้หลังการเลือกตั้งที่ ลุงตู่” จะได้เป็นนายกฯ หรืออาจจะตกลงกันกับพรรคร่วมฯ ว่า “ลุงตู่” เป็นนายกฯ 2 ปีแรก ส่วน 2 ปีหลังก็หานายกฯ คนใหม่ เพราะ “ลุงตู่” รู้ว่าตัวเองว่า อยู่ได้แค่ 2ปี ยกเว้นไปแก้รัฐธรรมนูญอีก ซึ่งก็อาจเป็นได้ แต่ถ้าไม่แก้ แล้ว 2 ปีหลังจะเอาใคร ก็ต้องมีการเล่นเกมการเมืองหลอกล่อกันต่อไป
ฉากทัศน์ที่ 2
ในฉากทัศน์ที่ 2 “ศ.ดร.เกรียงศักดิ์” คิดว่า มีความเป็นไปได้ที่ “พรรคเพื่อไทย” ได้เป็นรัฐบาล แม้จะได้คะแนนเสียงเยอะที่สุด แต่ก็ไม่แลนด์สไลด์ และไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ฉากทัศน์ที่ 2 ผมลงพื้นที่ทั่วประเทศไทยเยอะดูออกว่า กระแส “เพื่อไทย” ยังมีอยู่ ดังนั้น “เพื่อไทย” จะได้เป็นพรรคที่ได้คะแนนเยอะที่สุด แต่ไม่เยอะพอที่จะแลนด์สไลด์
ดังนั้น “เพื่อไทย” ถ้าอยากเป็นรัฐบาล ต้องได้ ส.ส. 376 ขึ้นไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เขาต้องไปดึงพันธมิตรฝ่ายที่คุยกันรู้เรื่องมาก่อน เราก็เห็นอยู่ว่ามีพรรคไหนที่คุยกันรู้เรื่อง ถ้ายังไม่พอต้องเอาพรรคต่างขั้ว ซึ่งเป็นไปได้ เพราะมีพรรคที่ยืนตรงกลาง พร้อมไปทางไหนก็ได้ แต่ขอให้ได้เป็นรัฐบาล
ถ้ามี ส.ว.แตกแถวมาเพิ่มนิดหน่อย ก็จะช่วยขึ้นอีก ถ้ารวมเสียงทั้งหมดได้ 376 ขึ้นไป เขาก็อยู่ได้ “เพื่อไทย” ได้เป็นรัฐบาล แต่จะอาจต้องยอมให้พรรคอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งเชื่อว่าเจตจำนงของ “เพื่อไทย” มีเรื่องใหญ่ที่คงต้องทำให้สำเร็จคือ “คุณทักษิณ” อยากกลับบ้านมาก ถ้ากลับบ้านได้ ก็จะดีใจ เพราะอายุเยอะแล้ว ซึ่งอาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของ “คุณทักษิณ” ถ้า “พรรคเพื่อไทย” ได้เป็นรัฐบาล
ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ที่ “เพื่อไทย” อาจต้องยอม ในกรณีที่พรรคได้คะแนนไม่เยอะจริง ต้องต่อรอง ก็ต้องยอมให้นายกฯ เป็นของพรรคอื่น เพื่อให้ “คุณทักษิณ” กลับบ้านได้ อันนี้ผมเดานะ ไม่ได้พูดเชิงลบหรือบวก เพราะนี่เป็น Agenda สำคัญ
เราดูจากเหตุการณ์ในอดีต ตอนเหตุการณ์เสื้อแดง ก็จำได้ว่า “คุณทักษิณ” ขอบคุณคนเสื้อแดงที่พายเรือไปส่งถึงฝั่งเรียบร้อย ตอนนั้นทำท่าอยากจะกลับแล้ว ก็ไม่ว่ากัน เพราะใครๆ ก็อยากกลับบ้าน
แต่วาระต่างๆ ในการจะกลับบ้านในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีการออกนิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าทำไมถึงทำ จึงอ่านได้ว่าวาระหลักๆ ที่ “คุณทักษิณ” เป็นผู้มีอิทธิพลมากๆ ต่อพรรค คงอยากกลับบ้าน ตรงนี้อาจทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ได้ร่วมรัฐบาล แม้คะแนนเยอะสุด แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ
ฉากทัศน์ที่ 3 อนาคตไม่แน่นอน
ในฉากทัศน์ที่ 3 “ศ.ดร.เกรียงศักดิ์” มองว่า ถ้าเกิดบางเหตุการณ์ก่อนวันเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง เช่นการยุบพรรคการเมืองบางพรรค ก็เป็นปัจจัยให้ทิศทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป จากการคาดการณ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้
จากการทำโพล มันยังมีประเด็นที่ไม่มั่นใจ เพราะตอนนี้ยังมี “คนไม่ตัดสินใจ” เยอะพอสมควร ถามว่ากลุ่มนี้จะสวิงไปสวิงมาได้แค่ไหน และตรงนี้จะเป็นตัวตัดสินว่าจะมีฉากทัศน์ที่ 3 ไหม อาจต้องรอผล “เนชั่นโพล” ครั้งที่ 2 ซึ่งประกาศก่อนเลือกตั้ง 8 วัน ก็อาจพอเห็นทิศทางทางได้
ซึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เดฉากทัศฯที่ 3 ก็สมมติว่า มีการยุบพรรค ซึ่งอาจจะเป็นจงใจ หรือบังเอิญ ซึ่งตอนนี้มีการยื่นทำความผิดของพรรคต่างๆ ไวจ่อคิวเต็มไปหมดแล้ว ถ้าบังเอิญมีการตัดสินในจังหวะก่อนเลือกตั้งว่าพรรคนั้นพรรคนี้ต้องโดนยุบ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ประชาชนเทคะแนน
โดยเฉพาะถ้าไปยุบพรรคที่คะแนนเยอะบางพรรค 2 - 3 พรรค หากเกิดก่อน 14 พฤษภาคม พอไปลงคูหาเลือกตั้ง ผลโพลที่สำรวจไว้จะผิดไปเลย จะมีการเทคะแนนไปที่อื่น ผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยน หมายความว่านายกฯ จะเปลี่ยนคนเลย คนที่เราไม่นึกว่าจะได้เป็นนายกฯ อาจจะได้เป็น เพราะว่าคะแนนเทไปให้
ประชาชนที่เคยคิดว่า จะลงให้พรรค A แล้วมาโดนยุบพรรค ก็เหมือนตอน “ไทยรักษาชาติ” โดนยุบ คะแนนก็ไปที่ “อนาคตใหม่” เหตุการณ์นี้อาจจะเกิดได้
แต่ในกรณีเกิดการยุบพรรคหลังเลือกตั้งเสร็จ คะแนนออกมาหมดแล้ว ส.ส.ต้องหาพรรคใหม่ เวลานั้นตลาดช้อปปิ้ง จะรุนแรงมาก หน้าตารัฐบาลจะไม่แน่นอน ว่าใครช้อปปิ้งได้มากกว่ากัน ช้อปปิ้งด้วยอะไรผมก็ไม่รู้ แต่มันจะต้องมีพลังการช้อปปิ้ง เมื่อทำแบบนี้ จะเกิดอะไรขึ้น คะแนนก็จะออกมาเบี่ยงเบน แม้โพลที่น่าเชื่อถือที่สุด ทำถูกหลักวิชาการมากที่สุด ก็จะต้องพลาดในจังหวะนั้น
ฉากทัศน์ที่ 4 อนาคตวุ่นวาย
ส่วนฉากทัศน์สุดท้าย “ศ.ดร.เกรียงศักดิ์” กล่าวว่า อาจจะทำให้การเมืองไทย กลับไปสู่วังวนเดิมๆ
ถ้าหากมีอะไรที่เกิดขึ้นแล้วฝ่ายใดเสียเปรียบ รู้สึกไม่โอเค แค้นเคือง ไม่สบายใจ มันจะอาจเกิดปรากฏการณ์มีคนประท้วง เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ถ้าเอาไม่อยู่จะเกิดอะไรขึ้น ก็ชัดทุกครั้ง ก็จะต้องมีวังวนแบบยึดอำนาจรัฐประหาร
โดยที่คนยึดอาจจะไม่อยากยึดก็ได้ แต่เขาไม่รู้จะทำยังไงกับบ้านเมืองนี้ที่มันวุ่นวายเหลือเกิน เขาต้องสร้างความสงบ การยึดอำนาจเกิดขึ้นปั๊บ ก็จะมีนายกฯ กรณีพิเศษมา ผมคิดว่าทั้ง 4 ฉากทัศน์เป็นไปได้หมด อยู่ที่บางส่วนเรากำหนดได้ บางส่วนสถานการณ์กำหนดไม่ได้ว่า จะพาไปทิศทางใด