การเลือกตั้งปี 2566 ยังคงเป็นไปภายใต้ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้ 250 ส.ว. (บทเฉพาะกาล) ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็ยังมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ แม้ที่ผ่านมาจะมีเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ก็ไม่เป็นผล
แต่กระนั้นก็ตามที ได้มีการแก้ไขข้อกำหนดในบางมาตรา ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง นั่นก็คือ ได้มีการเปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ มาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ซึ่งถ้าย้อนไปยังการเลือกตั้ง ปี 2562 การใช้ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” นอกจากใช้เลือก “ส.ส. เขต” แล้ว ยังมีการนำคะแนนทั้งหมดมาคำนวณหา “ส.ส.พึงมี” โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 70,000 คะแนนเสียง ต่อ ส.ส. 1 คน แต่ด้วยสูตรคำนวณที่ถูกแซะว่า “สุดพิสดาร” ทำให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าว บางพรรคได้คะแนนเสียงทั้งประเทศแค่ 30,000 กว่า ก็ได้ ส.ส. เข้าสภาแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง
โปรดเกล้าฯ"พ.ร.ฎ.ยุบสภา" กำหนดเลือกตั้งไม่น้อยกว่า45วันแต่ไม่เกิน60วัน
เปิดเหตุผลทำไม "นายกฯลุงตู่" เลือกเส้นทาง"ยุบสภา" ไม่ยอมอยู่ครบวาระ
ส่วนการเลือกตั้งปี 2566 “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” จะมีการแยกอย่างชัดเจน ระหว่างบัตรที่เลือก ส.ส.เขต กับบัตรที่เลือกพรรคการเมือง โดยจะนำคะแนนจากบัตรใบที่ 2 มาคำนวณหาจำนวน “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ของแต่ละพรรค คล้ายกับการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทำให้พรรคการเมืองที่มีแฟนคลับเยอะ ได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้
นอกจากนั้นยังมีการปรับสูตรคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อ จากหาร 500 เป็นหาร 100 ส่งผลให้ “พรรคการเมืองใหญ่” ค่อนข้างได้เปรียบ ต่างกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่ “พรรคใหญ่” เสียเปรียบเต็มๆ จน “พรรคเพื่อไทย” ต้องใช้ยุทธวิธีแตกแบงก์พัน สร้างพรรคเครือข่ายขึ้นมา แต่เมื่อ “พรรคไทยรักษาชาติ” ถูกยุบ ก็ทำให้คะแนนหายไปเป็นจำนวนมาก
และด้วยจำนวนบัตรและสูตรคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ เอื้อให้กับ “พรรคใหญ่” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “พรรคเพื่อไทย” จึงประกาศแลนด์สไลด์เต็มอัตราศึก ส่วน “พรรคเล็ก” เมื่อกติกาไม่เอื้อเหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ก็ได้มีการปรับแผนด้วยการควบรวมกัน เป็นต้น
และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน Nation Online จึงได้รวบรวม “ความแตกต่างของเลือกตั้งปี 2562 กับการเลือกตั้งปี 2566” มาให้เห็นภาพชัดๆ ดังต่อไปนี้