23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในวิชา PO368 การบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนเมือง”
โดยเน้นการถ่ายทอดสิ่งที่คณะก้าวหน้าได้ประสบการณ์มาจากการร่วมขับเคลื่อนนโยบายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่ง และตัวแบบจากต่างประเทศที่มีการปกครองท้องถิ่นที่ก้าวหน้ากว่า โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ที่คณะก้าวหน้าเพิ่งได้นำคณะนายกจากหลาย อปท. ที่ทำงานร่วมกันไปศึกษาดูงานมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ระหว่างการบรรยายช่วงหนึ่ง ธนาธร ระบุว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ท้องถิ่นในประเทศไทยสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้น้อยกว่าท้องถิ่นในต่างประเทศมาก เพราะไม่มีทั้งอำนาจ ไม่มีอิสระ และไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ อีกทั้งยังถูกกดทับจากราชการส่วนกลาง ที่เป็นแบบเดิมมาตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในปี 2435
แม้จะมีความพยายามกระจายอำนาจ พร้อมกับการเกิดขึ้นของ อปท. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว แต่โครงสร้างการปกครองส่วนกลาง ก็ยังคงมีอำนาจเหนือกว่า อปท. ในทุกระดับ
จากการที่ตัวเองได้ทำงานร่วมกับ อปท. มาหลายแห่ง ได้มองเห็นข้อจำกัดของ อปท. ในด้านเหล่านี้มาโดยตลอด ได้เห็นภาพของ อปท. หลายแห่งที่เหลืองบประมาณลงทุนปีหนึ่งๆ แค่ 3 ล้านบาท แต่ต้องแก้ปัญหาให้ 10 หมู่บ้าน ไม่มีแม้แต่อำนาจและงบประมาณไปสร้างสะพานลอยในพื้นที่ สร้างหรือเสริมถนนได้แค่ปีละกิโลเมตร ทำน้ำประปาไม่ได้ ทำไฟฟ้าเพื่อการเกษตรไม่พอ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่ อปท. ไม่มีทั้งอำนาจและงบประมาณ ที่ถูกกองทิ้งไว้ที่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้ อปท. ต้องวิ่งเต้นขอให้ส่วนกลางอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมมาให้
ธนาธร ยังกล่าวต่อไปว่า จากการที่ตัวเองและคณะได้ไปศึกษาดูงานและร่วมพูดคุยกับนายกเทศมนตรีในญี่ปุ่นมาหลายเมือง ทุกคนต่างตกใจเมื่อได้รับรู้ว่า อปท. ในประเทศไทยที่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย มีจำนวนส่วนน้อยมาก เพราะทุกเมืองในญี่ปุ่นจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติทุกเมือง และยิ่งตกใจเมื่อรู้ว่าน้ำประปาในท้องถิ่นแทบทุกที่ของประเทศไทยยังมีปัญหาคุณภาพ เพราะน้ำประปาญี่ปุ่นดื่มได้มา 40 กว่าปีแล้ว โดยอยู่ภายใต้การดูแลของท้องถิ่นทั้งสิ้น
พร้อมกันนั้น ธนาธร ยังได้ยกรูปธรรมของการบริหารจัดการเมืองของญี่ปุ่นกับไทย ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง โดยกล่าวถึงโอซาก้า ซึ่งเป็นเมืองอันดับสองของญี่ปุ่น มีรถไฟฟ้าในเมืองที่ดูแลโดยบริษัทโอซาก้าเมโทร ถือหุ้นโดยเทศบาลเมืองโอซาก้าโดยสมบูรณ์ จัดการบริการขนส่งสาธารณะในเมืองของตัวเองได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องขออนุญาตจากโตเกียว
แต่ในกรณีเช่นนี้ประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะนอกจากต้องขอใบอนุญาตทำบริการขนส่งสาธารณะ ที่กรมการขนส่งทางบกแล้ว ยังต้องขออนุญาตในเรื่องต่างๆ สารพัดจากหลายหน่วยงานของรัฐ
แม้ปัจจุบันหลายเมืองในประเทศไทย จะมีความคิดริเริ่มทำระบบขนส่งสาธารณะของตัวเองขึ้นมาแล้ว เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น แต่ด้วยอุปสรรคจากรัฐราชการส่วนกลางเช่นนี้ จึงทำให้โครงการไม่ได้เริ่มต้นเสียที และฟันธงได้เลยว่า ในอีกห้าปีข้างหน้าก็จะยังไม่ได้ทำ
ธนาธร ยังได้ยกให้เห็นอีกตัวอย่าง นั่นคือ เรื่องของอิสระทางการเงิน เช่น การออกพันธบัตรโดยรัฐบาลระดับท้องถิ่น ที่ในญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่มาก ท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถริเริ่มระดมทุนจากประชาชนได้ ในวันที่ท้องถิ่นต้องการพัฒนาเมืองในด้านใดด้านหนึ่ง นี่คือ ความสวยงามเมื่อเมืองมีอิสระ แต่ที่ประเทศไทยกลับไม่สามารถทำได้
หรือแม้แต่การพัฒนาการท่องเที่ยว ที่เมืองหนึ่งที่ชื่อว่า โยโกเสะ ในจังหวัดไซตามะ ที่ประสบปัญหาเหมือนกับหลายเมืองในญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศสูงอายุ อัตราประชากรเกิดใหม่น้อย ก่อนหน้านึ้กำลังจะมีการปิดสถานีรถไฟประจำเมือง เพราะผู้โดยสารน้อย นายกเทศมนตรีกับประชาชนจึงมาหารือกัน ได้ออกมาเป็นข้อเสนอให้เมืองพัฒนาด้านหลังของสถานี
ซึ่งเป็นภูเขา ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีการทำเป็นสวนน้ำแข็ง ซึ่งในที่สุดก็ช่วยให้รักษาสถานีรถไฟเอาไว้ได้ ทำให้เมืองมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนมาก และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้ด้วย
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า นี่คือสิ่งที่เกิดได้ เพราะความเป็นอิสระของเมือง ไม่มีเพดานคือ รัฐราชการส่วนกลางที่มากดเอาไว้ไม่ให้อิสระแก่ท้องถิ่นในการคิดสร้างสรรค์ เป็นการบริหารโดยเมืองใครเมืองมัน อีกทั้งยังมีอิสระทางการเงินจากการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรม เช่น ภาษีรายได้บุคคลที่ญี่ปุ่น จะมีการแบ่งการจัดเก็บตั้งแต่ต้นทาง โดยแบ่งเป็นเข้ารัฐบาลกลาง 2.16% เข้าท้องถิ่นระดับจังหวัด 2.63% และเข้าท้องถิ่นระดับเมือง 3.95%
ซึ่งต่างจากประเทศไทย ที่ภาษีส่วนใหญ่ ล้วนแต่จ่ายตรงเข้ารัฐบาลส่วนกลางทั้งหมด กองไว้แล้วค่อยให้ท้องถิ่นวิ่งเต้นมาขอภายหลัง
“การที่เมืองท้องถิ่นในประเทศไทยถูกแช่แข็ง ไม่สามารถพัฒนาได้มาเป็นสิบๆ ปี นี่ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก ไม่ใช่เพราะประเทศไทยไม่มีคนเก่ง แต่เป็นเรื่องของระบบที่เป็นอยู่ ปัญหาที่มันขึ้นทุกที่ทั้วประเทศ แล้วยังเป็นมาอย่างยาวนาน มันจะไม่ใช่เรื่องของระบบได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยไม่แก้ไขโครงสร้างเรื่องนี้ เราจะแก้ไขเรื่องความไม่พัฒนาของเมืองไม่ได้เลย” ธนาธร กล่าว