ในช่วงที่ฝุ่นการเมืองกำลังตลบ เหล่า ส.ส.ย้ายพรรคกันจ้าละหวั่น อีกกลุ่มการเมืองที่ยังสงบนิ่ง แต่ก็ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ นั่นก็คือ สามมิตร ที่มีแกนนำ 3 คนได้ แก่ สมศักดิ์ เทพสุทิน , สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอนุชา นาคาศัย
โดยเมื่อไม่นานมานี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ให้สัมภาษณ์แบบแทงกั๊กว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะอยู่พลังประชารัฐ ของลุงป้อม หรือจะไปร่วมสร้างดาวดวงใหม่กับบิ๊กตู่ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ก็ยืนยันว่า ไม่ย้ายขั้วอย่างแน่นอน ซึ่งในที่นี้ก็น่าจะหมายถึงการไม่กลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
แต่คาดว่าระหว่างนี้ทางสามมิตรกำลังอยู่ในช่วงประเมินสถานการณ์อย่างหนัก โดยการตัดสินใจอยู่ต่อ หรือย้ายออกจากอ้อมอกของบิ๊กป้อม ตัวแปรสำคัญก็คือ ชายที่ชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
บัญชีแค้น สามมิตร VS ธรรมนัส
ย้อนไปเมื่อกลางปี 2563 กลุ่มสี่กุมาร ซึ่งประกอบด้วย อุตตม สาวนายน , สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ , สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ถูกกลุ่มสามมิตร กับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ผลึกกำลังกันโค่นอำนาจ จนสี่กุมารต้องหลุดจากตำแหน่งสำคัญในพลังประชารัฐ ก่อนที่กลุ่มสามมิตรและธรรมนัส จะดันบิ๊กป้อมขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนอนุชา นาคาศัย ตัวแทนของกลุ่มสามมิตร ก็ได้รางวัลสมนาคุณเป็นเลขาธิการพรรค
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ธรรมนัสก็เดินเกมโหดบดขยี้กลุ่มสามมิตร จนสามารถเขี่ยอนุชาตกจากเก้าอี้เลขาธิการพรรคได้สำเร็จ แล้วตัวเองก็ก้าวขึ้นเป็นเลขาฯ พรรค คู่บุญบิ๊กป้อมนับจากนั้น อีกทั้งต่อมายังมีการเปลี่ยนตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในหลายเขต จากโควต้าของสามมิตร ให้เป็นของกลุ่มธรรมนัส ทำให้เวลานั้นกลุ่มสามมิตรต้องกลืนเลือดไปหลายกระอัก
แต่ด้วยชั่วโมงบินที่สูงของเหล่าแกนนำ แม้จะถูกรุกไล่และกดดันอย่างหนัก สามมิตรก็ยังคงปักหลักในพลังประชารัฐ เพื่อรอวันเอาคืนธรรมนัสให้สาสม
สามมิตร ผลึกกำลังบิ๊กตู่ เปิดเกมขยี้ธรรมนัส
กระทั่งต่อมาในปี 2564 เมื่อธรรมนัสพลาดท่า ไม่สามารถสอยบิ๊กตู่ให้ตกจากเก้าอี้นายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามแผนการที่วางไว้ได้ กลุ่มสามมิตรก็ประกาศเป็นแนวร่วมบิ๊กตู่ในการบดขยี้โจทก์เก่าให้หายแค้น ทำให้ธรรมนัสถูกปลดฟ้าผ่าจาก รมช.เกษตรฯ ก่อนพยายามไล่ต้อนให้ตกเก้าอี้เลขาธิการพรรคต่อไป
แม้ธรรมนัสจะสามารถรักษาเนื้อรักษาตัวรอดมาได้ แต่คนของบิ๊กตู่ในพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงกลุ่มสามมิตรก็ไล่ขยี้ไม่เลิกลา และถูกกดดันให้แสดงความรับผิดชอบจากความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งซ่อมชุมพรกับสงขลา เมื่อช่วงต้นปี 2565
เมื่อโดนไล่บี้หนักๆ เข้า ธรรมนัสจึงเดินเกมให้ตัวเองกับพวกถูกขับออกจากพรรค เพื่อรักษาสถานภาพ ส.ส. โดยมีพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นพรรครับรอง
อยู่ต่อ หรือไปอยู่กับตู่ ?
แม้ธรรมนัสจะออกจากพลังประชารัฐไปแล้ว แต่ว่ากันว่า สายสัมพันธ์ระหว่างเขากับบิ๊กป้อมยังคงแนบแน่น และมีแนวโน้มว่า เขาอาจจะ (ย้ำนะว่าอาจจะ) กลับมาช่วยบิ๊กป้อมสู้ศึกเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งการกลับมาหรือไม่กลับมาของธรรมนัสนี่แหละ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของสามมิตรว่าจะอยู่ต่อ หรือไปอยู่กับตู่ ?
ถ้าเขามา ฉันจะไป ?
ซึ่งถ้าบิ๊กตู่เลือกอยู่จนครบวาระ ส.ส.ที่จะย้ายพรรคก็มีเวลาที่จะลาออกจากพรรคเดิม แล้วเข้าสังกัดใหม่ภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ แต่ถ้าบิ๊กตู่เลือกยุบสภา ส.ส.ที่จะย้ายพรรค ก็มีเวลา 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง โดยกรอบวันเลือกตั้งกำหนดไว้ 45 – 60 วันหลังจากยุบสภา
ซึ่งจากการประเมินของเหล่า ส.ส. และกูรูทางการเมือง ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า บิ๊กตู่จะเลือกยุบสภาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือก่อนครบวาระในวันที่ 24 มีนาคม สัก 1 - 2 สัปดาห์ เพราะจะสร้างความได้เปรียบให้ตัวเองในฐานะนายกฯ รักษาการระหว่างการเลือกตั้ง ต่างจากการอยู่จนครบวาระ ที่จะทำให้บิ๊กตู่และคณะรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจใดๆ ระหว่างการเลือกตั้งเลย
ดังนั้นแล้ว สามมิตรจึงประเมินว่า ยังพอมีเวลาตัดสินใจ ถ้าเขามา (ธรรมนัส) ฉันก็จะไป... แต่การเมืองไทยก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะเป้าหมายของสามมิตรคือ ต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น สอดคล้องกับการคอนเฟิร์มของบิ๊กป้อม “อยู่พรรคอื่นไม่แน่ แต่อยู่พลังประชารัฐ หลังเลือกตั้งครั้งใหม่ ได้เป็นรัฐบาล 100 %”