Highlights
--------------------
ปัจจุบันความนิยมของเทคโนโลยี VR หรือ Virtual reality มีแต่จะเพิ่มขึ้น ภายหลังการเปลี่ยนเข้าสู่ Metaverse ของ Facebook ที่ลงทุนรีแบรนด์ของตัวเองเป็น Meta ให้สอดคล้องต่อแนวทางนับจากนี้ เช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากพากันให้ความสนใจ เริ่มขยับขยายต่อยอดเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่
ประโยชน์ของ Virtual reality มีหลากหลายรูปแบบและนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแว่น VR จากเดิมเป็นเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับเกมเมอร์ปัจจุบันกลับได้รับความสนใจจากหลายวงการ ทั้งในด้านการเรียนรู้ ท่องเที่ยว นัดพบคนที่อยู่ไกล จนถึงส่งเสริมการขาย สร้างรูปแบบการนำเสนอใหม่ขึ้นมากมายขยายความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด
แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะน่าทึ่งเพียงไรสุดท้ายยังมีข้อเสีย ดังนั้นจึงมีข้อควรระวังบางประการที่เราต้องรู้ล่วงหน้าก่อนจะใช้งาน เพื่อจะได้ลดผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
รูปแบบอุปกรณ์ VR ในปัจจุบัน
ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องอธิบายก่อนว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าสู่ Virtual reality ปัจจุบันอยู่ในรูปแบบแว่นตาไว้สำหรับฉายภาพสามมิติออกมาให้ผู้สวมใส่ มีหูฟังหรือลำโพงติดตั้งไว้กับตัวแว่นช่วยให้ผู้ใช้งานได้ยินเสียงจากวิดีทัศน์ที่กำลังฉาย เพื่อเพิ่มความสมจริงและบรรยากาศที่ผู้ใช้งานสัมผัสในช่วงเวลานั้น
ปัจจุบันรูปทรงของแว่น VR จำนวนมากยังมีขนาดค่อนข้างใหญ่จากการอาศัยจอเพื่อฉายภาพสามมิติ โดยมากจะมีลักษณะดูคล้ายกล้องส่องทางไกลหรือแว่นกันน้ำขนาดใหญ่ที่มีสายรัดหัวเพื่อให้กระชับไม่ตกหล่น อาจมาพร้อมคันบังคับขนาดเล็กช่วยให้สามารถบังคับหน้าจอได้สะดวก
ด้วยขนาดอันใหญ่โตของตัวแว่นประกอบกับการแสดงผลทางหน้าจอค่อนข้างมาก ทำให้แว่น VR ขาดความคล่องตัวในการใช้งาน แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการพัฒนาให้แว่น VR ไม่ต้องต่อสายพ่วงจำนวนมาก หรือบังคับเชื่อมคอมพิวเตอร์แบบในอดีต แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านแบตเตอรี่ทำให้มีเวลาใช้งานที่จำกัด
นั่นยังไม่เท่าผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้งาน เหมือนกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเมื่อมีการใช้งานเป็นระยะเวลานาน สิ่งตามมาคือผลกระทบทางสุขภาพรูปแบบใหม่ที่มนุษย์เราต่างไม่เคยพบ ตั้งแต่อาการออฟฟิศซินโดรม จอประสาทตาเสื่อม นิ้วล็อก ฯลฯ
แต่ปัญหาที่ตามมาจากการมาถึงของเทคโนโลยี Virtual reality จะยิ่งซับซ้อนและอาจมีอันตรายมากกว่านั้นเสียอีก
"Motion sickness" อาการที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้งานแว่น VR
Motion sickness คือ ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว เกิดจากภาพที่เรามองเห็นไม่สัมพันธ์ต่อการรับรู้ เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ร่างกายเรานั่งอยู่กับที่แต่ประสาทสัมผัสอื่นรับรู้ว่ามีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องสวนทางกับร่างกาย เมื่ออาการเหล่านี้หนักขึ้นจะนำไปสู่อาการมึนงง ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก วิงเวียน คลื่นไส้ ไปจนถึงอาเจียน
หรืออันที่จริงเราจะรู้จักอาการเหล่านี้ในฐานะของอาการเมารถและยานพาหนะทุกชนิดนั่นเอง
แน่นอนว่าอาการเหล่านี้ไม่ได้จำกัดแค่คนเดินทางบนยานพาหนะ สำหรับเกมเมอร์เองนี่ก็เป็นอาการที่ผู้เล่นหลายคนคุ้นเคย มักเกิดขึ้นกับผู้เล่นเกม First person shooting(FPS) หนึ่งในแนวเกมที่อาศัยความรวดเร็วฉับไวในการบังคับตอบสนองจากมุมมองแทนภาพตัวเราด้วยการเคลื่อนไหวอันรวดเร็ว จึงสามารถเกิดอาการเหล่านี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ
ปัญหาอยู่ตรงนี้เองเมื่อมีกรณีตัวอย่างจากเกม FPS มาก่อน ชวนตั้งคำถามว่าการใช้งานแว่น VR จะส่งผลแบบเดียวกันหรือไม่ ในเมื่อรูปแบบการแสดงผลจากจอภาพที่เราเห็นแทบไม่มีความแตกต่าง ทั้งยังมีลักษณะแนบชิดดวงตาจนอาจเกิด Motion sickness ได้ง่ายกว่าการเล่นเกมหรือโดยสารยานพาหานะเสียอีก
ส่วนนี้อาจเป็นผลมากขึ้นเมื่ออุปกรณ์ชนิดนี้แพร่หลายวงกว้าง คนที่มีอาการเหล่านี้ย่อมมากขึ้น อาจทำให้ผู้ใช้งานที่เกิดอาการ Motion sickness ไม่สามารถใช้งานแว่น VR ได้นานนัก หรืออาจทำให้ผู้ใช้งานบางกลุ่มไม่สามารถใช้งานอุปกรณ์ชนิดนี้เลยก็เป็นได้
ผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อมีการใช้งานแว่น VR เป็นเวลานาน
สำหรับในประเทศไทยอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานรวมถึงความนิยมในอุปกรณ์ชนิดนี้ยังไม่มากนัก อีกทั้งราคายังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพบ้านเรา แต่สำหรับประเทศต้นทางอย่างสหรัฐฯหรือชาติในยุโรป อุปกรณ์ชนิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนเข้าแทนที่อุปกรณ์จำพวก IPAD และ Tablet นั่นทำให้เริ่มมีรายงานผลกระทบสุขภาพ
จากรูปแบบของแว่น VR ที่จำเป็นต้องทำการสวมหัวรับเข้าใบหน้า ผู้ใช้งานจึงต้องแบกน้ำหนักเพิ่มเติมจากเดิมมาก แม้ปัจจุบันน้ำหนักตัวเครื่องจะถูกปรับปรุงให้ลดลงมากแต่ยังสามารถเกิดผลกระทบได้เมื่อมีการใช้งานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเกม VR ที่มีการตอบสนองกับผู้ใช้ค่อนข้างมาก
ต้องเข้าใจก่อนว่ารูปแบบการเล่นเกม VR แตกต่างจากเกมคอมพิวเตอร์จนถึงคอนโซลทั่วไป จากเดิมที่เคยอาศัยคันบังคับ คอนโทรลเลอร์เฉพาะ หรือเมาส์และคีย์บอร์ด เปลี่ยนมาเป็นการบังคับผ่านมือรวมถึงเซนเซอร์ที่ติดไว้กับร่างกาย ทำให้เกมบน VR จำนวนมากอาศัยการตอบสนองร่างกายในการควบคุม
แน่นอนส่วนนี้มีข้อดีอย่างยิ่งกับกลุ่มเกมเมอร์ผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย เกมเหล่านี้อาจเป็นเกมในฝันช่วยให้เราทั้งสนุกเพลิดเพลินและออกกำลังกายไปพร้อมกันได้ แต่การเคลื่อนไหวร่างกายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อมีการเล่นเกม VR เป็นระยะเวลานานติดต่อกันมากเกินไป
กรณีตัวอย่างเกิดขึ้นในเยอรมนีพบชายหนุ่มวัย 31 ปี ที่เล่นเกมดนตรีบน VR ราว 1-4 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน จนเขาต้องเข้ารับการตรวจเมื่อมีอาการเจ็บไหล่ทั้งที่ไม่ได้หกล้มหรือได้รับบาดเจ็บใดๆ ก่อนเอ็กซเรย์พบว่ากระดูกคอข้อ C7 ของเขาเสื่อมและแตกจนต้องเข้าเฝือกคอถึง 6 สัปดาห์ อีกทั้งใช้เวลาพักฟื้นนานถึง 12 สัปดาห์ทีเดียว
อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในการใช้งานแว่น VR
ต่างจากกรณีกระดูกคอแตกอย่างที่พูดถึงข้างต้น อีกสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้งานหรือเล่นเกม VR คือ โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น ทั้งต่อผู้ใช้งาน คนรอบข้าง รวมถึงข้าวของในบ้าน จากการขยับตัวและเคลื่อนไหวร่างกายต่อเนื่อง แต่ประสาทสัมผัสของผู้ใช้กลับตัดขาดจากโลกภายนอก จึงมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ส่วนนี้ได้รับการยืนยันจาก Aviva บริษัทประกันภัยรายใหญ่ของอังกฤษ เปิดเผยสถิติของบริษัทว่ามีการเคลมความเสียหายจากผู้ใช้งานแว่น VR มากขึ้น 31% ในช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งในช่วง 5 ปีมานี้ยอดการเคลมยังเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 68% เลยทีเดียว
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ ทีวีพัง เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นภายในบ้านเสียหายจากความไม่ตั้งใจ ไปจนถึงการเดินชนกำแพง สะดุดล้ม เผลอไปถูกคนอื่นภายในห้อง ฯลฯ ทั้งหมดเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายแต่ตัวเราตัดขาดจากโลกภายนอก ทำให้บางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลและทรัพย์สินโดยไม่ตั้งใจ
แม้ในปัจจุบันมันจะจบลงในลักษณะเรื่องขำขันเป็นส่วนมาก แต่ก็จำเป็นต้องหาทางป้องกันเหตุการณ์นี้ไว้ด้วยเช่นกัน
แนวโน้มการพัฒนาอุปกรณ์ VR ในอนาคต
แน่นอนเมื่อบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกพากันให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้จึงเริ่มมีการพัฒนาที่กว้างขวาง ทุกเจ้าต่างแข่งขันเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองเข้าถึงผู้ใช้งาน ทำให้คุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดดีขึ้นตามลำดับ จึงเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์ VR ในอนาคตจะพัฒนาจนลดผลกระทบเหล่านี้ได้
ปัจจุบันแว่น VR ถูกพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาและขนาดกะทัดรัดมากยิ่งขึ้น เริ่มมีแว่นขนาดใกล้เคียงแว่นดำน้ำขนาดเล็กหรือแว่นกันลมออกมาให้ใช้งาน รวมถึงน้ำหนักที่ใช้งานเองก็ลดลง ช่วยให้สามารถใช้งานได้ยาวนานรวมถึงพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่าเก่า
แน่นอนว่าแว่นขนาดเล็กหลายรุ่นยังมีข้อจำกัดการทำงานไว้ใช้สำหรับเสพคอนเท้นท์เป็นหลัก ไม่สามารถนำมาใช้เล่นเกมแบบแว่น VR ขนาดใหญ่ได้ก็ตาม แต่ก็ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ให้แก่อุปกรณ์ VR ว่า ในอนาคตอาจมีแว่น VR ที่สามารถพัฒนาให้ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานสูง มีขนาดเท่าแว่นสายตาหรือแว่นกันแดดทั่วไปก็เป็นได้
ยากจะคาดเดาว่าอนาคตของวงการแว่น VR จะไปไกลถึงไหน แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้น สิ่งที่เราต้องตระหนักตอนนี้คือเทคโนโลยี Virtual reality เองก็มีพิษภัยซ่อนเร้น จำเป็นต้องเฝ้าระวังให้ดียามใช้งานอุปกรณ์ VR ทั้งหลาย เพราะเราได้เห็นตัวอย่างกันแล้วว่าอุบัติเหตุและผลกระทบต่อสุขภาพของอุปกรณ์เหล่านี้เป็นแบบไหน
และแน่นอนว่าเราเองก็ไม่อยากเป็นกรณีตัวอย่างให้ใครมาศึกษาแบบนี้เช่นกัน
--------------------
ที่มา