Highlights
--------------------
ช่วงปีที่ผ่านมาประเด็นที่ผู้คนพากันให้ความสนใจสูงสุดย่อมเกี่ยวข้องกับโรคระบาดและการแพทย์ หลังเชื้อโรคร้ายคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปนับล้าน บังคับให้ผู้คนต้องเว้นการรวมตัวรักษาระยะห่าง เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปตลอดกาล สร้างผลกระทบใหญ่หลวงแก่ผู้คนเกือบทุกชนชั้น
แต่นั่นไม่ใช่แค่ปัญหาเพียงอย่างเดียวที่เกิดขึ้นภายในปีนี้ นอกจากโรคระบาดอีกสิ่งที่ผู้คนต้องหันมารับมือกันจริงจังคือภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นวงกว้าง เริ่มมีผู้สังเกตเห็นผลกระทบแต่นับเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย อีกทั้งยังไม่น่ากลัวเท่าสิ่งที่กำลังจะตามมานับจากนี้
ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่ทวีความถี่และรุนแรงขึ้นทุกปี
สำหรับหลายท่านอาจกลายเป็นข่าวชาชินหรืออาจไม่ให้ความสนใจนัก ด้วยภัยธรรมชาติคือสิ่งที่เกิดเป็นประจำอยู่ทุกปีแต่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานับว่าปีนี้เป็นความรุนแรงคนละระดับ สังเกตได้จากผลกระทบและความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ตั้งแต่
คลื่นความร้อน
นี่คือหนึ่งในปัญหาที่หนักหนาขึ้นทุกปี ความแปรปรวนทางสภาพอากาศยิ่งร้ายแรงส่งผลให้คลื่นความร้อนทวีความรุนแรง นอกจากตรงเข้ารบกวนการใช้ชีวิตรวมถึงสุขภาพเราโดยตรง ยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและเป็นต้นเหตุของภัยธรรมชาติอื่นตามมา
คลื่นความร้อนในปีนี้ทำให้อุณหภูมิในอุทยานแห่งชาติ เดธ วัลเลย์ ในสหรัฐฯพุ่งไปถึง 54.4 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับกรีซที่อุณหภูมิพุ่งไปถึง 47.1 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่รัสเซียที่เป็นเมืองหนาวยังอุณหภูมิสูงถึง 34.1 องศาเซลเซียส เรียกว่าหลายประเทศเข้าสู่เขตร้อนกันทั่วหน้า
ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความแปรปรวนทางสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบร้ายแรงตามมา
ไฟป่า
เมื่ออุณหภูมิจากอากาศตามธรรมชาติมีอุณหภูมิสูงขึ้น สิ่งตามมาคือการเกิดเพลิงไหม้ได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟป่า สภาพอากาศร้อนอบอ้าวแห้งแล้งขาดความชุ่มชื้นตามธรรมชาติโอกาสเกิดจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ และเมื่อเกิดไฟป่าขึ้นครั้งหนึ่ง อุณหภูมิที่สูงจากเปลวเพลิงยังเพิ่มโอกาสให้ปัญหาลุกลามขยายวงกว้างขึ้นอีก
เหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมาตัวอย่างเช่น ไฟป่าในรัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา หลังการมาถึงของคลื่นความร้อนทำให้เกิดการลุกไหม้ นำไปสู่ผู้เสียชีวิตกว่า 719 คน, ไฟป่าในทวีปยุโรปที่เริ่มจากตุรกี ลุกลามไปยังกรีซ แอลจีเรีย สเปน จนถึงอิตาลี หรือเหตุการณ์ไฟป่าในไซบีเรียที่กินพื้นที่ไปกว่า 6,437 ตารางกิโลเมตร เป็นต้น
น้ำท่วม
ภัยพิบัตินี้เป็นผลกระทบจากการขยายตัวคลื่นความร้อน เมื่อพื้นที่หนาวเย็นอย่างไซบีเรียหรือแคนาดาเกิดร้อนอบอ้าว ไอน้ำและมวลอากาศเย็นจึงถูกพัดพาไปที่อื่น เป็นผลให้มีโอกาสที่เมื่อถึงฤดูมรสุมจะเกิดฝนตกน้ำท่วมรุนแรง ด้วยปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมในหลายพื้นที่
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน กับน้ำท่วมจากฝนตกครั้งใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 302 คน ส่งผลกระทบต่อผู้คนอีก 13 ล้านชีวิต ด้วยมวลน้ำจากการตกเพียง 3 วันที่มากเท่าฝนตกตลอดทั้งปี หรือน้ำท่วมใหญ่ในทวีปยุโรปที่กินพื้นที่ทั้งในฝั่งเบลเยียม เยอรมนี รวมถึงอิตาลี นับเป็นภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว
ภัยแล้ง
อีกหนึ่งภัยพิบัติที่ตามมาจากความแปรปรวนทางสภาพอากาศ เมื่อเกิดอุณหภูมิสูงทำให้ความร้อนสะสม พัดพาเอาน้ำหายไปไม่ตกกลับลงมาเป็นฝน ทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำจนประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่วนนี้ส่งผลต่อทั้งการอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตร หรือแม้แต่การผลิตสินค้า
พื้นที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในปีนี้คือแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะบราซิล ปารากวัย และอาร์เจนตินา ที่เข้าจุดวิกฤติจนทำให้เขื่อนสำรองน้ำใกล้แห้งขอด ส่งผลกระทบไปถึงการผลิตไฟฟ้า แม่น้ำปารานาที่เป็นแม่น้ำสายหลักยังลดระดับต่ำสุดในรอบ 77 ปี ส่งผลต่อเส้นทางคมนาคมรวมถึงการขนส่งสินค้าอย่างร้ายแรง
ปัญหาฝุ่นละออง
อีกหนึ่งปัญหาที่อาจไม่ใช่ในทางตรงแต่ก็เป็นผลลัพธ์จากสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อสภาพอากาศผิดเพี้ยนกระแสลมหรือฝนที่ควรมีหายไป ผลที่ตามมาคือเมื่อเกิดการเผาไหม้สะสม ตะกอนกับฝุ่นละอองในอากาศจึงยังคงอยู่ไม่ถูกขจัดให้หมดไป พากันสะสมอยู่ในอากาศและสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นพิษต่อผู้คน
วิกฤตการณ์นี้เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลกที่มีอัตราการเผาไหม้สูง สอดคล้องกับบริเวณที่เกิดไฟป่าหลายครั้งอย่างกรีซ รัสเซีย หรือแคนาดา รวมถึงอินเดีย ที่ค่าฝุ่นละอองพุ่งสูงทะลุ 999 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้แต่ในประเทศไทยเองที่มักมีค่าฝุ่นละอองสะสมจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาว
ทั้งหมดคือภัยธรรมชาติและวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในรอบปีที่ผ่านมา หลายเหตุการณ์ตามปกติมักมีการกระจายข่าวกว้างขวางเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือ แต่ปีนี้ทุกอย่างต้องสะดุดเมื่อทุกประเทศต่างผจญวิกฤติการณ์ ทำให้ประเทศที่ประสบภัยพิบัติไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนมากนัก ซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก
สาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงและบ่อเกิดภัยพิบัติ เมื่อโลกกำลังส่งสัญญาณเตือน
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือภาวะโลกร้อน การแปรวปรวนของธรรมชาติกำลังย้อนกลับมาส่งผลกระทบถึงตัวเรา ร้ายแรงกว่าคือจากรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) แห่งสหประชาชาติ ยังบอกว่า ภัยพิบัติในวันนี้เป็นแค่บทโหมโรงของสิ่งที่กำลังจะตามมา
รายงานสภาพภูมิอากาศโลกและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบ่งชี้ชัดเจนว่า เวลาของมนุษย์เราในการแก้ปัญหาโลกร้อนกำลังจะหมดลง หากเราไม่เริ่มแก้ไขปัญหาโลกร้อนหาทางรับมือความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเสียแต่ตอนนี้ ทุกอย่างอาจสายเกินแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรอีก
คลื่นความร้อนต้นเหตุภัยพิบัติทั้งหลายภายในปีนี้จะมากกว่าเดิมราว 9.4 เท่า ไม่ต่างจากเหตุการณ์ฝนถล่มในประเทศจีนที่มีโอกาสเกิดมากขึ้น 2.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 1850 ก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และภายในสิ้นศตวรรษนี้ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่าเดิม 2 เมตร ส่งผลให้พื้นที่ตามแนวชายฝั่งอาจถูกน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน
หากปล่อยสถานการณ์ให้เป็นแบบนี้ต่อไป อุณหภูมิโลกอาจพุ่งสูงกว่าเดิมถึง 4 องศาเซลเซียส ผลักดันให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเกินจินตนาการเลยทีเดียว
นั่นคือเส้นทางยากจะหลีกเลี่ยงเมื่อวิเคราะห์จากแนวโน้มในปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญในอนาคต ต่อให้ทุกประเทศหันมาจริงจังในด้านสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ปัญหาก็ยังต้องเกิดขึ้น เพราะนี่คือผลพวงจากการกระทำของมนุษย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมันจะเลวร้ายยิ่งกว่าถ้าไม่เริ่มหยุดเสียแต่ตอนนี้
แสงแห่งความหวังอันริบหรี่ การประชุม COP26
ท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้าย การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ กับความพยายามในการแก้ไขปัญหาลดกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน โดยมีจุดหมายสำคัญในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส และลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050
โดยร่างสัญญาฉบับดังกล่าวมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 และให้ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มเงินช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเป็นจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงการแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นความสำคัญต่อปัญหาด้านสภาพแวดล้อมยิ่งขึ้น
แน่นอนว่ายังมีข้อติดขัดบางประการในการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการสร้างพลังงาน โดยเฉพาะประเด็นด้านยุติการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า รวมถึงการที่ข้อตกลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในการประชุมไม่มีผลบังคับทางกฎหมายใดๆ ปราศจากหลักประกันมายึดเหนี่ยวจนมีลักษณะเป็นแค่สัญญาใจมากกว่า
กระนั้นก็ตามจากท่าทีการจับมือของสหรัฐฯกับจีนเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน เห็นชอบในความร่วมมือจะลดการใช้ถ่านหิน ลดการปล่อยมีเทนและคาร์บอน เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด รักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน ก็ดูเป็นก้าวสำคัญที่พอให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นมาบ้าง
ถึงตอนนี้นอกจากคาดหวังว่านานาประเทศที่เข้าร่วมการประชุมจะเข้าใจ ตระหนัก และแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ตัวเราเองก็ควรเริ่มลดภาระแก่สิ่งแวดล้อม เริ่มปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ในการทำลายสิ่งแวดล้อมนี้เช่นกัน
และหากไม่เริ่มเสียแต่วันนี้บางทีอาจไม่มีโลกให้ตัวเราหรือลูกหลานได้ใช้ชีวิตอยู่อีกต่อไปก็เป็นได้
--------------------
ที่มา