Highlights:
--------------------
กลางดึกวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาในเวลาของประเทศไทย Google ได้เปิดตัวสมาร์โฟนเรือธงรุ่นใหม่ของตัวเองอย่าง Google Pixel 6 ที่มาพร้อมกับดีไซน์เรียบ ๆ แต่อ่อนหวานน่าดึงดูด และสิ่งที่น่าดึงดูดสำหรับผู้ใช้งานยิ่งกว่าใครเลย คือ Google Tensor ชิปรุ่นใหม่ที่ถูกออกแบบและปรับแต่งโดย Google เอง
อุณหภูมิในตลาดการแข่งขันสำหรับอุปกรณ์พกพานั้นร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แบรนด์ยักษ์ใหญ่ชื่อก้องโลกต่างหันมาใช้ชิปที่ผลิตด้วยตัวเอง ซึ่งต้องบอกว่าคลื่นลูกแรกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ นั้นมาจาก Apple ที่หันมาผลิตชิปใช้เอง แม้ว่า Samsung จะเป็นรายแรกที่อาจหาญก้าวเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ผลลัพธ์ของ Apple ที่เกิดขึ้นจากชิป M1 ที่มีพื้นฐานจากสถาปัตยกรรม ARM เหมือนกันนั้นกลับแทบพลิกโลกทั้งใบเมื่อชิปดังกล่าวถูกใช้ทั้งในอุปกรณ์พกพาอย่าง iPad Pro และคอมพิวเตอร์รุ่นสำหรับมือโปรอย่างตระกูล Mac ซึ่งสามารถเอาชนะสถาปัตยกรรม X86 ได้ในการใช้งานอย่างไม่เห็นฝุ่น ไม่ว่าจะงานตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงระดับ 4K ขึ้นไป
การรันระบบที่มีความซับซ้อนหนักหน่วงต่อการทำงานเครื่องก็ทำได้อย่างดี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ทำเอาเจ้าตลาดอย่าง Intel หน้าชาไปไม่น้อยเช่นกัน
จากชิปเรือธงเพื่อคนหมู่มากสู่การปรับแต่งเพื่อกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่
สาย IT และผู้รักเทคโนโลยีต่างรู้กันดีว่า Snapdragon จาก Qualcomm นั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับชิปที่มีอยู่มากมายหลายแบรนด์ในตลาดอุปกรณ์พกพา ซึ่ง Android รุ่นเรือธงต่าง ๆ ก็จะใช้ชิป Snapdragon ตัวท็อปของรุ่นประกบกับฟีเจอร์เด่นของตัวเองกันทั้งนั้น แต่ในการเปิดตัวสมาร์ทโฟน Android รุ่นล่าสุดจากผู้พัฒนาหลักอย่าง Google เองกลับทิ้ง Snapdragon และหันมาพัฒนาชิปของตัวเองซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ Apple เป๊ะ ๆ
เหตุผลจริง ๆ ในการเปลี่ยนสมองกลตัวสำคัญสำหรับสมาร์ทโฟนอาจจะไม่ได้ถูกเปิดเผยอย่างจริงจังในพื้นที่สาธารณะ แต่มีการคาดการณ์กันว่าอาจเป็นเพราะ Qualcomm ไม่สามารถอัพเดทระบบความปลอดภัยได้ยาวนานเท่าที่ Google ต้องการ ในขณะที่ส่วนใหญ่มุ่งไปที่แนวทางในอนาคตของ Pixel ที่ให้ความสำคัญกับ Machine Learning ในฐานะคุณค่าสำคัญของอุปกรณ์ที่จะเกิดขึ้นในยุคต่อ ๆ ไป
การที่แบรนด์ใหญ่เองเริ่มออกแบบและใช้งานชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ ของตัวเองนั้นย่อมหมายถึงทิศทางที่ชัดเจนของตัวผลิตภัณฑ์ เพราะการออกแบบด้วยตัวเองสามารถปรับแต่งค่าการทำงานต่าง ๆ และออกแบบ Ecosystem ที่มีความเสถียรสูงได้เป็นอย่างดี หมดปัญหาเรื่องการปรับจูนระบบเข้าด้วยกันไม่ว่าจะฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เพราะถูกออกแบบภาพรวมในแต่ละส่วนร่วมกันตั้งแต่ต้น
แต่หากดูภาพรวมดี ๆ แล้ว ทั้ง Apple และ Google ต่างหันมาใช้ชิปที่มีความสามารถของ AI กันทั้งสิ้น โดย Apple ใช้ Neural Engine ในขณะที่ Google ใช้ ML นั่นหมายความว่าตัวชิปประวลผลของทั้งคู่จะมีความฉลาดในการทำงานระดับสูง มีการเรียนรู้และแชร์ข้อมูลผ่าน Big Data จากพฤติกรรมการใช้งานจากทั้งสองแบรนด์ ซึ่งสิ่งนี้ Qualcomm ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตชิปแต่ไม่มีฐานข้อมูลเพียงพอที่จะผลักดันให้ใช้งานประสบการณ์เหล่านี้ได้ เหตุผลในการย้ายค่ายของทั้งสองยักษ์ใหญ่หลัก ๆ ที่เห็นตรงกันจึงเป็นเรื่องของการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดมหึมาที่ตัวเองมีกันทั้งคู่
และภายใต้เงื่อนไขของข้อมูลที่แตกต่างกัน พฤติกรรมกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ชิปที่จะรองรับกลุ่มผู้ใช้งานที่มี Personality ที่แตกต่างกันเหล่านี้ต้องเป็นชิปที่ถูกปรับแต่งมาเพื่อลักษณะของกลุ่มผู้ใช้เหล่านี้เท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าการทำไมการออกแบบชิปประมวลผลรุ่นใหม่จึงเกิดขึ้นกับค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งสอง
Why Tensor?
จากเหตุผลหลักที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้ Google Tensor นั้นจะให้ความสำคัญกับการใช้งาน AI และ Machine Learning ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่การค้นหาข้อมูล สนับสนุนการทำงานหรือระบบต่าง ๆ อาทิ การถ่ายรูป การนำทาง การแปลภาษา หรือแม้กระทั่งการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานเอง ทำให้การใช้งานอุปกรณ์ขนาดเล็กสามารถแสดงศักยภาพที่มหาศาลเกินกว่าขนาดของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์จำนวนมากหรือต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริมใด ๆ
แต่เจ้า Tensor นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงเพราะประโยชน์จาก AI เท่านั้น แต่ยังเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาของ Google เองที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลที่ได้รับ โดยโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2015 ซึ่ง Tensor เองก็เป็นชื่อของโครงการ Machine Learning นั้นทำให้เกิด TensorFlow ML ขึ้นมาและกลายเป็น Tensor Processing Unit ในเวลาต่อมา
Google Tensor นั้นถูกออกแบบบนแนวคิด System-on-Chip (SoC) ที่มีสถาปัตยกรรม ARM Cortex-X1 2 ตัว, ARM A76 2 ตัว และ A55 4 ตัว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ Snapdragon 888 แล้วชิปสมรรถนะสูงอย่าง Cortex-X1 นั้นใส่มาให้แค่ตัวเดียว ในขณะเดียวกัน GPU ก็ใช้สถาปัตยกรรม ARM ที่ประกอบด้วยคอร์มากถึง 20 ตัว ทำให้สามารถรับมือกับการเล่นเกมส์สุดโหดได้อย่างแน่นอน
ในส่วนของความปลอดภัย Google ได้ติดตั้งคอร์ Tensor Security ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่จะประมวลผลข้อมูลที่มีความอ่อนไหวแยกจาก CPU หลักพร้อมกับการใช้งานชิป Titan M2 ซึ่งป้องกันการโจมตียุคใหม่ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การวิเคราะห์คลื่นแม่เหล็ก (Electromagnetic Analysis) และ การก่อกวนผ่านแรงดันไฟฟ้า (Voltage Glitching) ที่ทำงานคู่กันกับ Tensor Security มั่นใจในความปลอดภัยทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ชัวร์ ๆ
ความสามารถจาก Google Tensor นั้นจะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะขั้นตอนต่าง ๆ ที่เคยใช้เวลาไม่ว่าจะเป็นการตรวจจับการเคลื่อนไหว การถ่ายภาพ ไปจนถึงการสื่อสารที่แตกต่างกันคนละภาษาก็จะถูกแปลได้ในพริบตา สามารถใช้ Automatic Speech Recognition (ASR) ได้อย่างแม่นยำ ซึ่ง Google มีการทดลอง Live Caption กับการบันทึกเสียงหรือภาพระยะยาวก็สามารถทำงานได้โดยใช้พลังงานไม่มาก
ฟังก์ชันอย่าง Live Translate สามารถใช้งานได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชันการสนทนาออนไลน์อย่าง WhatsApp หรือการขึ้นถ่ายทอดสดที่มีการแปลภาษาและแสดงออกไปทันทีด้วยตัวเครื่องเอง โหมดการถ่ายรูปและวิดีโอแบบใหม่ที่ชื่อว่า Motion Mode และ HDRNet ที่ทำให้การบันทึกวิดีโอในทุกโหมดนั้นเกิดขึ้นได้ในความละเอียด 4K 60 เฟรมต่อวินาที
แม้ว่ายังไม่มีผลการทดสอบ Benchmark ใด ๆ ออกมาในตอนนี้แต่ก็คาดการณ์ได้ว่า Google Tensor นั้นจะมีความสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารุ่นพี่ในตลาดอย่าง Snapdragon และหากชิปรุ่นใหม่นี้ประสบความสำเร็จสูงอาจต้องคอยจับตาดูกันต่อไปว่า Google เองจะปล่อยชิปนี้ให้กับแบรนด์สมาร์ทโฟนอื่น ๆ ไหม หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น Qualcomm อาจต้องทบทวนจุดแข็งของตัวเองใหม่และปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันที่มุ่งหน้าไปสู่ AI ในปัจจุบัน
เรื่องน่าเสียดายเรื่องเดียวที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ คือ Google Pixel 6 ทั้งรุ่นธรรมดาและ Pro ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยเสียที ถ้าใครอยากได้อยากลองใช้ก็คงต้องรอสั่งเครื่องหิ้วเอาจากร้านที่เชื่อใจได้เท่านั้นล่ะครับ!
ทศธิป สูนย์สาทร
ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี
--------------------
ที่มา: