2 มกราคม 2568 ความคืบหน้ากรณีที่ปรากฏในสื่อโซเชียลว่า ตำรวจนครบาล 3 มีการเรียกเก็บค่าคอร์สเข้าอบรม เป็นอาสาสมัครตำรวจบ้านกับชาวจีน โดยคิดราคาคอร์สละ 38,000 บาท นั้น ล่าสุด พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. ได้กำชับให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีหนังสือจากมหาวิทยาลัยสยาม ได้มีการจัดโครงการอบรมหลักสูตรแจ้งข่าวอาชญากรรม และให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองแก่นักศึกษาต่างชาติ โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมและขอความร่วมมือจาก กก.สส.บก.น.3 เป็นที่ปรึกษาแนะนำให้ความรู้ ทางตำรวจเห็นว่า การจัดอบรบดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งทาง กก.สส.บก.น.3 เห็นว่า มหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดการอบรม ใช้งบประมาณและสถานที่ตามที่มหาวิทยาลัยสยามกำหนด
นอกจากนี้ยังพบว่า ทางมหาวิทยาลัยได้มีหนังสือมายังกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เลขที่ 13DECC2567CHI1ac1 ลงวันที่ 13 ธ.ค.2567 โดยมี Dr.LI ZHANG ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม เป็นผู้ลงนาม ถึงการจัดทำโครงการฝึกอบรมนักศึกษา นานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม จำนวน 30 คน และขอความอนุเคราะห์จัดวิทยากรพิเศษบรรยาย โดยมี พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วงวงศ์ รอง ผกก.สส.บก.น.3 เป็นผู้ประสานงานและผู้ร่วมพัฒนาร่างโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า เป็นหนังสือจริงและเป็นหนังสือที่ออกโดยถูกต้องหรือไม่
โครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดอบรมและออกค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งมีการออกใบประกาศเกียรติคุณ ลงวันที่ 27 ธ.ค.2567 ให้แก่ผู้ผ่านการอบรมว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกแจ้งเหตุข่าวอาชญากรรม และ การจราจร ด้านการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและประชาชน ลงนามโดย Dr.LI ZHANG ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่าย กิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม และ ผกก.สส.บก.น.3
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องระเบียบ ตร. ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ.2551 นั้น ผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้าน หรืออาสาจราจร ต้องผ่านการคัดเลือกจากสถานีตำรวจ และสถานีตำรวจเป็นผู้จัดทำโครงการฝึกอบรม โดยมีการเกณฑ์การคัดเลือกจากผู้มีสัญชาติไทยและอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือชาวต่างชาติที่สมรสกับคนไทย และมีถิ่นที่อยู่อาศัยอันเป็นปกติในเขตพื้นที่สถานีตำรวจ ต้องมีการรับรองจากบุคคลที่เชื่อถือได้หรือตำรวจรวม 3 คน ปฏิบัติหน้าที่ได้คราวละ 2 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งทาง กก.สส.บก.น.3 ไม่ได้เป็นผู้จัดอบรมแต่อย่างใด
ทั้งนี้การใช้เครื่องหมายราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการใช้สัญลักษณ์ตัวอักษร CIB ระบุว่า ตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องทำการตรวจสอบว่า ได้รับอนุญาตให้ใช้หรือไม่ หากพบว่าผู้ใดมีการนำเครื่องหมายดังกล่าวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ฐานใช้เครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่กำหนดเครื่องหมาย ตามมาตรา 6 ประกอบ มาตรา 8 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท
พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น ผบก.น.3 ได้มีคำสั่ง บก.น.3 ที่ 1/2568 ลง 2 ม.ค.2568 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมี พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ วันที รอง ผบก.น.3 เป็นประธาน หากพบว่ามีการกระทำผิดวินัย จะได้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ บช.น. ย้ำว่า การอบรมให้ความรู้ในการแจ้งข่าวอาชญากรรมและในการป้องกันตัวเองแก่ประชาชน ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งสามารถขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปเป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป กฎหมายเบื้องต้น รวมทั้งทักษะในการป้องกันตัวได้ แต่ทั้งนี้ การที่จะเป็น อาสาสมัครตำรวจบ้าน หรือ อาสาจราจร จะต้องผ่านการฝึกอบรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีคุณสมบัติ ตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ.2551 เท่านั้น
รอง ผกก.สส.บก.น.3 แจง เป็นเพียงผู้ประสานงานอบรม ‘ตำรวจอาสา’ ไม่ได้วิทยากร
ด้าน พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วยวงศ์ รองผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ซึ่งเป็นบุคคลที่ปรากฏในรูปว่า เป็นคนมอบประกาศนียบัตร ชี้แจงว่า เรื่องนี้ เกิดจาก ทางมหาวิทยาลัยสยาม รับนักศึกษานานาชาติมา และปัญหาในอดีตของกลุ่มนักศึกษา มีทั้งการถูกล่วงละเมิด และการทำผิดกฎหมายเสียเอง เพราะไม่มีที่ปรึกษาในการช่วยเหลือตัวเอง ทางมหาวิทยาลัยจึงได้หาช่องทางในการจัดอบรมให้กับนักศึกษาเพื่อให้รู้กฎหมายเบื้องต้น ในการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น และการช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นสมาชิกแจ้งเหตุ ทั้งเรื่องการลักพาตัว การเรียกค่าไถ่ ทางตำรวจมองว่า โครงการแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาและประชาชน ในการจัดให้อบรม การป้องกันตัว และความรู้ทางกฎหมาย ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ได้เกี่ยวกับตำรวจ ตำรวจช่วยเหลือแค่เรื่องการประสานงานเท่านั้น
ยืนยันว่า ในวันดังกล่าวมีการจัดอบรมถายในมหาวิทยาลัย และตนไม่ได้เป็นคนไปให้ความรู้ ไม่ได้ไปเป็นวิทยากร แต่เพียงแค่ให้คำแนะนำในการประสานงาน ส่วนภาพมอบประกาศนียบัตร ตนเองก็เป็นตัวแทนฝ่ายตำรวจ ในการแจกประกาศนียบัตร เพราะมีผู้ช่วยอธิการบดี คนที่ทำหนังสือมา ก็ร่วมอบรมด้วย และหนังสือที่ส่งมาถึงหน่วย ก็มีเลขหนังสือ ส่วนตำแหน่งจะเป็นอาจารย์พิเศษ หรือมีตำแหน่งอะไร ในเชิงลึก ตนไม่ทราบ คงต้องเป็นทางมหาวิทยาลัยตรวจสอบกันเอง
เมื่อถามว่า ทำไมต้องข้ามพื้นที่ในการประสานงานตำรวจให้ไปอบรม พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ชี้แจงว่า ในหนังสือที่ส่งมามีการระบุว่า นักศึกษาบางส่วนก็อยู่ในพื้นที่ใกล้สนามบิน และในพื้นที่ บก.น.3 มาพักอาศัย และมีครอบครัวที่มาดูแลนักศึกษา ประกอบกับ สะดวกและง่ายต่อการประสานมาที่ตนเอง เพราะรู้จักเป็นการส่วนตัวด้วย จึงสะดวกต่อการประสานงาน ซึ่งยอมรับว่า ตนรู้จักเป็นการส่วนตัวทั้งอาจารย์ ทั้งนักศึกษา จึงประสานมา และตนไม่ได้ติดขัดอะไร และมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ไปให้ความรู้
“ยืนยันว่า เงิน 38,000 บาท ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องใดๆ ตนให้ความร่วมมือด้านการประสานงาน ให้คำปรึกษา ไม่ได้ไปเรียกเก็บ”
ส่วนเรื่องบัตรที่ออกให้ว่า เป็นบัตรสมาชิกแจ้งเหตุนั้น มองว่า เอกสารบางอัน เวลาทำหนังสือ การแปลภาษาอาจจะความหมายไม่ตรง แปลผิดแปลถูกหรือไม่ ซึ่งบัตรก็บ่งบอกถึงเขาเป็นสมาชิกในการแจ้งเหตุอาชญากรรมในการช่วยเหลือตัวเองและคนอื่น ยืนยันว่า ตำรวจไม่ได้เป็นคนออก แต่ทางมหาวิทยาลัยเป็นคนออก และตนทราบว่ามีการมอบบัตรให้ในวันที่ ตนไปมอบประกาศนียบัตร แต่ไม่คิดจะมีปัญหาอะไร ส่วนการออกแบบประกาศนียบัตร ซึ่งมีการใช้โลโก้ตำรวจนั้น มองว่า มหาวิทยาลัยออกแบบ และมองว่า ก็นำสัญลักษณ์ไปใช้ก็เป็นเรื่องทั่วไป ถ้าจะมองในแง่ลบก็สามารถมองได้ พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้ตำรวจไม่เกี่ยวกับเงิน 38,000บาท ส่วนกังวลหรือไม่ว่าจะถูกนำไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ บอกว่า ก็ว่ากันไป และยืนยันว่า เราเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเจตนาร้าย ส่วนใครจะไปใช้หาผลประโยชน์ ก็คงเป็นอีกประเด็น
ทั้งนี้กรณีที่ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ตนทราบแล้ว และได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้ว และ “ยืนยันในเจตนาว่าต้องการไปช่วยเหลือ ไม่ได้มีเจตนาไม่ดี และไม่ว่าหน่วยงานไหนขอความช่วยเหลือมาตนเองก็ไม่ได้ติดขัด” ส่วนรายละเอียดโครงการ หลังจากเจ้าของโครงการกลับมา ก็คงจะต้องสอบถามไปทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องของกิจการภายใน ที่ต้องตรวจสอบ ซึ่งตนเองไม่ได้ทราบรายละเอียด แต่ยืนยันได้ว่า ตำรวจไม่ได้มีเจตนาร้าย หรือไปเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ
รอง ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ ม.สยาม แจง ยัน ไม่เคยเก็บเงิน 38,000บาท
ด้าน ผศ.เวทิต ทองจันทร์ รองผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยผ่านทางโทรศัพท์ ว่า เบื้องต้นทราบเพียงว่า ฝ่ายประสานงานนักศึกษาจีน ได้มีการจัดอบรมล่ามภาษาจีน เพื่อช่วยเหลือตำรวจ มหาวิทยาลัยจึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดอบรม เนื่องจากเปิดพื้นที่ให้จัดกิจกรรมได้ และยืนยันว่า ทางมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีการเก็บเงิน ซึ่งตนได้สอบถามอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี ผ่านทางโทรศัพท์มาแล้วเนื่องจากเป็นวันหยุด ทำให้ทราบข้อมูลชัดเจนว่า ไม่มีการเก็บเงินแน่นอน และอธิการบดีก็ยืนยันว่า ไม่ได้มีการอนุญาตในการออกเอกสารด้วย เพราะเป็นแค่การอบรมให้กับนักศึกษา และคนที่สนใจที่รู้ภาษาจีน และภาษาไทยในการเป็นล่ามช่วยเหลือตำรวจได้
ส่วนมีการมอบประกาศนียบัตรให้จริงหรือไม่ ตอบว่า ไม่น่ามี ซึ่งที่ปรากฎตามภาพคงต้องถามกับคนที่มอบ เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย จึงทำให้ขณะนี้ยังไม่แน่ใจในรายละเอียดเชิงลึกด้วย เนื่องจากยังมหาวิทยาลัยยังปิดอยู่ในช่วงนี้ และทางมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมด้วย
ส่วนที่มีหนังสือมาจากทางผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัย ให้ตำรวจไปช่วยในการจัดอบรมนั้น ตนก็อยากเห็นเอกสารเช่นกัน จึงยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ และได้ประสานงานไปหลายฝ่ายแล้วยืนยันว่า ไม่มีการเก็บเงิน และไม่มีการออกเอกสารให้ใครนำไปใช้อะไรได้ แค่อนุเคราะห์ให้ใช้สถานที่จัดอบรม วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้คนที่มีความรู้ด้านภาษาจีนไปช่วยเหลือตำรวจได้เวลามีเหตุเท่านั้น
เมื่อนักข่าวของเราสอบถามชื่อกับตำแหน่ง ในเอกสารที่ส่งมายัง กองกำกับการสืบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล3 ว่า บุคคลนี้ มีจริงหรือไม่ ผศ.เวทิต ชี้แจงว่า ตนยังไม่เห็นเอกสาร และปกติ ผู้ช่วยอธิการบดี จะมีตำแหน่งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดี ซึ่งตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ’ ยืนยันว่า ไม่มีตำแหน่งนี้
ทั้งนี้ ตนทราบคร่าวๆ ว่ามีการจัดอบรม ส่วนใครคือจุดเริ่มต้นในการจัด ต้องขอตรวจสอบเอกสารก่อน เพราะช่วงสัปดาห์คริสต์มาส มหาวิทยาลัยมีการจัดงานจัดอบรมจำนวนมากเลย หลายคณะหลายภาควิชา จึงต้องมาดูรายละเอียดก่อน เราแค่ทราบว่ามีการจัดอบรมล่ามภาษาจีนเพื่อไปช่วยเหลือตำรวจมีจริง แต่ยังไม่เห็นเอกสาร โดยช่วง 25-27 ธ.ค.67 ยืนยันได้ว่า มีการขอว่าจัดกิจกรรม และไม่มีการเก็บเงิน ส่วนรายละเอียดเชิงลึกว่าใครเป็นคนขออย่างไร ต้องขอตรวจสอบก่อน
ส่วนจะเป็นการเอาไปแอบอ้างอะไรหรือไม่ ผศ.เวทิต บอกว่า ถ้ามองไปในเชิงคาดเดาก็เป็นไปได้ แต่ต้องขอตรวจสอบก่อน รวมถึงหลักฐานการเก็บเงินด้วย เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการเก็บเงิน และสัปดาห์หน้าเปิดการเรียนการสอน ก็จะทำการตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด ส่วนและบัตรประจำตัวที่เผยแพร่ทางโซเชียล ที่ออกมานั้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ออกให้ ก็มองว่า สะกดผิดด้วย
อาจารย์ชาวจีน แจง เงิน 38,000 นักศึกษาไม่ได้จ่ายแล้ว
นอกจากนี้ นักข่าวยังได้สอบถามไปที่ Dr.Zhang (หลี่จาง) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเป็นบุคคลที่ปรากฎชื่อ เซ็นหนังสือรับรอง มาขอความร่วมมือกับ ทางกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 รวมถึงเป็นคนเซ็นรับรองบัตร และประกาศนียบัตรในการอบรมด้วย
ซึ่ง Dr.Zhang (หลี่จาง) เป็นอาจารย์ ชาวจีนที่พูดไทยได้นิดหน่อย เขาบอกว่า มีเพื่อนแนะนำการอบรมมา เขาอยากให้นักศึกษาจีนที่มาอยู่ไทย มีความรู้ และ เท่าทันสถานการณ์เวลาเจอตำรวจ รวมถึงกฎหมายไทยเล็กๆ น้อยๆ จึงประสานไปขอให้ตำรวจมาอบรมให้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย 38000 บาท นายหลี่จาง ยืนยันว่า ล่าสุดไม่ได้จ่ายเงินจำนวนนี้แล้ว และนักศึกษาไม่มีค่าใช้จ่าย