Highlights
- รถถังถือเป็นยุทโธปกรณ์ทางการรบที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่แบบร่างพิมพ์เขียวของลีโอนาโด ดาวินชี่
- ได้รับการออกแบบมาใช้งานจริงในสงครามโลกครั้งที่1 จากประเทศอังกฤษ เพื่อบุกฝ่าสนามเพลาะ
- ในสงครามโลกครั้งที่2 เยอรมนีมีอาศัยทักษะในการขับและความล้ำหน้าของรถถังเพื่อครองความได้เปรียบ
- ปัจจุบันบทบาทของรถถังเริ่มลดลงภายหลังสงครามพลิกโฉมมาเป็นการรบแบบกองโจรและการก่อการร้าย
--------------------
รถถัง หนึ่งในยุทโธปกรณ์ทางการรบชิ้นสำคัญที่คนไทยเห็นกันจนชินตา ทั้งจากในสื่อภาพยนตร์วิดีทัศน์หรือจะเป็นของจริงที่มีโอกาสให้ได้เห็นในบางครั้ง กับพาหนะยานยนต์หุ้มเกราะขุมกำลังชิ้นสำคัญสำหรับเหล่าทหารบก เป็นภาพแทนความทรงพลังและสัญลักษณ์ทางอำนาจชิ้นสำคัญของกองทัพ
พื้นเพของรถถังมีรากฐานมาจากการใช้ยานพาหนะในสงครามภาคพื้นดิน เริ่มต้นมาตั้งแต่การนำสัตว์ขี่ทั้งหลายเข้ามาสู่สนามรบฝึกให้ใช้ในการทำศึก ก่อนเป็นยุครถลากโดยอาศัยแรงขับเคลื่อนจากฝีเท้าสัตว์ จนมาถึงยุคสมัยแห่งเครื่องยนต์ผ่านการพัฒนาจากสงครามมายาวนาน สู่การถือกำเนิดของยานเกราะสำหรับใช้บุกทะลวงเข้าไปในแดนข้าศึก
แนวคิดเกี่ยวกับยานยนต์หุ้มเกราะปรากฏขึ้นครั้งแรกจากฝีมือของ ลีโอนาโด ดาวินชี่ ยอดอัจฉริยะคนสำคัญแห่งยุคเรเนซองส์ ที่ปรากฏแบบร่างพิมพ์เขียวสำหรับยานเกราะทรงกลมลักษณะคล้ายชามสองใบประกบเข้าหากัน มีปากกระบอกปืนรอบทิศทางและล้อทางด้านล่างไว้ใช้ในการเคลื่อนที่
แน่นอนว่านี่เป็นแค่แบบร่างพิมพ์เขียวไม่ได้มีการทดลองสร้าง ด้วยสมัยนั้นวิทยาการยังไม่เพียงพอหรือเป็นแค่ภาพร่างจากจินตนาการของยอดคนแห่งยุคไม่ทราบ แต่แนวคิดดังกล่าวกลับเกิดขึ้นจริงหลังการจากไปของดาวินชี่หลายร้อยปี ยานเกราะติดอาวุธหนักจึงถือกำเนิดขึ้นมาครอบครองสนามรบทั่วทุกมุมโลก
สงครามโลกครั้งที่1 จุดเริ่มต้นแห่งรถถัง-อาวุธปราบสนามเพลาะ
ช่วงเวลาแห่งการพัฒนาอาวุธสำหรับมนุษยชาติไม่มีช่วงใดล้ำหน้าไปกว่ายามเกิดสงคราม โดยเฉพาะสงครามใหญ่ของเหล่ามหาอำนาจแห่งยุคสมัยช่วยยกระดับวิทยาการชนิดก้าวกระโดด เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนล้วนปรารถนายึดครองความได้เปรียบไว้กับตนเพื่อชัยชนะทั้งสิ้น
บนแผ่นดินใหญ่ของทวีปยุโรปในยุคสงครามโลกครั้งที่1 ยุทธวิธีขึ้นชื่อของยุคนั้นคือการขุดสนามเพลาะไว้เป็นแนวปะทะสำหรับตั้งรับ มีอาวุธระยะไกลทั้งหลายคอยยิงจู่โจมสกัดการรุกคืบเข้ามาด้วยกำลัง อาศัยปืนใหญ่และอาวุธใหม่อย่างปืนกลยิงกราดคร่าชีวิตของทหารไปมากมาย ยับยั้งการรุกคืบได้ชงัดกลายเป็นศึกยืดเยื้อยาวนาน
ภายใต้การตรึงแนวรบอันเข้มแข็งของทั้งสองฝ่ายไม่มีใครบอกได้ว่าครองความได้เปรียบ การป้องกันแน่นหนาจนต่อให้คิดอยากเข้ายึดครองต้องใช้กำลังเหนือกว่าเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้เกิดการติดตรึงแนวรบขึ้นเป็นเวลานาน แม้มีความพยายามพัฒนาอาวุธใหม่อย่างอาวุธเคมีก็ไม่อาจช่วยให้ได้รับชัยชนะจากสมรภูมินี้ได้
นำมาสู่การคิดค้นยุทโธปกรณ์ไว้สำหรับใช้ในการตีฝ่าทางตันนี้ออกไป นั่นคือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ถูกเรียกว่ารถถัง
แนวคิดในการสร้างยานยนต์หุ้มเกราะเคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1883 จากการขยายตัวของเครื่องจักรไอน้ำ แต่ในยุคแรกกำลังขับเคลื่อนของมันยังไม่มากพอ แม้มีการพัฒนาในหลายประเทศแต่กลับไม่ได้ใช้จริง กระทั่งทัพเรืออังกฤษนำมาพัฒนาด้วยโครงการของ วินสตัน เชอร์ชิล รัฐมนตรีว่าการทบวงทัพเรือขณะนั้น ทำให้เริ่มแรกมันถูกเรียกว่า Landship ถูกตั้งชื่อรหัสเป็น Water tank เป็นที่มาของคำว่า Tank ที่เรารู้จักกัน
รถถังคันแรกที่ถูกส่งตรงลงสนามรบคือ Mark I จำนวน 50 คัน แต่ในขณะนั้นความเร็วเคลื่อนที่ยังไม่ดีนัก อีกทั้งมีการติดตั้งอาวุธมีแค่ทางด้านข้างทำให้ไม่สามารถยิงโจมตีได้สะดวก ก่อนในเดือนพฤศจิกายน 1917 อังกฤษจึงส่งรถถังรุ่นปรับปรุง Mark IV ลงสู่ ยุทธการแคมเบรย์ เข้าฉีกทึ้งแนวรับของเยอรมนีและยุติการรบยืดเยื้อในสนามเพลาะไปในที่สุด
แม้รถถังในยุคแรกจะมีทั้งประสิทธิภาพและขีดความสามารถไม่ดีนัก แต่ช่วยรักษาชีวิตทหารราบจากการเป็นแนวหน้า ช่วยรับกระสุนกับแรงปะทะจากยุทโธปกรณ์ของข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก บดขยี้แนวรบหรือสิ่งกีดขวางส่วนมากให้ราบเป็นหน้ากลอง นั่นทำให้ยุคสมัยแห่งการรบด้วยสนามเพลาะสิ้นสุดลง พร้อมหน้าประวัติศาสตร์สงครามที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
สงครามโลกครั้งที่2 ยุคสมัยแห่งรถถัง-ราชันภาคพื้นดิน
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นานาประเทศล้วนเริ่มทำการผลิตรถถังไว้ใช้งานในการรบเช่นเดียวกับเยอรมนี แม้ถูกบังคับจำกัดกำลังทหารและการสร้างยุทโธปกรณ์จากสนธิสัญญาแวร์ซาย แม้เป็นฝ่ายแพ้จนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมหาศาล แต่เยอรมนีก็สามารถกลับมาเรืองอำนาจทางการทหารเป็นต้นเหตุแห่งสงครามโลกได้อีกครั้ง
เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาททางการรบเปลี่ยนจากสงครามโลกครั้งก่อนโดยสิ้นเชิงจากการเกิดขึ้นของรถถังและกำลังทางอากาศ สองตัวแปรที่เพิ่มขีดความสามารถทางการรบยกระดับความรุนแรงของสงคราม โดยเฉพาะรถถังกลายมาเป็นกำลังหลักในการบุกโจมตีไม่ว่าจะฝ่ายสัมพันธมิตรหรืออักษะ
ฝ่ายที่เห็นคุณค่าความสำคัญของกองกำลังรถถังคงต้องยกให้กับเยอรมนี ภายหลังความพยายามในการพัฒนารถถังตระกูล Panzer แต่ในช่วงเริ่มต้นสงคราม Panzer III รถถังรุ่นล่าสุดของเยอรมนีไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าฝรั่งเศสหรืออังกฤษมากนัก นั่นทำให้เยอรมนีเร่งปรับปรุงยุทโธปกรณ์และหันมาใช้กลยุทธ์และการประสานงานมากขึ้น
เยอรมนีผสานกลยุทธ์โดยอาศัยการปูพรมด้วยการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ จากนั้นหน้าที่ของยานเกราะคือตรงเข้าโอบล้อมกดดันอย่างรวดเร็วพร้อมทหารราบ สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์จากการรบจริงจากสงครามกลางเมืองสเปน จึงได้มีการติดตั้งวิทยุลงไปในรถถังเป็นจำนวนมาก ไว้ใช้สำหรับแจ้งข่าวและติดต่อประสานงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รถถังหลายชาติในสมัยนั้นไม่ได้ติดตั้ง ทั้งจากการไม่เล็งเห็นความสำคัญหรือข้อจำกัดด้านการบรรจุอาวุธก็ตาม
สิ่งนี้ทำให้เยอรมนีเรืองอำนาจ ภายใต้กลยุทธ์การบุกโจมตีอันเด็ดขาด มาพร้อมกับพัฒนาการทางรถถังทวีความรวดเร็ว ด้วยการมาถึงของ Panzer IV บดขยี้กองกำลังของอังกฤษและฝรั่งเศสไปเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเพลี่ยงพล้ำ ปารีสเมืองหลวงของฝรั่งเศสถูกยึดจนต้องตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เกาะอังกฤษถูกบุกโจมตีหนักหน่วงเสียหายร้ายแรง ส่วนหนึ่งของเรื่องนั้นมาจากแนวคิดด้านการใช้กองกำลังยานเกราะไม่ล้ำหน้าเท่าเยอรมนีในยุคนั้น
กระทั่งการมาถึงของสหรัฐฯและโซเวียตพร้อมบรรดารถถังรุ่นใหม่ ทำให้เจ้าสมรภูมิดั้งเดิมอย่าง Panzer เริ่มลดประสิทธิภาพ การกดดันจาก T34 กับ KV-1 ของโซเวียตตั้งแต่ปี 1941 เป็นต้นมา รวมถึงการเข้าร่วมของสหรัฐมาพร้อมรถถัง M3 Lee กับ M4 Sherman บีบให้เยอรมนีต้องคิดค้นรถถังรุ่นใหม่มาต่อกร
นำไปสู่เจ้าสมรภูมิอย่าง Panther แม่แบบของรถถังหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา หรือ Tiger สุดยอดรถถังแห่งยุคสมัยที่มีขีดความสามารถสูงสุดในเวลานั้น น่าเสียดายด้วยสภาพแวดล้อมและวิธีดำเนินนโยบายของเยอรมนี แม้พวกเขาคิดค้นยุทโธปกรณ์ชั้นยอดได้แค่ไหนก็ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ยังทิ้งความน่าสะพรึงกลัวให้จดจำมาจนทุกวันนี้
เห็นได้ชัดว่าเมื่อมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่2 ขีดความสามารถของรถถังและยานเกราะคือสิ่งชี้เป็นชี้ตายในการรบภาคพื้นดิน ความได้เปรียบในการรบของเยอรมนีส่วนมากล้วนอาศัยประโยชน์ในส่วนนี้ แม้จะมีทุ่นระเบิดดักทาง อาวุธต่อต้านรถถังหลากชนิด หรือการโจมตีทางอากาศไว้ตอบโต้ แต่รถถังยังเป็นตัวแปรสำคัญในการรบไม่เปลี่ยน
รถถังในปัจจุบัน บทบาทที่จางหายจากสงครามที่เปลี่ยนไป
เห็นได้ชัดว่าบทบาทหรือการใช้งานรถถังในปัจจุบันน้อยลงตามลำดับ แม้ขีดความสามารถของรถถังเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก แต่อัตราการใช้งานและการให้ความสำคัญในปัจจุบันถูกลดระดับลง ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ยุคสมัยเฟื่องฟูของรถถังคือช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่2และต้นสงครามเย็น นั่นคือช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าหักหาญด้วยกำลัง เป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบโดยอาศัยกำลังทหารเข้าห้ำหั่นต่อกร แต่รูปแบบการรบหลังจากยุคนั้นเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง นับตั้งแต่สงครามเวียดนามและสงครามก่อการร้ายเกิดขึ้นเป็นต้นมา
สงครามเวียดนามแสดงให้เห็นว่าต่อให้ยุทโธปกรณ์หรือกำลังพลด้อยกว่า แต่สิ่งที่เวียดนามเหนือชำนาญคือการใช้ประโยชน์จากการเมือง รวมถึงการเริ่มต้นการรบด้วยกลยุทธ์แบบกองโจร อาศัยกำลังน้อยเข้าลอบโจมตีสร้างความปั่นป่วน เน้นการใช้งานพื้นที่และฝูงชนให้เป็นประโยชน์เพื่อตอบโต้การรบแบบเก่าของสหรัฐฯในตอนนั้น
เช่นเดียวกับการก่อการร้ายที่อาศัยการก่อวินาศภัยสร้างความหวาดกลัวให้ใหญ่โต เน้นการโจมตีใส่พลเรือนเพื่อข่มขวัญหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หลายครั้งเป็นการโจมตีที่ทำให้ผู้ลงมือต้องเสียชีวิตลงไปพร้อมกันแต่อาศัยความเชื่อทางศาสนายึดโยง ถือเป็นการก่อสงครามและการโจมตีอีกรูปแบบที่โลกไม่เคยประสบ
ภายใต้รูปแบบการรบเหล่านี้รถถังขาดประสิทธิภาพในการใช้งานลงไปมาก ด้วยรูปลักษณ์เด่นเป็นสง่าถูกออกแบบมาเพื่อบุกฝ่าเป็นแนวหน้าจึงถูกพบเห็นได้แต่ไกล ไม่มีทางที่หน่วยรบกองโจรหรือผู้ก่อการร้ายคนใดจะยินยอมปะทะด้วยโดยตรง นั่นทำให้คุณค่าและความนิยมในการใช้งานรถหุ้มเกราะเหล่านี้ลดลง
แน่นอนในกรณีเกิดสงครามเต็มรูปแบบต้องอาศัยการรบ บุกถล่มเข้าชิงพื้นที่คอยยึดเมือง รถถังยังคงทรงพลังไม่เปลี่ยน อย่างในสงครามอิรัก-อิหร่านรถถัง T-72M1 ยังคงสำแดงอานุภาพช่วยให้อิรักได้เปรียบในสมรภูมิ หรือการมาถึงของรถถัง M1 ของสหรัฐฯ ที่ทำให้พวกเขาบดขยี้รถถังของอิรักย่อยยับในสงครามอิรัก
แต่ในปัจจุบันโอกาสในการทำสงครามเต็มรูปแบบเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยขีดความสามารถการทำลายล้างด้านอาวุธในขณะนี้จากขีปนาวุธทั้งหลาย มากพอสร้างความเสียหายร้ายแรงได้ทั้งกับศัตรูและพวกเดียวกัน นั่นทำให้มหาอำนาจเจ้าของรถถังล้ำสมัยทรงพลังไม่มีโอกาสใช้งานอาวุธเต็มอัตราศึก จึงไม่อาจถึงศักยภาพของรถถังออกมาได้เต็มที่
อีกทั้งด้วยค่าใช้จ่ายที่มากในการใช้งานทั้งด้านกระสุน ยุทโธปกรณ์ และซ่อมบำรุง อีกทั้งขาดความคล่องตัว ทำให้ในปัจจุบันรถถังถูกนำมาใช้สำหรับการคุมพื้นที่ในเมืองให้เป็นระเบียบ ซึ่งส่วนนี้เริ่มมีรถหุ้มเกราะติดอาวุธเข้ามาแทนที่เพื่อลดค่าใช้จ่าย คอยปรับยุทธวิถีให้เหมาะสมสำหรับการรบในปัจจุบัน
บทบาทของรถถังที่ลดลงภายหลังสงครามโลกครั้งที่2เป็นต้นมา ในแง่หนึ่งหมายถึงรูปแบบหน้าประวัติศาสตร์สงครามเริ่มเปลี่ยนไป แต่เมื่อลองมองจากอีกมุมมันกลับเป็นเรื่องดี ด้วยจุดประสงค์ของรถถังรวมถึงอาวุธทุกประเภท ล้วนสร้างขึ้นเพื่อทำร้ายหรือล้างผลาญชีวิตมนุษย์แทบทั้งสิ้น การที่มันเริ่มถูกนำมาใช้งานน้อยลงจึงถือเป็นเรื่องน่ายินดี
แม้ในบางประเทศรถถังจะยังเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงอำนาจทางทหารให้ผู้คนได้ประจักษ์ไม่เสื่อมคลายก็ตาม
เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช
--------------------
ที่มา: