Highlights
- ในยุคที่โลกกำลังเผชิญสงครามการระบาดของโควิด 19 ผู้ที่จะอยู่รอดได้ จำเป็นต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และพร้อมปรับตัว
- ผู้ป่วยโควิด 19 ครึ่งหนึ่งมีโอกาสเชื้อลงปอด และเกิดปอดอักเสบ
- เมื่อปอดอักเสบ ประสิทธิภาพการทำงานของปอดจะลดลง จำเป็นต้องมีอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้ว และต้องใช้อุปกรณ์เพื่อเติมออกซิเจนเข้าสู่ปอด
- ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง เมื่อพ้นวิกฤติและรักษาหาย มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงระยะยาว เรียกว่า อาการลองโควิด (Long Covid) และปอดอาจทำงานไม่เหมือนเดิม
- การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเป็นประจำช่วยให้ปอดแข็งแรง และลดความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด 19 ได้
“โควิด 19 อุบัติขึ้นมาบนโลก
เพื่อเข้ามาคัดสรรผู้ที่อยู่รอด
คนที่อ่อนแอกว่าย่อมล้มตายไป”
ผ่านไปเกือบ 2 ปีกับข่าวพาดหัวเรื่องโควิด 19 ที่เราต้องอัพเดตกันทุกวัน หลายคนคงจำความรู้สึกก่อนหน้าที่โลกนี้ยังไม่มีเชื้อนี้ได้อีกแล้ว และหลายคนคงเริ่มชินกับชีวิตแบบ New normal แต่ถ้าใครยังจำได้อยู่ก็ขอให้จดจำมันต่อไป อย่างน้อยเราก็ยังมีหวังว่าโลกเราจะกลับมามีชีวิตชีวาได้เหมือนเดิม
ในสงครามโควิด 19 นี้ เราสูญเสียชีวิตของผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปจำนวนมาก พวกเขามีสภาวะร่างกายที่อ่อนแอ ภูมิต้านทางที่เสื่อมถอย จึงมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่า ในขณะที่คนหนุ่มสาวหรือผู้ที่สุขภาพแข็งแรง หลายคนอาจติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ บางคนหายเองได้ด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าโควิด 19 เข้ามาเฟ้นหาผู้อยู่รอดจริง คนที่สุขภาพแข็งแรงกว่าจึงได้เปรียบ
มีทฤษฎีนึงที่หลายคนคงเคยได้ยิน “ทฤษฎีวิวัฒนาการโดยการคัดสรรตามธรรมชาติ (Natural Selection)” ของชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ที่กล่าวไว้ว่า
…It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent that survives. It is the one that is the most adaptable to change..
แม้ทฤษฎีนี้ จะถูกตีความกันผิดไปเยอะมากว่าผู้อยู่รอด คือผู้ที่แข็งแรงที่สุด ทั้งที่ความจริง ดาร์วินหมายถึง ผู้ที่ปรับตัวได้ดีกับสถานการณ์ แต่คงต้องยอมรับว่าในเวลานี้ที่โควิด 19 ยังคงระบาดหนักทั่วโลก แค่มีสกิลการปรับตัวคงไม่พอ แต่เราจำเป็นต้องมีร่างกายที่แข็งแรง เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันชีวิตให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน
เมื่อเราติดโควิด 19 ปอดต้องเจอกับอะไรบ้าง
อาการที่น่ากลัวที่สุดเมื่อติดเชื้อโควิด 19 คือ ปอดอักเสบ แต่คนที่ติดเชื้อไม่ได้แปลว่าเชื้อจะลงปอดกันทุกคน โอกาสเชื้อลงปอดสูงถึง 50% ในจำนวนนี้ 5% มีอาการวิกฤต อีก 2% ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
อาการอักเสบของปอดมีหลายระยะ
อาการเชื้อลงปอด จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า และจะมีอาการนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายและภูมิคุ้มกันของแต่ละคน
อุปกรณ์ช่วยชีวิต เมื่อปอดอักเสบ
ในช่วงปอดอักเสบ การทำงานแลกเปลี่ยนก๊าซจะลดประสิทธิภาพลงมาก นอกจากการให้ยาแล้ว จำเป็นต้องวัดค่าออกซิเจนและให้เติมออกซิเจนเข้าปอดเป็นระยะ โดยอุปกรณ์สำคัญที่เรามักได้ยินกันมี 2 อย่าง คือ
การวัดค่าออกซิเจน คือ การวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจากจังหวะการเต้นของเส้นเลือด (Oxigen saturation from pulse oximetry) ภาษาแพทย์ เรียกว่า “วัดแซท” โดยใช้อุปกรณ์มาหนีบบนปลายนิ้วชี้ เพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของปอด หากปอดยังทำงานได้ดี ควรวัดแซทออกมาได้ 96% ขี้นไป แต่ถ้าน้อยกว่านั้น แสดงว่าปอดกำลังจะแย่ จำเป็นต้องให้ออกซิเจน
การให้ออกซิเจน จะปล่อยออกซิเจนเข้าสู่ปอด จนกว่าตัวเลขอยู่ระหว่าง 94-96% แต่ถ้าตัวเลขยังไม่สูงกว่า 92 % มักจับผู้ป่วยนอนคว่ำ เพื่อให้การแลกเปลี่ยนก๊าซดีขึ้น แต่หากตัวเลขยังไม่ขึ้นอีก ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
เมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เปรียบเสมือนนาฬิกาที่เริ่มนับถอยหลัง เพราะเมื่อปอดอักเสบรุนแรง ปอดจะเสียหายมาก จนทำงานต่อไม่ได้ ทำให้ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองและร่างกายส่วนอื่นๆ จากนั้นระบบต่างๆในร่างกายจะล้มเหลว กระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต
นี่คือความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยในเฮือกสุดท้ายของชีวิต และเมื่อปอดสู้ไม่ไหวก็ไม่มีอะไหล่ใดๆ มาทำหน้าที่ทดแทน เพื่อต่อลมหายใจเราได้อีก
หายจากโควิด แต่ปอดไม่เหมือนเดิม?
แม้ตอนนี้สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทยมีสัญญาณดีขึ้น จากยอดผู้หายป่วยแต่ละวัน สูงแซงหน้ายอดผู้ติดเชื้อใหม่มาได้พักใหญ่ มีรายงานว่า กลุ่มคนหายป่วยหลายคนมีอาการข้างเคียง ที่เรียกว่า “ลองโควิด (Long Covid)” มักเกิดกับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่ผ่านช่วงวิกฤตมาได้
อาการลองโควิด มีตั้งแต่ อ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดศีรษะ สมาธิลดลง ความจำผิดปกติ ไอ เจ็บแน่นหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ท้องเสีย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตลอดจนซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล บางคนอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองล้า ภาวะพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน อวัยวะที่ต่อสู้กับไวรัสร้ายมาตลอดอย่าง “ปอด” หลังฟื้นตัวจากการอักเสบ กลับพบว่าทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม
ปอดที่ทำงานปกติ จะยืดหยุ่น แต่เมื่อเชื้อโควิดลงปอด และเกิดการอักเสบ ปอดจะเริ่มแข็งและอาจเกิดรอยโรคอย่างแผลหรือพังผืดต่างๆ ในเนื้อปอด ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หายใจไม่เต็มปอด และมีอาการอื่นๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
แม้ภาวะลองโควิดยังไม่มีการสรุปถึงเกิดเพราะอะไรแต่ข่าวดีคือ เรายังสามารถฟื้นฟูปอดให้กลับมาแข็งแรงได้ ด้วยการออกกำลังกายเบาๆ แต่ช่วงแรกต้องระวังไม่ให้ปอดทำงานหนักเกินไป
ปอดฟิต ช่วยเราต่อสู้โควิดได้
ไม่ว่าคุณจะเคย หรือไม่เคยป่วยจากโควิด 19 ไม่ว่าคุณเคยมีหรือไม่มีอาการปอดอักเสบ ทุกคนจำเป็นต้องใส่ใจกับสุขภาพปอดมากขึ้น เพราะเมื่อปอดเราแข็งแรงแต่เนิ่นๆ ก็เปรียบเสมือนการลงทุนระยะยาว ที่ทำให้เราไม่เจ็บป่วยง่าย
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ถูกตีพิมพ์ใน British journal of sport medicine เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 ศึกษาว่าการออกกำลังกายมีผลต่ออาการป่วยเมื่อติดเชื้อโควิด 19 อย่างไร
มีการแบ่งผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐ จำนวน 48,440 ราย ออกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ 1 คนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามมาตรฐาน คือ คาร์ดิโอสัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป เมื่อติดเชื้อโควิด 19 จะได้เปรียบกว่าทุกกลุ่ม เพราะ พบ % ความเสี่ยง ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล, รักษาตัวในไอซียู หรือเสียชีวิต ต่ำกว่าอีก 2 กลุ่มที่เหลือ
แน่นอนว่า กลุ่มที่ 3 ไม่ออกกำลังกายเลย คือกลุ่มที่เสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้มากที่สุด เพราะเมื่อติดเชื้อและต้องเข้าโรงพยาบาลแล้ว มีโอกาสสูงถึง 20% ที่จะไม่ได้กลับบ้านอีกเลย เป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก
ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพปอดให้แข็งแรง
สรุป
มาถึงวันนี้ ใครที่ดูแลสุขภาพเป็นทุนเดิม ออกกำลังกายให้ปอดฟิตแข็งแรง คงรู้สึกโชคดีว่านี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะผลตอบแทนที่ได้มาคือชีวิตที่อยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์โควิดแบบนี้ แต่เราก็ยังไม่ควรประมาท เพราะสงครามโควิดยังไม่จบ ตัวเลขศพผู้เสียชีวิตทั่วโลกยังพุ่งไม่หยุด อนาคตโควิดอาจไม่หายไปจากโลก มันอาจกลายเป็นไข้หวัดประจำฤดูที่มีวัคซีนป้องกันได้ แต่ใครจะรู้ว่าธรรมชาติอาจจะรังสรรค์ภัยคุกคามใหม่ๆ ออกมาทำลายล้างชีวิตมนุษย์ได้อีก
ไม่มีใครตอบได้
ลลิตา มั่งสูงเนิน
--------------------
อ้างอิง: