เวลาเราเห็นใครทำอะไรที่แตกต่างออกไปมนุษย์เราจะเริ่มสงสัย และพยายามทำความเข้าใจตามประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งหลายครั้งการพยายามทำความเข้าใจเหล่านั้นกลายเป็นการขบขัน หัวร่อ กับความคิดอื่น ๆ อยู่เรื่อยไป ซึ่งหนึ่งศิลปินที่สร่างผลงานที่ผู้คนมักขบขัน ทำให้เกิดความสงสัยในครั้งแรกที่ได้ฟัง คือ John Cage นักคิดและนักประพันธ์เพลงแนว Avant-Garde ผู้เลื่องชื่อ
John Milton Cage Jr. หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ John Cage นั้นได้ฝังภาพชายผู้มีรอยยิ้มที่แสนบริสุทธิ์ใจลงในความทรงจำของใครหลายคน John Cage นั้นเป็นคีตกวีอเมริกันคนสำคัญแห่งยุคศตวรรษที่ 20 ในจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้านดนตรีนั้นเขามีโอกาสได้ศึกษากับนักประพันธ์เพลงหลายคน โดยหนึ่งในปรมาจารย์ของเขา คือ Arnold Schoenberg คีตกวีคนสำคัญแห่งดนตรี Atonal ซึ่งได้ส่งต่อแนวคิดด้านดนตรีที่ไม่ยึดโยงกับคีย์หรือโหมดใด ๆ มาสู่ John Cage และได้ตกผลึกกลายเป็นการฟังสรรพเสียงที่เป็นเนื้อแท้ข้องธรรมชาติในเวลาต่อมา
ความหลากหลายที่หล่อหลอมจนกลายเป็นแก่น
ต้องบอกว่า John Cage นั้นได้รับอิทธิพลด้านดนตรีของ Schoenberg มาไม่มากก็น้อย เพราะนอกจากดนตรีที่ทำนองหรือแนวประสานจะมีอิทธิพลของ Atonal แล้วแม้กระทั่งจังหวะเองก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะออกมาในรูปแบบของดนตรีที่จะต้องซิงโครไนซ์กับอย่างอื่นเสียเท่าไหร่ ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นความท้าทายเมื่อต้องไปใช้งานร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ อย่างเช่นการออกแบบท่าเต้นเป็นต้น
แน่นอนว่าผลงานของ Cage นั้นมีองค์ประกอบสำคัญอย่าง ‘จังหวะ’ เป็นหัวใจหลัก แต่อาจไม่ใช่จังหวะที่เป็นภาพจำของดนตรีต่าง ๆ ในยุคสมัยนั้นเสียเท่าไหร่ กลับเป็นรูปแบบจังหวะที่มีความเฉพาะเจาะจงที่ถูกส่งตรงออกมาจากแบบทดลองทางความคิดของตัวเอง สิ่งที่เขาเป็นหากมองอีกมุมหนึ่งก็ไม่ต่างจากแกะดำในวงการดนตรีและผู้คนทั่วไป เพราะถึงแม้จะมีความรู้ ประสบการณ์ หรือความเชี่ยวชาญมากเท่าไหร่แต่ท้ายที่สุดทัศนคติในช่วงเวลานั้นที่มองมา Cage ก็อาจเป็นเพียงตัวตลกตัวหน่ึงสำหรับใครหลาย ๆ คน เช่นนักวิจารณ์ดนตรีจากเกาะอังกฤษอย่าง Andrew Porter ที่กล่าวไว้ว่า “เขาพูดแต่อะไรที่ปัญญาอ่อน และเขียนแต่เพลงที่ปัญญาอ่อนทั้งนั้น แต่ทุกคนกลับชื่นชมหลงรักเขาเสียเหลือเกิน”
“He said a lot silly things, and wrote a lot of silly music. But everyone was fond of him.” - Andrew Porter
แม้ว่าภาพจำและชื่อเสียงของ John Cage ในช่วงเวลานั้นจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันเสียเท่าไหร่ แต่เพราะเขาเป็นคนที่มีมุมมองและมีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าว่ากันง่าย ๆ สิ่งที่เขาเป็นสร้างเอกลักษณ์และโอกาสใหม่ ๆ ให้กับยุคสมัยได้เช่นกัน คุณสมบัติเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดมิตรสหายที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Merce Cunningham ผู้ปฏิวัติการเต้นสมัยใหม่ หรือ Marcel Duchamp ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้เชื่อมสะพานระหว่างศิลปะกับของใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดผลงานเสียดสีวงการศิลปะอย่าง The Fountain ซึ่งหากพิจารณาให้ดีเพื่อนของ Cage และตัวเขาเองนั้นต่างก็เป็นศิลปินที่มีแนวคิดอันชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งได้กลายเป็นคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ด้วยเช่นกัน
อิทธิพลจากงานศิลปะข้ามสายอย่างการออกแบบท่าเต้น (Choreography) หรืองานทัศนศิลป์ (Visual Art) นั้นส่งผลต่อการแตกแขนงความรู้ของ Cage อย่างไม่ต้องสงสัย แต่แนวคิดสำคัญที่แฝงอยู่ในทุกผลงาน ลายเส้น และตัวโน้ตอย่างแจ่มชัด คือ แนวคิดด้านเซน (Zen) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของศาสนาพุทธ ผลงานของ Cage จึงมีความเรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติแฝงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานทัศนศิลป์ที่เขาได้สร้างขึ้น หรือแม้แต่งานดนตรีที่มีกลิ่นอายของตะวันออกที่อบอวลในรูปแบบน้อยแต่มาก
4 นาที 33 วินาที การท้าทายต่อยุคสมัยและการรับรู้
ผลงานด้านดนตรีของ John Cage นั้นมีลักษณะของงานดนตรีแนวทดลอง (Experimental Music) อันเป็นดนตรีที่ผลักดันเพดานและเงื่อนไขการรับรู้ดนตรีที่แตกต่างออกไปจากแนวดนตรีเดิมที่มี หรือจะบอกว่าเป็นดนตรีที่ท้าทายขนบความเคยชินเดิมก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปมากไหร่นัก และดนตรีอีกแนวหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความสนุกของ Cage เลย คือ Chance Music ซึ่งมักใช้การกำหนดเงื่อนไขหรือควบตัวแปรบางประการและเปิดโอกาสอิสระในการเล่นในบางส่วนด้วยเช่นกัน ดังนั้นเวลาเล่นเพลงที่ถูกประพันธ์ในแนวทดลองหรือ Chance Music ผลลัพธ์จึงอาจแตกต่างไปไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละครั้งที่เล่นก็เป็นได้ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างงานแนวทดลองของบรมครูอย่าง Steive Reich ในชื่อ Pendulum Music มาให้ลองฟังกัน
เพลงที่ถูกประพันธ์โดย John Cage นั้นมีทั้งการเขียนโน้ตเป็น Graphic Score ที่ใช้สัญลักษณ์หรือ Visual แทนโน้ตดนตรี ไปจนถึงการเขียนกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นตัวหนังสือด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างผลงานของ Cage ที่ถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในปี 1960 อย่าง Water Walk
จากในคลิปนั้นจะได้ยินเสียงคนหัวเราะขบขันอย่างไม่น้อย และอาจจะคิดในใจว่าไอ้เดินไปเดินมาทำนู๋นทำนี่เสียงดังแบบนี้ใครก็ทำได้ คำตอบของเรื่องนี้หากมองผิวเผินก็ต้องตอบว่าใช่ แต่หากมองให้ลึกลงไป การรับชมทางโทรทัศน์สมัยนั้นที่มีการตัดภาพไปมาและการส่งสัญญาณเสียงมีคุณภาพเป็นอย่างไร? ประสบการณ์การรับฟังด้วยหูหรือประสบการณ์เสียงหลายอย่างนั้นแม้กระทั่งในยุคปัจจุบันก็ยังไม่อาจมีระบบดิจิทัลหรือเทคโนโลยีใดที่ทดแทนการรับฟังในพื้นที่จริงได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป้าหมายของ John Cage สำหรับ Water Walk นั้นอาจไม่ได้ไปไกลถึงขนาดให้ผู้ชมทางบ้านสัมผัสประสบการณ์ได้ทั้งหมด แต่ในฐานะผู้แสดงและผู้ชมในห้องส่ง ประสบการณ์ทางหูที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างออกไปอย่างแน่นอน
ดังนั้นประสบการณ์การฟัง Water Walk ที่ให้ความสำคัญกับเสียงของน้ำที่ทำปฏิกริยากับวัตถุที่แตกต่างกัน ภายใต้แรงและวัสดุที่แตกต่างกันในห้องส่ง เสียงหัวเราะขบขันนั้นเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปจากงานของ John Cage ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้คนจะไม่เข้าใจถึงข้อความที่ถูกซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความห่างไกลของวัฒนธรรมและปรัชญาจากเอเชียกับตะวันตก และอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะแนวคิดและการรับรู้ของ ‘การได้ยิน’ ในช่วงเวลานั้นยังมีกรอบต่าง ๆ อีกมากมายล้อมรอบอยู่ เช่น กรอบจำกัดของคำว่าดนตรี หรือประสบการณ์ทางเสียงหรือการได้ยินที่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลลัพธ์จากความไม่เข้าใจและไม่ได้ตระหนักถึงประสบการณ์ที่อยู่ตรงหน้า
ผลงานของ John Cage จำนวนมากให้ความสำคัญกับ ‘การอยู่กับห้วงเวลาปัจจุบัน’ อย่างไม่ต้องสงสัย แนวคิดค่านิยมนี้ถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในผลงานเลื่องชื่ออย่าง 4 นาที 33 วินาที หรือ 4’ 33” ที่บทเพลงทั้ง 3 ท่อนมีเพียงตัวอักษร TACET หรือไม่ต้องเล่นอะไรในทั้ง 3 ท่อน ในการแสดงสดครั้งแรกเป็นการนั่งที่เปียโนเฉย ๆ
ลองจินตนาการดูว่าคุณได้เข้าไปนั่งฟังการแสดงดนตรีเพื่อเปิดตัวเพลงใหม่ล่าสุดของศิลปิน ความคาดหวังของคุณเป็นอย่างไร? สำหรับ 4 นาที 33 วินาที หรืออีกชื่อหนึ่ง ‘บทประพันธ์ไร้เสียง’ แรกเริ่มที่เกิดเป็นความเงียบและในเวลาไม่นานก็กลับกลายเป็นเสียงพูดคุยกันแบบกระซิบกระซาบที่อื้ออึงด้วยความสงสัย
แม้ตัวผลงานจะได้ชื่อว่าเป็นบทประพันธ์ไร้เสียงแต่เป้าหมายนั้นกลับทอดยาวไปไกลเกินกว่าตัวอักษรบนกระดาษ หากคุณลองถามตัวเองดูให้ดีจะมีช่วงเวลาไหนบ้างที่คุณแน่ใจว่าไร้เสียงจริง ๆ เพราะแม่แต่ในห้องเงียบที่สุดอย่าง Anechoic Chamber เราก็อาจจะได้ยินเสียงที่เกิดขึ้นจากร่างกายเราได้อยู่ดี ดังนั้นแล้วความเงียบสงัดที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไรกันแน่? ความหมายของ 4 นาที 33 วินาทีนั้นต้องการให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการฟังเสียงสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเน้นประสบการณ์การฟังที่แตกต่างดนตรีอื่น ๆ อย่างดนตรีคลาสสิกหรือแจ็ซซึ่งมีการจัดเรียง รังสรรค์ และปรุงแต่งไม่น้อย
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการฟัง 4 นาที 33 วินาทีนั้นเป็นอะไรที่ไม่เหนือความคาดหมายนัก ผู้คนจำนวนมากต่างมองว่ามันเป็นผลงานที่น่าขัน งี่เง่า หรือเป็นแค่จุดขายบางอย่างมากกว่าความหมายที่แฝงไว้ในความเรียบง่ายนี้ ซึ่งความพยายามก้าวข้ามขอบเขตระหว่างแนวคิดที่วางไว้กับการนำเสนอต่อสาธารณะของ John Cage นั้นก็มักสร้างแรงกระเพื่อมในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันนักอยู่เสมอ ๆ ถึงขนาดที่ว่าบุคลากรการศึกษายังเคยได้ยินกันว่า “คนที่อ้างอิงงานของ John Cage ถ้าไม่เก่ง อัจฉริยะไปเลยก็เป็นพวกขี้เกียจ ไร้ความรู้” แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็รู้และเข้าใจในสิ่งที่เขาทำเป็นอย่างดีและยังสามารถมีความสุขกับผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ไม่มีเบื่อ
4 นาที 33 วินาที กลายเป็นผลงานที่ท้าทายขีดจำกัดและค่านิยมของดนตรีในช่วงเวลานั้นอย่างมาก เนื่องจากแนวคิดหลักที่มีเพียงการรับประสบการณ์จากผัสสะทางหูโดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้น (Happening) ไม่ใช่สิ่งที่ถูกตระเตรียมหรือออกแบบไว้ (Composed) ซึ่งสิ่งที่ถูกออกแบบนั้นผู้คนจะให้ความสนใจกับเนื้อหา (Content) ที่ตั้งใจนำเสนอเท่านั้น หากคิดเป็นภาพก็จะมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนที่เชื่อมโยงกัน ในขณะที่การฟังสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไร้การตระเตรียมนั้นไม่อาจจะโฟกัสไปยังที่ใดที่หนึ่งได้อย่างแท้จริง เหมือนกับการรอฟังสิ่งที่จะเกิดขึ้นแบบสุ่มไม่ว่าจะมีรูปแบบหรือไม่ก็ตาม ทักษะการฟังและรูปแบบการฟังจึงแตกต่างกันออกไป
ที่มาของชื่อ 4 นาที 33 วินาที นั้นมาจากระยะเวลาที่หยุดการแสดงเพลง ซึ่งตรงกับเวลา 4 นาที 33 วินาทีพอดีทั้งที่จริงแล้วระยะเวลาของเพลงไม่ได้ถูกกำหนดไว้ และเมื่อมีการนำมาแสดงซ้ำเวลาก็ไม่ได้ตรงเสมอไป และแม้แต่รูปแบบของการแสดงก็มีการตีความใหม่อย่างหลากหลายเช่นกัน ดังนั้น 4’ 33” อาจไม่ได้มีระยะเวลาที่แน่นอน ยิ่งผู้ฟังตั้งใจหรือจดจ่อกับการฟังเท่าไหร่การรับรู้ของผู้ฟังกับเวลาจริงก็อาจคลาดเคลื่อนไปได้ในขณะที่เวลาจริงยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
John Cage กับความรักในสิ่งที่เป็น
ผลงานของ John Cage นั้นสร้างความท้าทายให้กับผู้ฟังอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นนั้นกลับไม่ได้เป็นความท้าทายในด้านทักษะการฟังหรือใช้โสตประสาทขั้นสูง แต่เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นจากทัศนคติที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงตัวผู้ฟัง ณ โมงยามนั้นออกมาพร้อม ๆ กัน
รากฐานของผลงาน John Cage มาจากลักษณะนิสัยที่ชอบทดลองเหมือนเด็ก ๆ ความสงสัยใคร่รู้ในการตั้งคำถามและลงมือทำเมื่อผสมกับแนวคิดแบบเซนแล้วการมองโลกของ Cage จึงเกิดขึ้นในแบบที่เรียบง่ายมากกว่าที่ใครจะคาดคิด ดนตรีของเขาเป็นการเล่นกับพื้นที่และเวลา (Time and Space) เพื่อรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทอย่างที่เป็น ซึ่ง Cage ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เอาไว้ในคลิป About Silence ซึ่งจะขอถอดเนื้อมาไว้ดังนี้
“ผู้คนนั้นคาดหวังที่สิ่งจะได้ยินมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน และบางครั้งสิ่งเหล่านั้นพูดออกมาจากข้างในหรือนั่นก็คือความหมายของเสียง เมื่อผมพูดถึงดนตรีผู้คนจะจดจำไว้ว่าผมพูดเกี่ยวกับเสียงที่ไม่ได้หมายความถึงสิ่งใด มันไม่ใช่อะไรที่อยู่ภายในแต่เป็นสิ่งภายนอก และเขาว่ากันว่าผู้คนเหล่านี้ที่เข้าใจแล้วในท้ายที่สุดจะพูดว่าสิ่งที่ฟังแล้วเป็นเพียงแค่เสียงเท่านั้นเป็นอะไรที่ไร้ค่า แต่สำหรับผมที่รักเสียงเหล่านั้นในแบบที่มันเป็น ผมไม่อยากให้มันเป็นอะไรไปมากกว่าที่มันเป็น ผมไม่อยากให้มันเป็นจิตวิทยา ผมไม่อยากให้เสียงพยายามทำตัวเป็นถังหรือทำตัวเป็นประธานหรือทำเป็นว่ามันกำลังตกหลุมรักเสียงอื่น ผมแค่อยากให้มันเป็นเสียงอย่างที่มันเป็น และผมก็ไม่ได้โง่นะ มีนักคิดนักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อดังอย่าง Emmanuel Kant ได้กล่าวไว้ว่ามีเพียงสองสิ่งเท่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องหมายถึงสิ่งใดเลย อย่างแรก คือ ดนตรีและสิ่งที่เหลือคือเสียงหัวเราะ การที่เสียงไม่ได้มีความหมายอะไรสักอย่างมันจะสามารถมอบความพึงพอใจอันลึกล้นเหลือคณาให้เราได้ ประสบการณ์เสียงที่ผมชอบมากกว่าอะไรอย่างอื่น คือ ความเงียบ และความเงียบแทบทุกที่ในโลกปัจจุบันคือการจราจร ถ้าคุณฟังเบโธเฟ่นหรือโมสาร์ทคุณจะเห็นว่ามันก็เหมือนเดิม แต่ถ้าคุณฟังเสียงของการจราจรมันจะไม่มีที่ไหนที่เหมือนกันเลย” John Cage
หากลองพิจารณาผลงานทั้งหลายของ John Cage ให้ดีจะพบว่าผลงานส่วนใหญ่นั้นมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่ พื้นที่ เวลา และผู้รับสาร/ผู้แสดง ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 นั้นไม่ได้มีความตายตัวแต่อย่างใด อาจจะมีโครงร่างบางประการเป็นหลักยึดอย่าง Score หรือแนวคิดบางอย่าง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นหาโอกาสเกิดสิ่งเดียวซ้ำกันได้ไม่ง่ายนัก ทุกครั้งที่เล่นผลงานของ John Cage จึงมีความสดใหม่และความเป็นไปได้ที่ไม่เคยพบเจออยู่เสมอ
แนวคิดของ John Cage ส่งผลต่อวิธีการรับรู้ในด้านดนตรีและเสียงให้กับสังคมดนตรียุคใหม่อย่างมหาศาล โดยเฉพาะในด้านของ Sound Art และดนตรีร่วมสมัยแขนงต่าง ๆ นอกเหนือจากแนวความคิดอันเรียบง่ายแต่มีความหมายเหล่านี้แล้วความสงสัยแสนสำคัญที่เขาทิ้งไว้ก็เป็นสิ่งที่น่าขบคิดอีกเช่นกัน
“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงกลัวไอเดียใหม่ ๆ นัก ผมสิที่กลัวกับไอเดียเก่า ๆ พวกนั้น” - John Cage
ทศธิป สูนย์สาทร
ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี
--------------------
REF: