เรื่องราวที่สร้างความฮือฮาในวงการฟุตบอล เกิดขึ้นในศึกฟุตบอล ซูเปอร์คัพ ของตุรกี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเป็นการพบกันระหว่างสองทีมยักษ์ใหญ่ของประเทศ "กาลาตาซาราย" แชมป์ เตอร์กิช ซูเปอร์ลีก พบกับ "เฟเนร์บาห์เช่" แชมป์ เตอร์กิช คัพ
เมื่อเริ่มการแข่งขันไปได้แค่ 50 วินาที เมาโร อิคาร์ดี้ ก็มายิงให้ กาลาตาซาราย ออกนำอย่างรวดเร็ว 1-0 แต่หลังจากนั้น นักเตะของ เฟเนร์บาห์เช่ ก็พากันเดิน "วอล์คเอาท์" ออกจากสนามไป ฝ่ายจัดการแข่งขันและสหพันธ์ฟุตบอลตุรกี (ทีเอฟเอฟ) ประชุมกันได้ครู่หนึ่งก็ประกาศให้ กาลาตาซาราย คว้าแชมป์รายการนี้ไปครองเป็นสมัยที่ 17 ชนิดที่แฟนบอลต่างช็อกไปตามๆกัน
บรรยากาศในสนามเต็มไปด้วยความงุนงงของแฟนบอล เช่นเดียวกับทีมงานถ่ายทอดสดว่าจะเอายังไงกันต่อ สุดท้ายเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ทีม กาลาตาซาราย ชุดใหญ่ จึงลงสนามมาแข่งกับทีมสำรองของตัวเองให้แฟนบอลในสนามดูแทน ขณะที่ทีมงานถ่ายทอดสดก็ทำงานกันต่อไปตามโปรแกรมเดิมจนจบ
มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และทำไม เฟเนร์บาห์เช่ ถึงวอล์คเอาท์ไม่ยอมแข่งขันให้จบ?
*** ชมคลิปการแข่งขันได้ >>> ที่นี่ <<<
ชนวนเหตุวอล์คเอาท์
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ในเกมซูเปอร์ลีก ตุรกี แทร็บซอนสปอร์ เปิดบ้านรับการมาเยือนของ เฟเนร์บาห์เช่ คู่ปรับตลอดกาล ซึ่งผลการแข่งขันจบลงด้วยการที่ เฟเนร์บาห์เช่ บุกมาคว้าชัยชนะไปได้สำเร็จ 3-2 ท่ามกลางความดุเดือดที่มีใบเหลืองถึง 8 ใบระหว่างเกม
หลังคว้าชัยชนะได้ นักเตะกับสตาฟฟ์ของ เฟเนร์บาห์เช่ ก็ฉลองกันอย่างเริงร่ากลางสนาม กลายเป็นการทำให้ฝ่าย แทร็บซอนสปอร์ มองว่าตนเองกำลังถูกยั่วยุ ส่งผลให้แฟนบอลบางส่วนวิ่งกรูลงมาในสนามเพื่อเข้าไปทำร้ายร่างกายนักเตะทีมเยือน ฝั่งนักเตะ เฟเนร์บาห์เช่ เอง ก็พยายามป้องกันตัว แถมบางคนยังไปไล่ต่อยแฟนบอลเป็นการเอาคืน เหตุการณ์เกิดความวุ่นวายอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่สุดท้ายฝั่งนักเตะ เฟเนร์บาห์เช่ จะรีบวิ่งเข้าอุโมงค์ไป
ขณะที่บนอัฒจันทร์ก็วุ่นไม่แพ้กัน เมื่อแฟนบอลเจ้าถิ่นมีเรื่องกับบอร์ดบริหารของ เฟเนร์บาห์เช่ ที่เดินทางมาเชียร์ทีมของตัวเอง มีการขว้างปาสิ่งของใส่กันจากทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสนามจะเข้ามาระงับเหตุ
สหพันธ์ฟุตบอลตุรกี ออกแถลงการณ์ประณามทันที โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเร่งด่วน ขณะที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่า มีแฟนบอล แทร็บซอนสปอร์ โดนจับกุมไป 12 ราย
ต่อมา สหพันธ์ฟุตบอลตุรกี ประกาศลงโทษ แทร็บซอนสปอร์ ด้วยการปรับเงิน 3 ล้านลีราตุรกี (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) ห้ามแฟนบอลเข้าสนามจำนวน 6 นัด รวมถึงการที่ เอเกเมน กอร์กมาซ โค้ชของพวกเขาจะถูกห้ามทำหน้าที่ทั้งในห้องแต่งตัวและม้านั่งสำรองจำนวน 1 เกม ขณะที่ฝ่าย เฟเนร์บาห์เช่ ก็ถูกลงโทษด้วยเช่นกัน โดยสั่งแบน 2 นักเตะที่มีเรื่องกับแฟนบอลไปคนละ 1 เกม
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ เฟเนร์บาห์เช่ ไม่พอใจมากเนื่องจากมองว่าผู้ตัดสินไม่ยอมควบคุมสถานการณ์ให้ดี เพราะจริงๆแล้วช่วงระหว่างเกม 90 นาที ก็มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเป็นระยะ และเป็นอำนาจของผู้ตัดสินที่จะยกเลิกการแข่งขันได้ แต่ก็ไม่ดำเนินการใดๆ
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขามองว่าไม่ได้รับความยุติธรรม
ลูกหนังตุรกีลำเอียง?
"การปฏิบัติที่ เฟเนร์บาห์เช่ ได้รับมันไม่ใช่สิ่งที่เราจะทนยอมรับได้" อาลี ค็อค ประธานของ เฟเนร์บาห์เช่ ระบุ พร้อมขู่ว่าอาจตัดสินใจ "ถอนทีม" จากการแข่งขันฟุตบอลลีกตุรกีเสียให้รู้แล้วรู้รอด เนื่องจากมองว่าทีมของเขาไม่เคยได้รับความยุติธรรมเลยทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ต้องให้สมาชิกสโมสรโหวตลงคะแนนเสียก่อนว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป
โดยเหตุการณ์ที่ เฟเนร์บาห์เช่ มองว่าพวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมนั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ซึ่งตัวของ อาลี ค็อค เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเห็น “ข้อผิดพลาดแปลกๆ” ของผู้ตัดสินอยู่เสมอ และยังอ้างว่าผู้ตัดสินกำลังมีความพยายามที่จะทำให้ เฟเนร์บาห์เช่ หมดลุ้นแชมป์ลีก
และไม่ใช่แค่ทีมของพวกเขาทีมเดียว แต่ทีมอื่นๆในลีกก็ต้องเจอเหตุการณ์การตัดสินที่มีข้อกังขาอยู่เสมอ เช่น
น่าสังเกตว่าทีมที่ได้ประโยชน์มักเป็น กาลาตาซาราย อยู่เสมอ
และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการเปิดเผยคลิปที่ผู้ตัดสินเปิดปากยอมรับว่า เขาต้องกลับคำตัดสินจาก VAR เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ กาลาตาซาราย เพราะเจอแรงกดดัน
แต่สุดท้ายการถอนทีมของ เฟเนร์บาห์เช่ ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะบรรดาสมาชิกสโมสรต่างมองว่าต่อให้สโมสรถอนตัวและยอมไปเล่นในลีกล่าง ก็ต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้เช่นกัน การถอนตัวจึงยังไม่เกิดขึ้น ‘อย่างน้อยก็ในตอนนี้’ แต่จะพิจารณากันใหม่เมื่อฤดูกาลจบลง
ฟางเส้นสุดท้าย
เกมซูเปอร์คัพ 2023 จริงๆแล้วมีกำหนดแข่งกันตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2023 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตการท่องเที่ยว "ริยาด ซีซั่น"
อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขันเกมดังกล่าว ทั้งสองทีมต้องการสวมเสื้อยืดตอนวอร์มที่มีรูปของ "มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก" ผู้ก่อตั้งตุรกียุคใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 1 ศตวรรษของสาธารณรัฐตุรกี แต่ฝ่ายจัดการแข่งขันไม่อนุญาตให้นักเตะสวมเสื้อยืดที่มีข้อความสื่อถึงการเมืองลงไปในสนาม การแข่งขันจึงถูกยกเลิกไปในนาทีสุดท้าย
ต่อมา สหพันธ์ฟุตบอลตุรกีได้ประกาศวันแข่งใหม่ โดยให้มาแข่งกันในวันที่ 7 เม.ย. ที่สนาม ชานลูร์ฟา จีเอพี สเตเดี้ยม เมืองชานลูร์ฟา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ซึ่งอยู่ห่างจากนครอิสตันบูล ซึ่งเป็นที่ตั้งของทั้ง กาลาตาซาราย และ เฟเนร์บาห์เช่ นับพันกิโลเมตร
เฟเนร์บาห์เช่ ติดต่อไปยัง สหพันธ์ฟุตบอลตุรกี หรือ ทีเอฟเอฟ เพื่อให้เลื่อนเกมนี้ออกไปก่อน เพราะวันพฤหัสบดีที่ 11 เม.ย. นี้พวกเขามีคิวไปเยือน โอลิมเปียกอส ในเกม ยูฟ่า ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีก รอบก่อนรองชนะเลิศ นัดแรก ซึ่งโปรแกรมซูเปอร์คัพที่แทรกเข้ามาทำให้ทีมของเขาแทบไม่มีเวลาเตรียมตัว แต่ก็โดน ทีเอฟเอฟ บอกปัดไม่ยอมเลื่อนแข่งให้
จากนั้น เฟเนร์บาห์เช่ ก็พยายามขอให้มีการใช้กรรมการจากต่างแดนในเกมนี้เพื่อความยุติธรรม เพราะพวกเขามองว่า กาลาตาซาราย มักได้ประโยชน์จากผู้ตัดสินอยู่เสมอตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็โดนปฏิเสธจาก ทีเอฟเอฟ อีกครั้ง
เรื่องราวทั้งหมดทำให้ เฟเนร์บาห์เช่ มองว่าตนเองกำลังถูกบีบให้ลงแข่งอย่างไม่เป็นธรรม จึงตัดสินใจประท้วงด้วยการส่งทีมรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปีลงสนามเกมนี้แทน และยังมีการเปิดเผยด้วยว่าในตอนแรกพวกเขาก็วางแผนจะให้นักเตะหลายๆคนแกล้งทำเป็นเจ็บแล้วเดินออกจากสนามหลังจากผ่านไปสักพัก เพื่อที่จะได้เข้ากฎสำหรับการทำให้เกมโดนยกเลิกเพราะมีนักเตะในสนามไม่เพียงพอ แต่สุดท้ายพวกเขาก็มองว่า การ "วอล์คเอาท์" น่าจะเป็นการประท้วงที่เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ กาลาตาซาราย ได้แชมป์รายการนี้ไปแบบงงๆ ชนิดที่โดนบอลยังไม่ครบทุกคนด้วยซ้ำ