svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

"แอธเลติก บิลเบา" ทีมที่เป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอล

รู้จักกับทีม "แอธเลติก บิลเบา" สโมสรฟุตบอลที่มีความเป็นท้องถิ่นนิยมเข้มข้นที่สุดในโลก โดยมีประเพณีไม่ใช้นักเตะต่างชาติแม้แต่รายเดียว และล่าสุดเพิ่งผงาดคว้าแชมป์ โกปา เดล เรย์ หรือฟุตบอลถ้วยของสเปน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พวกเขาทำอย่างไรถึงยังสู้กับทีมอื่นได้?

ในวงการฟุตบอลปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก แต่ละทีมต่างต้องพยายามเสริมทัพ สร้างตัวเองให้แข็งแกร่งที่สุดเพื่อพร้อมสำหรับการแข่งขันในแต่ละฤดูกาล เพราะทุกคะแนน ทุกอันดับ และทุกแชมป์ที่เพิ่มขึ้น จะหมายถึงรายได้ที่พาสโมสรไปสู่การประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

แต่มีสโมสรหนึ่งที่เลือกใช้นโยบายต่างออกไป นั่นคือ "แอธเลติก บิลเบา" ทีมดังแห่งสเปน ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ใช้นักเตะท้องถิ่นเท่านั้น และทุ่มงบประมาณไปกับการปั้นนักเตะเยาวชนขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ไม่ได้ใช้วิธีซื้อตัวผู้เล่นจากสโมสรอื่น

นโยบายดังกล่าวดูสวนทางกับโลกฟุตบอลในปัจจุบันจนไม่น่าจะเอาตัวรอดได้ แต่ แอธเลติก บิลเบา กลับเป็นหนึ่งในไม่กี่สโมสรที่ไม่เคยตกชั้นจากลีกสูงสุดของสเปนมาก่อนเลย แถมยังเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากสุดเป็นอันดับ 4 ของสเปนด้วยซ้ำ (เป็นรองแค่ เรอัล มาดริด บาร์เซโลน่า และ แอตเลติโก้ มาดริด) และล่าสุดก็เพิ่งจะคว้าแชมป์ โกปา เดล เรย์ หรือฟุตบอลเอฟเอคัพของสเปนได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี จากการชนะ เรอัล มายอร์ก้า ด้วยการดวลจุดโทษ 4-2 (เสมอ 1-1 ใน 120 นาที) เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา

สโมสรของชาวบาสก์ โดยชาวบาสก์ เพื่อชาวบาสก์
สโมสร แอธเลติก บิลเบา เกิดจากการร่วมมือกันของกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวอังกฤษที่มาทำงานในสเปน ซึ่งตั้งทีมฟุตบอลชื่อว่า "บิลเบา เอฟซี" กับกลุ่มนักศึกษาชาวบาสก์ที่เพิ่งกลับมาจากการไปเรียนที่อังกฤษ โดยตั้งทีมฟุตบอลที่ใช้ชื่อว่า "แอธเลติก คลับ" จนกลายเป็น "แอธเลติก บิลเบา" 

ในปี 1911 เกิดเหตุการณ์ที่ แอธเลติก บิลเบา ถูกสโมสรอื่นประท้วงอย่างหนักว่าใช้นักเตะต่างชาติมาลงแข่งขันฟุตบอลโกปา เดล เรย์ แบบผิดกฎ เรื่องลุกลามจนทำให้หลายทีมประกาศถอนตัวไม่ลงแข่งในปีนั้น บิลเบา จึงตัดสินใจยกเลิกนโยบายใช้ผู้เล่นต่างชาติ ใช้แต่นักเตะชาวบาสก์นับจากนั้นเป็นต้นมา

แอธเลติก บิลเบา เป็นหนึ่งในทีมสมาชิกแรกเริ่มของ ลา ลีก้า ที่ร่วมกันก่อตั้งลีกในช่วงทศวรรษที่ 1930 และในยุคนั้นทีมประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ด้วยการคว้าแชมป์ได้ถึง 4 สมัย แต่ความยิ่งใหญ่ของพวกเขาต้องหยุดชะงักไปจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในสเปน

ต้องเข้าใจว่าประเทศสเปนในปัจจุบันคือประเทศที่รวบรวมเอาอาณาจักรต่างๆในคาบสมุทรไอบีเรีย (ยกเว้นโปรตุเกส) เข้ามาเป็นประเทศเดียวกัน แต่ในช่วงเวลานั้น สเปนภายใต้การนำของแคว้นคาสติล (มาดริด) พยายามจะรวบรวมประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกแง่มุม ทั้งในด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ทำให้แคว้นอื่นอย่าง คาตาลุนญ่า และ บาสก์ ไม่พอใจเนื่องจากมองว่าตัวเองก็มีภาษา มีกฎหมายเป็นของตนเองอยู่แล้ว จนกลายเป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา สุดท้าย กลุ่มชาตินิยมที่นำโดยนายพล ฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ก็เป็นฝ่ายมีชัย

ภายใต้การยึดครองสเปนของนายพลฟรังโก้ ส่งผลให้นโยบาย "สเปนหนึ่งเดียว" ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น ภาษาและวัฒนธรรมของชาวบาสก์ถูกแบนอย่างสิ้นเชิง องค์กรทางการเมืองถูกยุบทิ้ง ชาวบาสก์จึงพยายามต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ

\"แอธเลติก บิลเบา\" ทีมที่เป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอล

ในแง่มุมหนึ่ง พวกเขาต่อสู้ด้วยการก่อตั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดน Euskadi Ta Askatasuna หรือ Basque Homeland and Freedom ที่เรียกกันย่อๆว่า ETA เป็นกลุ่มที่ใช้วิธีการอันรุนแรง ลอบวางระเบิด ลอบสังหารผู้เป็นศัตรู ฯลฯ แต่ในอีกมุมหนึ่ง พวกเขาต่อสู้แบบสันติวิธีผ่านทีมฟุตบอลที่สะท้อนเอกลักษณ์ของชาวบาสก์ นั่นคือทีม แอธเลติก บิลเบา

จากนโยบายไม่ใช้นักเตะต่างชาติที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1911 นำมาสู่การใช้เฉพาะนักเตะชาวบาสก์แบบไม่มีข้อแม้ และทุ่มงบประมาณไปกับการสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนที่เข้มแข็งเพื่อสร้างนักเตะขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ให้ได้อย่างต่อเนื่อง 

\"แอธเลติก บิลเบา\" ทีมที่เป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอล "เลอซาม่า" ศูนย์ฝึกชาวบาสก์
อะคาเดมี่ "เลอซาม่า" ของแอธเลติก บิลเบา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1971 เป็นศูนย์ฝึกนักเตะเยาวชนที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของโลก ที่สร้างนักเตะชื่อดังมาประดับวงการมากมาย และได้รับการยกย่องให้เป็นเหมือน "สถาบัน" สำหรับการเรียนรู้ด้านฟุตบอลของเด็กๆชาวบาสก์

“สโมสรฟุตบอลแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเรา (ชาวบาสก์) ตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิดมา” จอน โซลอน อดีตนักเตะของสโมสรซึ่งเป็นโค้ชทีมรุ่น U16 กล่าว “เด็กชายคนใดก็ตามที่เกิดในรัศมี 60 กม. จากที่นี่ จะได้รับลูกโป่งและของขวัญจากนักกีฬา แผนกสูติกรรมจะฉาบด้วยสีแดงและสีขาว" 

"ผมเกิดที่บิลเบา และการได้สวมชุดวอร์มและเป็นตัวแทนของสโมสรแห่งนี้คือทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับผม ผมรู้ว่าเด็กๆ รู้สึกภูมิใจเหมือนกัน เราทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่นี่ในฐานะครอบครัว"


ด้าน โฆเซ่ อาโมร์โรตู ผอ.อะคาเดมี่ กล่าวว่า “85 เปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นทีมชุดใหญ่มาจากอะคาเดมี่แห่งนี้ และค่าเฉลี่ยของเด็กที่อยู่ที่นี่ก่อนที่จะขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่คือ 7 ปี เรามีแมวมองทั่วพื้นที่ และเรายังมีสโมสรพันธมิตรกว่า 150 สโมสรในภูมิภาคที่คอยติดตามความก้าวหน้าของเด็ก ๆ และส่งพวกเขามา หากรู้สึกว่าเด็กคนนั้นๆมีคุณสมบัติที่จะเล่นที่นี่"

ขณะที่ครอบครัวชาวบาสก์ก็ต้องการให้ลูกหลานของพวกเขาเล่นให้ทีมเช่นกัน ทุกๆปีมีเด็ก 9-10 ขวบกว่า 1,500 คนที่นั่งรถไฟเพื่อมาไขว่คว้าหาโอกาสในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่นี่ ดังนั้นการหาผู้เล่นที่มีแววสำหรับสโมสรแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องยาก

\"แอธเลติก บิลเบา\" ทีมที่เป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอล นอกจาก "เลอซาม่า" จะเป็นศูนย์ฝึกฟุตบอลแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถาบันที่ทำให้เด็กๆรู้จักคุณค่าของความเป็น "ชาวบาสก์" ของตัวเองอีกด้วย

“เด็กๆ จะมีบทบาทและความรับผิดชอบทันทีที่เข้าไปในศูนย์ฝึก ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกชุด ทำความสะอาดห้องแต่งตัว หรือขนอุปกรณ์ต่างๆ" ผอ. อะคาเดมี่ กล่าว

“ผมเคยทำงานที่แอตเลติโก มาดริดและสโมสรชั้นนำอื่นๆ แต่ไม่มีใครมีอย่างที่เรามี เรามีวัฒนธรรมที่นี่ เป็นหน้าที่ของเราที่จะสร้างคนดีๆ เช่นเดียวกับผู้เล่นที่ดี"

"ครอบครัวคือทุกสิ่งทุกอย่างของชาวบาสก์ และเราต้องการทำสิ่งที่ถูกต้องโดยคนของเราเอง ไม่มีความรู้สึกภาคภูมิใจสำหรับเด็กๆ มากไปกว่าการเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรแห่งนี้”

สิ่งสำคัญคือเด็กพวกนี้ต้องรับรู้ว่า "ชีวิต" มีความหมายมากกว่าฟุตบอล เพราะอาชีพนี้มีอายุการทำงานที่สั้นมาก และอาจจบลงได้ทุกเมื่อจากหลากหลายปัจจัย เช่น อาการบาดเจ็บ

“ทีมเยาวชนชุดสูงสุดของเรา (ก่อนก้าวสู่ทีมชุดใหญ่) ประกอบด้วยเด็ก 21 คนที่มีอายุระหว่าง 18-19 ปี ปัจจุบันมี 13 จาก 21 คนนี้ที่กำลังศึกษาระดับปริญญา อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้บังคับว่าเด็กๆทุกคนต้องเรียนหนังสือ เราเพียงแต่สนับสนุนค่านิยมที่ดีเท่านั้น"

ในด้านฟุตบอล เด็กทุกคนจะได้รับการฝึกเบสิคอย่างเข้มข้น ใครที่ไม่มีความกระตือรือร้นมากพอจะถูกไล่ออกจากสนามทันทีเพื่อให้ไปยืนดูเพื่อนอย่างเดียว และยังมีการทดสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อคัดคนที่ดีที่สุดก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้น

“ทุกคนที่นี่จะต้องเป็นตัวแทนของสโมสรและแฟนบอล” อิบัน ฟูเอนเตส หัวหน้าโค้ชรุ่น U18 กล่าว “เด็กทุกคนต้องทำใจให้ได้ และต้องได้รับการเตือนอยู่เสมอว่ามีคนอื่นๆพร้อมจะก้าวขึ้นมาแทนที่ตัวเอง นี่คือธรรมชาติของฟุตบอล"

"ทุกคนในศูนย์ฝึกแห่งนี้มีตั๋วปี ถ้าทีมชุดใหญ่เล่นเป็นทีมเหย้า ก็จะพากันเข้าไปชมเกมในสนาม ถ้าเป็นทีมเยือน เด็กๆ จะฝึกซ้อมแล้วกลับบ้านไปดูเกมกับครอบครัว นอกจากโค้ชก็ยังมีจุดนัดพบในเมืองที่จะมานั่งดูเกมด้วยกัน เราทุกคนเป็นสมาชิกของครอบครัวแอธเลติก มีวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง”

นี่คือเหตุผลว่าทำไม แอธเลติก บิลเบา ถึงไม่ง้อนักเตะต่างชาติอย่างที่สโมสรอื่นๆทำกัน เพราะพวกเขาบ่มเพาะนักฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เพื่อให้ให้สู้อย่างเต็มที่ในฐานะ "ชาวบาสก์" นั่นเอง