จากกรณีที่ฝ่ายจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำหนดแข่งกันระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 ประกาศว่าจะไม่มีการแข่งขันกีฬา "มวย" ในการแข่งขันครั้งนี้ แต่จะจัดแข่งกีฬา "กุน ขแมร์" แทน โดยอ้างว่าเป็นศิลปะการป้องกันตัวของชาติเจ้าภาพ จนทำให้สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยตอบโต้ด้วยการประกาศไม่ส่งนักกีฬาลงแข่งขัน เช่นเดียวกับสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (อีฟม่า) ที่เผยว่าจะลงโทษทุกชาติที่ส่งนักกีฬาแข่ง ด้วยการไม่ให้ลงแข่งขันในอีเวนท์ที่ อีฟม่า ควบคุมดูแลอยู่ทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า "กุน ขแมร์" คือกีฬาแบบใด และมีความเหมือนหรือแตกต่างจาก "มวยไทย" ที่เรารู้จักคุ้นเคยในปัจจุบันนี้อย่างไร
"กุน ขแมร์" กับประวัติศาสตร์ที่ชาวเขมรเชื่อว่ามีมานานนับพันปี
"กุน ขแมร์" เป็นกีฬาศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านของประเทศกัมพูชา มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ "Kbach Kun Pradal Khamm" หมายถึง "การต่อสู้อย่างอิสระ" นับเป็นศิลปะการต่อสู้ท่ายืนโดยมีเป้าหมายเพื่อน็อกคู่ต่อสู้ บีบให้ยอมแพ้ หรือการชนะคะแนน
"กุน ขแมร์" ใช้อวัยวะ 4 อย่างเป็นอาวุธต่อสู้ ได้แก่ หมัด, เท้า, เข่า และศอก รวมถึงใช้การเข้ากอดเพื่อโจมตีระยะประชิด โดยนักสู้ชาวกัมพูชามักจะใช้ศอกโจมตีมากกว่าศิลปะการต่อสู้อื่นๆ ในภูมิภาคนี้
ประวัติศาสตร์ของ "กุน ขแมร์" มีมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรขอม เป็นการต่อสู้ที่ใช้ในกองทหารของอาณาจักร มีรากฐานมาจากการต่อสู้แบบประชิดตัว จากหลักฐานในภาพนูนต่ำและนูนสูงตามปราสาทหินต่างๆแสดงให้เห็นว่ามีรูปแบบคล้ายการต่อสู้ชนิดนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9
ในช่วงเวลานั้น อาณาจักรขอมหรือเขมรได้ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ กินพื้นที่ทั้งในกัมพูชา ลาว ไทย และบางส่วนของเวียดนาม ส่งผลให้กัมพูชามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยและลาวอย่างมาก สิ่งนี้ทำให้ชาวเขมรยืนยันว่ารูปแบบการชกมวยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเริ่มต้นจากชาวมอญและเขมรในยุคแรกๆ ซึ่งรวมถึง "มวยไทย" ที่ชาวกัมพูชาเชื่อว่าเป็นการต่อสู้ที่มีรากฐานมาจาก กุน ขแมร์ ด้วย
กุน ขแมร์ แบบดั้งเดิม จะเป็นการต่อสู้ในหลุมดิน มือถูกพันด้วยเชือก หรือที่เรียกว่า "คาดเชือก" บางครั้งมีการนำเปลือกหอยมาพันรอบข้อนิ้วเพื่อเพิ่มการบาดเจ็บให้คู่ต่อสู้ และการต่อสู้กันจนถึงแก่ความตายก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการต่อสู้แบบนี้
อย่างไรก็ตามในช่วงยุคอาณานิคม ศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ถูกเจ้าอาณานิคมจากยุโรปมองว่าเป็นสิ่งโหดร้ายและไร้อารยธรรม ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสพยายามเปลี่ยนศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ให้กลายเป็นกีฬาโดยเพิ่มกติกาบางอย่างเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการจับเวลา แบ่งการแข่งขันเป็นยก การสู้ในเวทีมวย และให้ใช้นวมชกมวยแบบตะวันตกเพื่อลดอาการบาดเจ็บ
ภายหลังยุคอาณานิคมและความวุ่นวายในสงครามเวียดนาม รวมถึงหลังจากยุคที่ เขมรแดง ปกครองประเทศ ทางกัมพูชาได้พยายามที่จะฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขากลับคืนมาอีกครั้ง และ "กุน ขแมร์" ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาด้วย โดยเริ่มมีโรงยิมเพื่อฝึกฝนอย่างเป็นจริงเป็นจัง พัฒนามาสู่การมีนักสู้ต่างชาติเข้ามาฝึก รวมถึงการจัดการแข่งขันทุกๆสัปดาห์ ขยายไปสู่การไปแข่งขันในประเทศต่างๆทั่วโลก
ปัจจุบัน กุน ขแมร์ ควบคุมโดยสหพันธ์มวยกัมพูชา (CBF) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1961 โดยผู้ตัดสินและนักมวยทุกคนต้องมีการขึ้นทะเบียนอนุญาตจาก CBF สถานีโทรทัศน์ที่จัดการแข่งขันมวยก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ CBF (แต่ละสถานีมีหน้าที่จัดนักมวย ผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และนักดนตรี ส่วน CBF จัดหาผู้ตัดสินการแข่งขัน และผู้รักษาเวลา)
ความพยายามในการรวมศิลปะการต่อสู้ของภูมิภาคเป็นหนึ่งเดียว
จากการที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศิลปะการต่อสู้แบบมวยคล้ายกัน ในการประชุมอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2538 กัมพูชาเสนอให้รูปแบบมวยที่คนไทยเรียกว่า "มวยไทย" เปลี่ยนชื่อเป็น "มวยสุวรรณภูมิ" หรือ "มวยซี" เพื่อรวมรูปแบบมวยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกันภายใต้คำศัพท์สากลและเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกชื่อผิดทางการเมือง
อย่างไรก็ตามประเทศไทยคัดค้านแนวคิดนี้ โดยระบุว่าแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสไตล์การชกมวยของตัวเอง และประเทศไทยมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้สไตล์การชกมวยเป็นกีฬาสากล เมื่อกีฬานี้เปิดตัวครั้งแรกในซีเกมส์ พ.ศ. 2548 กัมพูชาไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันมวยไทยเพื่อประท้วงชื่อที่ใช้เรียกกีฬานี้ สุดท้ายแล้วการแข่งขันมวยไทยหรือคิกบ็อกซิ่งในกีฬาซีเกมส์จะถูกเรียกว่า "มวย" เพียงชื่อเดียว
รูปแบบการแข่งขัน "กุน ขแมร์" ในปัจจุบัน
จะชกกันทั้งสิ้น 5 ยก ยกละ 3 นาที และจัดขึ้นที่เวทีมวยขนาด 20x20 ฟุต จะมีการพัก 1.30-2.00 นาทีระหว่างยก ซึ่งก่อนเริ่มแข่งขันแต่ละคู่ จะมีพิธีกรรมสวดมนต์และไหว้ครูตามธรรมเนียมของชาวเขมรโบราณ โดยมี 17 รูปแบบ มีพื้นฐานมาจากตัวละครหลักของเรื่อง รามเกียรติ์ และระหว่างการแข่งขัน จะมีการบรรเลงดนตรีพื้นเมืองของกัมพูชาด้วย
กฎโดยทั่วไป
อาจกล่าวโดยสรุปคือ กฎกติกาของการแข่งขันมวยไทยและ กุน ขแมร์ แทบจะเหมือนกันทุกประการ สิ่งที่แตกต่างระหว่างกีฬาต่อสู้ทั้ง 2 แบบนี้คือสไตล์การต่อสู้ของนักมวยเท่านั้น โดยมวยไทยปัจจุบันจะเน้นการกอดปล้ำและใช้หมัด เข่า เตะ เป็นหลัก แต่นักมวย กุน ขแมร์ จะเน้นการต่อสู้ระยะประชิดและใช้ศอกเป็นอาวุธมากกว่า