2 เมษายน 2568 นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่ของประเทศไทยเป็นครั้งแรกของปี เริ่มจากทางใต้สุดที่ อ.เบตง จ.ยะลา ในวันที่ 4 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 12.19 น. จากนั้นดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่ต่างๆ ของไทย ไล่ลำดับขึ้นไปทางเหนือเรื่อยๆ จนสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 เวลาประมาณ 12.17 น. หากเราสังเกตวัตถุกลางแดดในช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากตามเวลาของแต่ละพื้นที่ จะเห็นวัตถุเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี
ขอบคุณภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ทั้งนี้ แม้ในวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นต่างๆ ของโลก จะทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสม ฯลฯ ที่อาจส่งผลต่ออุณหภูมิ ดังนั้นจึงอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุดของปี
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และครั้งที่ 2 ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ทั้งนี้ วันและเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลก ส่งผลให้แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจะมีวัน และเวลาการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากที่แตกต่างกัน ดูข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากทั้ง 77 จังหวัด ในประเทศไทย (พิกัดเขตอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด) ได้ที่ https://www.narit.or.th/Sun-Overhead-TH-2568
ขอบคุณภาพจาก : freepik
ขอบคุณภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ , freepik