svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว อธิบาย ทำไมรอยเลื่อน 3 แนว ส่งผลต่อ กทม. ได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว อธิบาย ทำไมรอยเลื่อน 3 แนว ส่งผลต่อ กทม. ได้
02 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว อธิบาย ทำไมรอยเลื่อน 3 แนวที่มีอยู่ ส่งผลต่อกรุงเทพฯ ได้ ย้ำถึงเวลาสำรวจรอยเลื่อนอย่างต่อเนื่อง พร้อมงบสนับสนุน จะรับมือได้

2 เมษายน 2568 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "สังคายนาระบบเตือนภัย" เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว โดยผ่านระบบ On Line ถ่ายทอดสด เพจสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภูมิภาคของเรามีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวเยอะ จากภาพประกอบ เส้นสีต่างๆ ที่เห็นก็เป็นรอยเลื่อนทั้งนั้น และส่วนใหญ่อยู่ในเมียนมา บางส่วนอยู่ที่จีน และบางส่วนอยู่ในไทย แต่ที่อยู่ในไทยเป็นรอยค่อนข้างเล็ก มีอัตราการเลื่อนตัวต่ำกว่าที่อยู่ในเมียนมา ซึ่งในเมียนมาเองก็มีแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกของอินเดียกับของฝั่งไทย ซึ่งก็อยู่ตามแนวทะเลอันดามันไปถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา นี่คือแรงที่ให้กำเนิดแผ่นดินไหวได้ทั้งหมด แต่เราเคยประเมินความเสี่ยงก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วทำให้พอเข้าใจปัญหาอยู่ ว่าตัวที่จะมีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ มีแค่ไม่กี่แหล่ง

แนวแรกที่อาจส่งผลได้คือ รอยเลื่อนสีเทาใน จ.กาญจนบุรี อาจทำให้เกิด 7.5 ได้สูงสุด และส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯ เพราะมันอยู่ใกล้ โดยหลายสิบปีก่อนเกิดขนาด 5.9 ซึ่งมีผลต่อกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นมีอาคารสูงน้อยมาก 

แนวที่สอง ที่คิดว่าอาจเป็นสถานการณ์อันตรายต่อกรุงเทพฯ คือรอยเลื่อนสกาย สีแดง ที่ผ่ากลางเมียนมา ไล่จากมัณฑะเลย์ ลงเนปดอว์ เฉียดย่างกุ้ง 

และแนวสุดท้าย ที่อาจเป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ ได้ คือแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกที่อยู่ฝั่งตะวันตกของเมียนมา เรียกว่าแนวมุดตัวอาระกัน 

3 แหล่งนี้ คนที่ศึกษารุ่นนี้คิดว่าเป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ แม้จะอยู่ไกลไปมาก แต่ก็ส่งคลื่นแผ่นดินไหวมาถึงกรุงเทพฯ และเนื่องจากกรุงเทพฯ มีแผ่นดินอ่อนขนาดใหญ่ มันจะขยายความรุนแรงแผ่นดินไหวได้ประมาณ 3-4 เท่า ก็หมายความว่า แม้จะเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองกาญจน์ หรือรอยเลื่อนสกายที่เมียนมาห่างไปไกลมากหลายพันกิโล หรือเกิดแนวมุดตัวอาระกัน คลื่นวิ่งมาถึงกรุงเทพฯ แม้จะอ่อนแรงไปแล้วเพราะมันไกล แต่มันจะถูกขยายให้แรงขึ้นมาใหม่ได้ 3-4 เท่าตัว และสิ่งที่ขยายขึ้นมาก็เป็นคลื่นความถี่ต่ำ หมายความว่าการสั่นสะเทือนที่อยู่บนผิวดิน จะเคลื่อนตัวแบบช้าๆ ไปซ้ายทีขวาที เป็นจังหวะที่กว่าจะครบรอบใช้เวลาหลายวินาที นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คนอยู่บนดินจะรู้สึกว่าเราเวียนหัว จังหวะช้าๆ ซึ่งการสั่นแบบช้าๆไม่ค่อยส่งผลต่ออาคารขนาดเล็ก เพราะจังหวะไม่ตรงกัน เราเรียกว่าความถี่ธรรมชาติ แต่อาคารที่โยกตัวเข้ากับจังหวะของพื้นดิน คือโยกตัวช้าๆ เหมือนกัน นั่นคืออาคารสูง ก็จะมีผลกระทบรุนแรง อาทิ คอนโด อาคารออฟฟิศสูงๆ และมีอาคารถล่มเกิดขึ้น 

สำหรับเหตุการณ์ที่เมื่อวันศุกร์ ระดับที่เราประเมินไว้ เชื่อว่าสูงสุดที่จะเป็นไปได้ แต่โอกาสที่จะเกิดแบบนั้นมีน้อยมากในช่วงชีวิตเรา หรือ มีโอกาส 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องออกแบบเผื่อไว้ให้มันทนได้ เพราะฉะนั้นอัตราเร่งของการสั่นสะเทือนที่เราเอาผลมาได้ นำมาคำนวณเป็นเส้นกราฟ แม้ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจยาก แต่ขอให้รู้ว่า ยิ่งค่าสูง แปลว่าแรงที่กระทำต่ออาคารจะแรงมาก ถ้าเส้นลงมาต่ำก็จะเบาลงตามสัดส่วน

นอกจากนี้ การออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวทั้งในและต่างประเทศ เราเน้นไปที่โครงสร้างหลัก เช่น เสาไม่พัง กำแพงคอนกรีตต้องไม่เสียหาย แต่เราไม่ได้เน้นโครงสร้างรอง ก็คือพวกส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่นกำแพงกั้นห้อง พาดิชั่นวอล์ ฝ้าเพดาน ระบบท่อน้ำท่อประปา เพราะฉะนั้นมันมีโอกาสที่ได้รับความเสียหาย สิ่งที่หลายคนเจอและไม่อยากกลับเข้าไปอยู่ ก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่จะมีอาคารส่วนน้อยที่เสียหายไปถึงโครงสร้างหลักด้วย อาคารเหล่านั้นคงต้องไปตรวจดูอีกทีว่าออกแบบดีจริงหรือไม่ เส้นกราฟที่เราใช้ประเมินระดับความรุนแรงสูงสุดที่อธิบายไป เป็นอธิบายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยากมาก โอกาสในช่วงชีวิตของเราจะเจอไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเกิดแล้วจะได้ไม่เสียใจ สามารถรักษาชีวิตคนได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว อธิบาย ทำไมรอยเลื่อน 3 แนว ส่งผลต่อ กทม. ได้

ส่วนที่หลายคนอยากรู้ว่ารอยเลื่อนที่ยังไม่แสดงพลัง มีโอกาสจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ที่เป็นดินอ่อนนั้น ศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกว่า เรามีรอยเลื่อนเต็มไปหมด บางตัวก็อยู่ห่างไปไกล บางตัวมีศักยภาพทำให้เกิดแผ่นดินไหวไม่แรงนัก ก็ต้องดูส่วนผสมทั้งขนาดและระยะห่าง ถ้ามันแรงได้ระดับหนึ่งและอยู่ใกล้พอสมควร ก็เป็นอันตราย แต่ถ้าบางตัวแรงมากขึ้นไปอีกได้ แม้จะอยู่ห่างก็พิจารณาด้วย มันก็มีประมาณ 3 จุดใหญ่ๆ คือ กาญจนบุรีขนาด 7.5 ห่างไป 200 กิโลเมตร , รอยเลื่อนสกาย ห่างไป 400-1000 กิโลเมตร มีขนาด 8 , และแนวมุดตัวอาระกัน อาจจะเป็นได้ถึงขนาด 9 ห่างไปประมาณ 600-700 กิโลเมตร

เมื่อถามว่า เราเคยผ่านมาแล้วประมาณ 260 ปี จะมีผลหรือไม่ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ตอบว่า แนวมุดตัวอาระกัน มีนักธรณีวิทยาหลายคณะตรวจสอบ แต่ที่อธิบายชัดเจนที่สุดก็คือของชาวต่างชาติ ที่เขาเช็คดูว่ามีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในแนวมุดตัวอาระกันมาแล้วกี่ครั้ง ปีไหนบ้าง ซึ่งก็พบว่าเกิดใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ที่เกิดเกินขนาด 8.5 และครั้งล่าสุดที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวคือ 260 ปีที่แล้ว โดยเฉลี่ยระยะห่างระหว่างแผ่นดินไหวใหญ่แต่ละครั้งประมาณ 400-500 ปี แต่บางครั้งมันก็สั้นกว่านั้น หรือยาวกว่านั้น เราเรียกว่า return period ภาพการเกิดซ้ำประมาณ 400-500 ปี ครั้งที่แล้วเกิด 260 ปีมาแล้ว มันก็อาจสะสมพลังงานได้ที่ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะระเบิดในเร็ววัน อาจจะระเบิดเร็วกว่าปกติไม่ถึง 400 ปี หรืออาจจะรอไปถึง 700 ปี และยังไม่ระเบิดก็เป็นไปได้ แต่มันมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อกรุงเทพฯ

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ยังบอกอีกว่า ไม่เป็นห่วงระบบเตือนภัย เพราะหลังจากนี้คนจะเอาใจใส่มากขึ้น แต่สิ่งที่ควรทำคือพื้นที่อื่นในประเทศไทยมีหลายส่วนที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวอยู่ ดังนั้นหวังว่าจะมีการใส่ใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น อาคารอ่อนแอที่อยู่ในภาคเหนือ ก็ควรมีการทบทวนและประเมิน ถ้าเป็นไปได้ก็เสริมกำลังอาคารที่อ่อนแอเหล่านั้น เพราะตนเห็นอาคารโรงเรียนจำนวนมากที่อ่อนแอ แต่ก่อนจะเสริมกำลังก็ต้องประเมินก่อน ว่าอาคารไหนอ่อนแอ และต้องเสริมอย่างถูกวิธีนี่คือสิ่งที่ควรทำต่อไปในอนาคต ซึ่งทีมวิจัยของเราเคยไปเสริมกำลังอาคารมาแล้วที่เชียงใหม่ ประมาณ 7 หลัง จะใช้เงินประมาณ 10-20% ของราคาอาคารที่สร้างใหม่ ก็หมายความว่าถ้าเรามีงบสร้างอาคารใหม่ 1 แห่ง ถ้าเอางบนั้นไปเสริมอาคาร จะได้ 5-10 หลัง ก็น่าจะเป็นวิธีใช้งบที่มีประสิทธิภาพกว่า และเราก็จะใช้อาคารได้อย่างปลอดภัยในอนาคต

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องสำรวจลอยเลื่อนเพิ่มและจัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวหรือไม่ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า การสำรวจรอยเลื่อนของประเทศไทยควรทำอย่างต่อเนื่อง เพราะข้อมูลเรายังมีน้อยมาก และที่ผ่านมางบสำรวจรอยเลื่อนก็มีน้อยมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ อย่างปัญหาของกรุงเทพฯ ก็ต้องไปเน้นการสำรวจลอยเลื่อนที่กาญจนบุรีเป็นพิเศษ แม้จะมีสำรวจอยู่บ้างแต่น้อยเกินไป ทำให้มีข้อมูลใช้ประโยชน์ได้น้อย ส่วนภาคเหนือมีหลายรอยเลื่อนกว่าสอบแห่งที่กระจายอยู่ บางที่ก็เห็นชัดบนผิวดิน แต่ที่ซ่อนอยู่ในชั้นดินก็ต้องใช้เทคนิคทางด้านธรณีมาสำรวจ ตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นเรื่องเป็นราว คิดว่าหน่วยงานเกี่ยวข้องควรสำรวจอย่างสม่ำเสมอ มีงบสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ จะได้มีความรู้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และจะได้บริหารจัดการปัญหานี้ได้ 

"มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับผมว่า อาคาร สตง.ที่ถล่ม จัดเป็นอาคารสูงที่อยู่ระยะไกลที่สุดที่มันพังจากแผ่นดินไหว เมื่อเทียบกับสถิติทั่วโลก และยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดที่ถล่มจากแผ่นดินไหวด้วย คือทั้งสูงที่สุดและอยู่ไกลจากแผ่นดินไหวมากที่สุด เพราะฉะนั้นเรามีสถิติโลกสถิติใหม่ในครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ภูมิใจนัก แต่มันชี้ให้เห็นว่าปัญหาแผ่นดินไหวของไทยอยู่ในระดับที่ต้องใส่ใจพอสมควร"

logoline
News Hub