31มีนาคม 2568 ความคืบหน้ากรณี สมอ.กระทรวงอุตสาหกรรม นำเหล็กที่ได้จากเหตุ "ตึกถล่ม" อาคารสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จนทำให้อาคารทรุดตัวและถล่มลงมา ส่งให้ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ตรวจคุณภาพ โดยเหล็กที่นำมาตรวจสอบในวันนี้ มีทั้งหมด 28 ชิ้น ประกอบไปด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. 7ชิ้น/ขนาด 25 มม. 2ชิ้น /ขนาด 20 มม. 6ชิ้น /ขนาด16 มม.2ชิ้น / ขนาด 12 มม. 3ชิ้น /ลวดสลิง 5ชิ้น และเหล็กเส้น 2 ชิ้น
เบื้องต้นทีม ทีมตรวจการสุดซอยยืนยันว่า พบหนึ่งในสามยี่ห้อของเหล็กเส้นที่นำมาตรวจ มาจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานและถูกสั่งปิดไป
ล่าสุดเมื่อเวลา 19.00 น.ภายหลังจากการตรวจสอบตัวอย่างเหล็กนานกว่า 6 ชม. นายเอก นิติรมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ได้แถลงผลการตรวจสอบพบว่า จากเหล็ก ที่นำมาตรวจสอบ 7 ตัวอย่าง จำนวน 28 ชิ้น มี 2 ตัวอย่างที่เป็นเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน
น.ส ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานและหัวหน้าชุดสุดซอย ว่า จากการตรวจสอบตัวอย่างเหล็กของอาคาร สตง. พบว่า มีตัวอย่างเหล็ก 2 ตัวอย่าง ไม่ได้ค่าตามมาตรฐาน ขนาดเหล็กชิ้นที่หนึ่งคือ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. ซึ่งเก็บตัวอย่างมาจำนวน 3 บริษัท พบมีเหล็ก 1 บริษัทที่มีค่าไม่ตรงไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และค่าที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ คือค่ากำลังรับแรง และตัวอย่างที่ 2 คือเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. มีค่า มวลต่อเมตร น้อยกว่า ค่ามาตรฐานหรือที่รู้จักกันในชื่อ เหล็กมวลเบา ซึ่งทั้งสองตัวอย่างเป็นบริษัทเดียวกัน และเป็นบริษัท สมอ.มีคำสั่งให้ปิดโรงงานการผลิต ไปเมื่อช่วงธันวาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การตรวจตัวอย่างเหล็กในวันนี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะจะบอกได้ว่า เหล็กดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้อาคารทรุดตัวลงมา สมอ.จึงจะไปทำการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม รวมถึงจะเข้าไปตรวจสอบโรงงานดังกล่าวอีกครั้งว่า มีการละเมิดคำสั่งลักลอบผลิตเหล็กหรือไม่ หรือมีการลักลอบขนย้ายเหล็กออกไป จากพื้นที่หรือไม่ หากมีการละเมิดคำสั่ง ก็จะมีมาตรการขั้นเด็ดขาด ส่วนคดีเก่าที่มีการสั่งปิดโรงงาน ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ของคณะกรรมการที่มีอัยการเป็นผู้ร่วมด้วย
ด้าน รศ.ดร.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ กรรมการโยธา วิศวกรรมสถานฯ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า สำหรับตัวอย่างที่มีปัญหาทั้ง 2 ตัวอย่าง คือ เหล็กข้ออ้อยที่มีขนาด 32 มม. และ 20 มม. ซึ่งเหล็กทั้งสองสามารถนำมาเป็นโครงสร้างหลักได้ทั้งคู่ โดยเฉพาะเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม. มักใช้ในการประกอบฐานเสาอาคาร เพื่อทำการหล่อปูน
แต่เมื่อทำการตรวจสอบความคราด หรือค่ากำลังรับแรง ไม่ตรงไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อนำไปคำนวณ เพื่อทำการก่อสร้าง ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยง ในโครงสร้างของตัวอาคารได้ (ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเหล็กเส้นนี้สามารถรับแรงได้ประมาณ 50 กก. แต่พอรับน้ำหนักจริง ต้องรับน้ำหนักมากถึง 60 กก. ก็อาจจะทำให้เหล็กเส้นนี้วิบัติได้ เมื่อเหล็กรับแรงไม่ไหวแน่นอนว่า โครงสร้างต่างๆ ก็มีความเสี่ยง ด้วยเช่นเดียวกัน)
ส่วนในกรณีของ เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. ก็เป็นเหล็ก ที่มักจะมาใช้ทำฐานหรือเสาเล็กๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบพบว่า น้ำหนักไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งเมื่อน้ำหนักเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ก็จะสัมพันธ์กับขนาดเหล็ก และหน้าตัดของเหล็ก ที่จะมีขนาดเล็กลง เมื่อนำเหล็กที่มีหน้าตัดไม่ได้ตรงตามมาตรฐาน ไปคำนวณเพื่อสร้างต้นเสา จะส่งผลให้ค่าอื่นๆคลาดเคลื่อน และมีความเสี่ยงกับตัวอาคารเช่นเดียวกัน (ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น นำเหล็กขนาด 20 มม. จำนวน 20 แท่ง สร้างต้นเสา 1 ต้น โดยใช้ปูนจำนวน..../หิน..../ทราย.../น้ำ..../ แต่ในความเป็นจริง เหล็กข้ออ้อยที่นำมาใช้ มีขนาดหน้าตักเพียง 18 มม. นั่นหมายความว่า การคำนวณส่วนประกอบอื่นๆ จะคลาดเคลื่อนไปด้วยส่งผลต่อความแข็งแรงทนทานของเสาต้นนั้นๆ)
โครงสร้างเหล็ก เป็นส่วนสำคัญในการก่อสร้างฐานรากของตัวอาคาร แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่อาจจะทำให้อาคารถล่มลงมา ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น แบบการก่อสร้าง ปูน ปัจจัยอื่นๆ ด้วย ดังนั้นการเก็บตัวอย่างปูนมาตรวจ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เชื่อว่าหลังจากนี้ สมอ. อาจจะเก็บตัวอย่างอื่นๆ มาตรวจเพิ่มเติมอีก
ด้าน นายเอก นิติรมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า การเก็บตัวอย่างของเหล็กจากอาคาร สตง. ค่อนข้างมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องของ การกู้ภัยที่ต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการขอเข้าพื้นที่ บอกว่ากว่าจะได้ตัวอย่างเหล็กชุดนี้มาค่อนข้างใช้เวลาในการเจรจากับ สตง.ค่อนข้างนาน ทำให้เรายังไม่อยากชี้ชัดว่า เหล็กจากบริษัทใดที่มีปัญหา เพราะเกรงว่าจะมีความยากลำบาก ในการทำงานหลังจากนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัย และข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น