28 มีนาคม 2568 กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลสำเร็จขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ผ่านโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีการปัจฉิมนิเทศและมอบใบประกาศนียบัตรให้กับบุคลากรรุ่นแรกกว่า 1,300 คน ที่ผ่านการพัฒนาและเสริมทักษะสู่การเป็นเชฟ พร้อมสร้าง Train The Trainer จำนวน 325 คน คาดต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร สร้างคุณค่า และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กว่า 1,500 ล้านบาท สอดรับกับนโยบายครัวไทยสู่โลก
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเรือธงสำคัญในการมุ่งยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทยในการสร้างงาน สร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS (One Family One Soft Power) เพื่อพัฒนาความสามารถของคนไทยให้สร้างมูลค่า เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) เสริมทักษะเดิม (Reskill) โดยเฉพาะสาขาอาหารไทย ถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังที่สุดเพราะเป็นมากกว่าอาหารโดยเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาติ
กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ด้วยการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อยกระดับสินค้าทั้งด้านมาตรฐานและดีไซน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล โดยเร่งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาหลักที่ได้รับมอบหมาย คือ แฟชั่นและอาหาร โดยเฉพาะสาขาอาหารซึ่งประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็น ”ครัวของโลก”
จึงสั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ร่วมบูรณาการ 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยโดยมุ่งสร้างกำลังคนผ่านการพัฒนาและสร้างทักษะให้แก่บุคคลด้านอาหาร รวมถึงเพิ่มความแข็งแกร่ง ให้แก่ ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอาหารผ่าน 3 แนวทาง คือ
1.สร้างสรรค์และต่อยอดด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ 2.โน้มน้าว โดยการจูงใจให้เปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรมความชอบผ่านการเล่าเรื่องราวที่มีคุณค่าและมีความหมาย (Storytelling) และ 3. เผยแพร่ โดยการบอกเล่าเรื่องราวผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ Influencer ซีรีส์ ละครย้อนยุค
น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้การดำเนินงานภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ การพัฒนาหลักสูตรอาหารไทย (ตำรับ) โดยจัดทำสื่อความรู้เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือหลักสูตรดำเนินการประชาสัมพันธ์ รับสมัคร และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมโครงการโดยเชื่อมต่อกับกองทุนหมู่บ้าน รวมถึงการสร้างแรงงานทักษะสูง ครูผู้สอน (Train The Trainer) โดยการฝึกอบรมระยะเวลา 30 ชั่วโมง เพื่อให้ครูผู้สอนเข้าใจและนำไปต่อยอดถ่ายทอดให้กับผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพได้อย่างมีคุณภาพ
ตลอดจนการพัฒนาทักษะเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program)ด้วยหลักสูตรที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อให้สามารถนำทักษะและองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพ พร้อมเข้ารับการทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป
ในปีที่ผ่านมา “ดีพร้อม” สามารถพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรสาขาอาหารกว่า 1,300 คน และสร้างครูผู้สอน Train The Trainer จำนวน 325 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานวิชาชีพ อาทิ ประกาศนียบัตรสมรรถนะผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 4 จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ประกาศนียบัตรมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 1 จากกรมพัฒนา ฝีมือแรงงานจำนวน 1,040 คน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,500 ล้านบาท และจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับไปสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป
“ดีพร้อม” เชื่อมั่นว่าโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ไม่เพียงแต่สร้างทักษะอาชีพให้คนไทยเท่านั้น เพราะพลัง Soft Power จากอาหารไทยที่เชฟชุมชนได้รังสรรค์เมนู จะเป็นการบอกเล่าคุณค่า เรื่องราว และความมีเสน่ห์ของอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และยิ่งไปกว่านั้นคือ การเป็นทูตวัฒนธรรมด้านอาหารไทยที่สามารถถ่ายทอดรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก อันจะนำไปสู่การขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
ด้าน นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่ได้รับการศึกษาแล้วเห็นได้เลยว่าหลายๆ ท่านที่มีความฝันอยากจะเป็นเชฟแล้วไม่เคยได้มีโอกาสจะทําความฝัน บางคนเป็นวิศวกร หรืออาชีพอื่นๆ มาวันนี้เขาสามารถที่จะไปเป็นเชฟปรุงอาหารได้ดี มีรสชาติที่น่าพอใจ และหลายคนก็ตั้งใจว่าจะใช้ความรู้ที่มีอยู่ในการที่จะไปเป็นเซฟประกอบอาชีพและเป็นทูตวัฒนธรรม ในต่างประเทศด้วย
ในปี 68 ทางกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งอุตสากรรม ตั้งใจว่าจะมีการผลักดันให้มีการฝึกอบรมมากกว่านี้ โดยตั้งเป้าว่า ประมาณ 17,000 คน แล้วทั้ง 4 ปี จะทําให้มีผู้อบรมผ่านจากทุกๆหมู่บ้านให้ได้ครบ 75,000 คน สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของซอฟท์พาวเวอร์ สาขาอาหาร
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างอุตสาหกรรม อาหาร ร้านอาหาร ทําให้เกิดร้านค้าภายในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2070 อาจจะมีร้านอาหารในต่างประเทศให้ได้ครบ 100,000 ร้าน จะเป็นโครงการร่วมมือกันทางรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ผลักดันร้านอาหารไทยออกไปสู่ตลาดหุ้นให้มากที่สุด
ฉะนั้น ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นจะมีร้านอาหารไปทั่วโลก จะมีผลิตภัณฑ์อาหารสําเร็จรูป ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้การสนับสนุนจะนําไปสู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตไปทั้งโลก