13 ตุลาคม 2567 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) NARIT ประชาสัมพันธ์กิจกรรม โดยระบุว่า ในวันออกพรรษา 17 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 18.28 น. จะเกิดปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" หรือ "ซูเปอร์ฟูลมูน" (Super Full Moon) ดวงจันทร์ปรากฏเต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะประมาณ 357,358 กิโลเมตร ส่งผลให้คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เริ่มสังเกตการณ์ได้ช่วงค่ำ ทางทิศตะวันออก จากนั้นชมความสวยงามได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วัน ส่งผลให้ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก แต่ทว่า ณ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด หรือไกลโลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ นักดาราศาสตร์จึงใช้ "ช่วงที่สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง" มากำหนดวันเกิดปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลกที่สุด ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติในคืนใกล้โลกนั้น นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
NARIT เตรียมจัดสังเกตการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" คืนวันที่ 17 ต.ค. 2567 ชวนดูดาวชมจันทร์คืนออกพรรษา 5 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และสงขลา พร้อมร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนในเดือนตุลาคม ชวนแต่งกายธีม Halloween ร่วมงาน เวลา 18.00-22.00 น. ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ