8 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณพื้นที่ด้านหลังรีสอร์ทแห่งหนึ่ง ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จุดที่ฝังซากช้างพังฟ้าใส ไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2567 ปรากฏว่าเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 7 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ชาวบ้านพบว่ามีคนจำนวนหลายคน กำลังช่วยกันเปิดหลุมฝังช้าง "พังฟ้าใส" คาดว่าจะมีการนำยางรถยนต์ และไม้โยนใส่ในหลุม ก่อนใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟ ทำให้สามารถมองเห็นแสงไฟลุกโชนเป็นเวลาหลายชั่วโมง
จนกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 8 ต.ค.2567 มีคนช่วยกันตักน้ำเพื่อดับไฟ จนทำให้เกิดควันสีขาวพวยพุ่ง และมีกลิ่นของซากสัตว์เหม็นจนสัมผัสได้ โดยคาดว่าทางมูลนิธิอนุรักษ์ช้าง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าของช้างพังฟ้าใส น่าจะมีการเคลื่อนย้ายซากช้างฟ้าใส ไปผังที่จุดอื่น เนื่องจากจุดมีการท้วงติงจากหลายฝ่ายว่าไม่เหมาะสม และใกล้แหล่งน้ำเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค อีกทั้งบริเวณจุดที่ฝังซากพังฟ้าใส ได้ดันดินขึ้นจนมองเห็นเป็นเนินขึ้นมา หากปล่อยไว้จะเกิดซากช้างโผล่ขึ้นมา
ด้าน นายปานทอง หนึ่งในทีมที่เข้าไปปฎิบัติภารกิจช่วยเหลือช้างจมน้ำที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้าง และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในวันที่ 5 ต.ค.2567 ทีมงานของเราได้ไปเลือกจุดที่จะฝังซากช้างให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องโรคระบาดของกรมปศุสัตว์ และได้เตรียมพื้นที่ให้ทางเจ้าของช้างทั้ง 2 เชือกเข้ามาดูก่อน จนกระทั่งช่วงบ่ายทางทีมงานของมูลนิธิอนุรักษ์ช้าง และสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าจะขอดำเนินการฝังซากช้างเอง ซึ่งทางทีมงานของเราก็ได้ถอนตัว แต่กลับพบว่ามีการนำช้างพังฟ้าใส ฝังห่างจากลำน้ำแม่แตงเพียง 10 เมตร ซึ่งไม่ถูกหลักวิชาการ ส่วนช้างพังพลอยทอง อยู่ห่างจากฝั่ง 30-40 เมตร ซึ่งจุดนี้ไม่น่าจะมีปัญหา
"ถ้าในวันนั้นเขาย้ายซากช้างไปฝังในจุดที่เหมาะสม วันนี้ก็ไม่ต้องมาทำการเผาซากช้างอีก เหมือนทำงานซ้ำซ้อน และต้องเข้าใจว่าการเผาซากช้างไม่ใช่เรื่องง่าย ช้างตัวใหญ่ และเป็นเนื้อช้างสด แม้ว่าหากจะมีการแล่เนื้อช้างมาเผาก็ต้องใช้เวลานานกว่า 3-4 วัน
และหากว่าไม่มีการแล่เนื้อช้างก่อนเผาก็ต้องใช้เวลานานไปอีก ยกเว้นมีการใช้เชื้อเพลิงที่เร่งกำจัดให้เร็วขึ้น ซึ่งเรื่องนี้แม้ว่าจะมีการเผา หรือย้ายซากแล้ว พื้นที่เดิมที่ผังนั้นก็ต้องทำตามขั้นตอนของหลักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นขนดินไปด้วย และการโรยปูนขาว เพราะไม่เช่นนั้น ของเหลวจากตัวซากช้าง เมื่อไหลลงลำน้ำแม่แตง ซึ่งมีทั้งช้าง และคนใช้ประโยชน์ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย" นายปานทอง กล่าว
ขณะที่ น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2567 ได้มีการท้วงติงเรื่องการฝังช้างที่อยู่ใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำแม่แตง เพราะตามหลักบนพื้นฐานวิชาการ จะก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมา คือ ของเสียจากการเน่าสลายของซากก็จะซึมลงน้ำ และหากว่ามีฝนตกมาเพิ่ม มีน้ำมาเพิ่ม น้ำเซาะตลิ่ง และน้ำพัดหลุมเซาะกินก็อาจจะมีซากช้างลอยออกมา รวมไปถึงหากซากเน่าก็จะมีการหมักหมมของเชื้อโรคกระจายลงไปในแม่น้ำที่จะมีผลกระทบต่อทั้งคน และสัตว์ที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำแม่แตง ซึ่งสิ่งที่ควรปฎิบัติ คือ การนำเครื่องจักรหนักมายกซากช้างไปฝังในที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"ส่วนกรณีทางเจ้าของช้างได้มีการมาเปิดหลุมช้าง และใช้วิธีการเผานั้น ก็ต้องดำเนินการ เพราะตามที่ได้แนะนำไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งการเผาซากคงจะต้องการลดขนาดซาก เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายซากออกไปฝังในจุดใหม่ที่มีความเหมาะสม แต่ผมไม่ได้เข้าไปทำงานตรงจุดนั้น ตอนนี้มีหน้าที่ในการประเมินสุขภาพช้างที่อยู่ในลำน้ำแม่แตงทั้งหมดกว่า 49 ปาง ช้างจำนวน 546เชือก โดยปางช้างของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และช้างได้รับผลกระทบนั้น ได้ประเมินสุขภาพช้างทั้ง 116 เชือกเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง" น.สพ.ขจรพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ น.สพ.ขจรพัฒน์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
"เข้าใจว่ามีความสูญเสียเกิดขึ้น มีความเศร้าเสียใจเกิดขึ้น แต่ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนก็เข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหากันเต็มที่เต็มกำลัง บางปัญหาก็ต้องมีสติมีหลักวิชาการในการแก้ไขปัญหาที่เจอ เช่น ประเด็นเรื่องการเรื่องการฝังซากคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะฝังซากตรงนั้นที่ห่างจากแม่น้ำนิดเดียว
ขอแนะนำด้วยความหวังดีอยู่บนพื้นฐานวิชาการ ด้วยเหตุและผลกระทบที่จะตามมาคือ 1.ของเสียจากการเน่าสลายของซากก็จะซึมลงน้ำ 2. ถ้าฝนตกเพิ่ม น้ำมาเพิ่ม น้ำท่วมหลุม น้ำพัดหลุมเซาะดิน เซาะตลิ่งซากก็อาจจะลอยออกมาอีก 3.ถ้าซากเน่ามีการหมักหมมของเชื้อโรค เชื้อโรคก็กระจายลงแม่น้ำไป สัตว์เอย คนเอย ที่อยู่ใต้ซากลงไปก็รับไปเต็มๆ เงินบริจาคตั้งมากมายควรจะเจียดมาเช่าเครื่องจักรหนักมายกเอาซากออกแล้วไปฝังในที่ๆเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ต่อไป ปศุสัตว์ในพื้นที่ สาธารณสุขในพื้นที่ว่าไงครับ ถ้าคิดให้ดีแก้ไขตอนนี้ก็น่าจะยังทัน
โชคดีนะครับชาวแม่แตง"
สัตวแพทย์ มช. ชี้เผาซากช้างที่จมน้ำแล้วถูกฝัง ต้องยึดหลักวิชาการ ป้องกันไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม
ด้าน รศ.ดร.น.สพ.เฉลิมชาติ สมเกิด ผู้ช่วยคณบดี คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สัตว์ที่จมน้ำตายจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกายอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากปล่อยให้เน่าเปื่อยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำก็จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งกรณีของช้างที่ล้มไป 2 เชือก และได้มีการใช้วิธีฝังนั้น หากมีการฝังลึก 2-3 เท่าตัวหรือประมาณ 6 เมตร และห่างจากริมฝั่งแม่น้ำ 30 เมตร พร้อมกับมีการโรยปูนชาวตามหลักวิชาการ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา
แต่กรณีที่มีการนำซากช้างมาเผา จะต้องทำคันดินล้อมรอบหลุมที่เผา และเมื่อทำการเผาซากช้างแล้ว ต้องขุดดินออกไปด้วย เพื่อไม่ให้ของเหลวที่เป็นสารคัดหลั่งจากซากช้างหลงเหลืออยู่ และป้องกันไม่ให้ปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำ ซึ่งเข้าใจว่ากรณีของมูลนิธิอนุรักษ์ช้าง และสิ่งแวดล้อม ได้มีการเผาซากช้างนั้น จะเป็นการลดขนาดของซาก เพื่อเคลื่อนย้ายไปฝังในจุดที่เหมาะสม