svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เชื่อ "พะยูน" โผล่สะพานราไวย์ คือ "เจ้าหลังขาว" ส่วนดุหยงน้อยพลัดหลง อาการดีขึ้น

กลุ่มพิทักษ์ดุหยงตรัง เปิดข้อมูล เชื่อ "พะยูน" โผล่ใกล้สะพานราไวย์ คือ "เจ้าหลังขาว" แห่งเกาะลิบง ฝากชาวภูเก็ตช่วยดูแล รอวันหญ้าทะเลฟื้น-น้องหวนกลับถิ่น ด้านพะยูนน้อยพลัดหลงแม่ ซึ่งได้รับการดูแลอยู่ใน รพ.สัตว์น้ำ สุขภาพดีขึ้นตามลำดับ

22 สิงหาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก "กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง" ซึ่งเป็นเครือข่ายอาสาสมัครอนุรักษ์พะยูน พื้นที่เกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัย หรือเมืองหลวง ของพะยูนฝูงใหญ่ของประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความ พร้อมแนบหลักฐานภาพถ่ายพะยูนตัวที่เก็บข้อมูลไว้จากการบินสำรวจที่เกาะลิบง โดยระบุว่า

"หลังจากที่ได้เห็นภาพพะยูนจากคลิปที่ท่าเรือหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต และเปิดดูหลายรอบ และจากภาพจำจนชินตา และค่อนข้างคุ้นเคย พบว่า จากตำหนิรูปพรรณบริเวณแผ่นหลังสีขาวขนาดใหญ่ ลักษณะท่าทางการว่ายน้ำ รูปร่าง ลีลา จังหวะการขึ้นมาหายใจ ท่วงท่าที่คุ้นเคย และดูย้อนภาพเก่าทั้งวิดิโอและรูปมาเทียบเคียงดู เชื่อว่า พะยูนที่พบที่ท่าเรือราไวย์ จ.ภูเก็ต คือ "เจ้าหลังขาว…แห่งเขาบาตู" (เขาบาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ) ที่เราเคยถ่ายได้ในแต่ละครั้ง 

เจ้าหลังขาว ภาพโดยกลุ่มพิทักษ์ดุหยงตรัง
ล่าสุด เราถ่ายภาพเจ้าหลังขาว วันที่ 22 มี.ค. 2567 หลังจากนั้นเราไม่เจอน้องอีกเลยเป็นระยะเวลา 4 เดือนกว่าแล้ว เผื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้บ้าง โดยที่ผ่านมา ปกติ หากอากาศดี เราจะบินเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยชื่อพะยูนบนเกาะลิบงที่เราคุ้นเคย และตั้งชื่อให้ มี 4 ตัว คือ 

  1. เจ้าหลังขาว 
  2. เจ้าตอปิโด 
  3. เจ้าคุ้กกี้ 
  4. เจ้าทักซิโด้ 

ทั้ง 4 ตัวจะมีลักษณะรูปร่างจำเพาะ ลักษณะการว่ายน้ำ ท่วงท่า ลีลา การขึ้นลงหายใจจะไม่เหมือนกัน และจะเจอเฉพาะที่ของแต่ละตัว โดยที่ผ่านมา พวกเราได้มีวิธีการเก็บข้อมูลในการสังเกต เก็บข้อมูล รูปภาพ ที่พอเป็นประโยชน์ ที่สำคัญเราได้มีความผูกพันกับพะยูนมากยิ่งขึ้นไปอีก

พะยูนที่โผล่ใกล้สะพานราไวย์ เชื่อว่าเป็นเจ้าหลังขาว
พร้อมส่งสารจากเกาะลิบง..ถึงภูเก็ต ฉายาน้องคือ เจ้าหลังขาว…แห่งเขาบาตู..น้องอพยพไปไกลมาก เห็นแล้วอดใจหายไม่ได้ น้ำตาพาลจะไหล จำรอยข้างหลังได้อย่างแม่นยำ ลายไม่เหมือนตัวอื่นๆที่เจอ คนเกาะลิบงจะจำมันได้ การว่ายน้ำ รูปร่าง ลักษณะการขึ้นมาหายใจ จำมันได้ชัดเจน บินกี่รอบก็มาให้เจอน้องทุกรอบ ไม่ไปไหน ถึงคราวนี้เดินทางไปไกลแสนไกล ว่าทำไม 4 เดือนแล้วบินกี่รอบก็ไม่เคยเห็นเจ้าหลังขาวเลย 

น้องเป็นตัวที่ไม่ค่อยกลัวเสียงเรือ ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง..คิดถึงนะ…ขอให้รอดปลอดภัย..หญ้าทะเลลิบงฟื้นคืนเมื่อไหร่..คนลิบงยังคิดถึงเจ้าเสมอนะ…ฝากคนภูเก็ตดูแลน้องหลังขาวด้วยนะ"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหญ้าทะเลได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด ทั้ง จ.ตรัง, จ.กระบี่ ,จ.พังงา และจ.ภูเก็ต ทำให้พะยูนมีการว่ายน้ำหาแหล่งหญ้า จึงมีโอกาสเข้าใกล้เรือ และเข้าใกล้คนมากขึ้น จึงขอให้พี่น้องชาวประมง เรือทุกชนิด ประชาชนและนักท่องเที่ยวช่วยกันระมัดระวังทั้งเครื่องมือประมง และอุบัติเหตุจากเรือ และช่วยกันสอดส่อง เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ทะเลหายากของไทยเรา 

อัปเดตอาการพะยูนน้อยพลัดหลงแม่

เชื่อ \"พะยูน\" โผล่สะพานราไวย์ คือ \"เจ้าหลังขาว\" ส่วนดุหยงน้อยพลัดหลง อาการดีขึ้น
ส่วนการอนุบาลน้องพะยูน เพศผู้ อายุ 2 เดือนเศษ ที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ที่ รพ.สัตว์น้ำราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ผ่านมาแล้ว 13 วัน เจ้าหน้าที่ก็ยังดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าสุขภาพแข็งแรงขึ้นตามลำดับ น้ำหนักตัว 15.95 กก. จากวันแรกที่พบ 10 ส.ค.น้ำหนักเพียง 13.8 กก.เท่านั้น การขับถ่ายและลักษณะอุจจาระอยู่ในเกณฑ์ปกติ สัตว์แพทย์ยังคงปรับสูตรนมรายวัน เพื่อให้น้องได้พลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการ และหญ้าบดละเอียด เพราะน้องยังกินหญ้าไม่เป็น 

เชื่อ \"พะยูน\" โผล่สะพานราไวย์ คือ \"เจ้าหลังขาว\" ส่วนดุหยงน้อยพลัดหลง อาการดีขึ้น
แต่ขณะดำน้ำที่ก้นบ่อ พบว่ามีการพยายามใช้ปากขยับถูไปกับพื้นบ่อ เหมือนสัญชาติญาณในการกินหญ้าทะเลที่พื้น และนอนมากในแต่ละวัน โดยทางเจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์ยังคงติดตามสังเกตพฤติกรรมของน้องอย่างใกล้ชิด พร้อมประกาศรับสมัครอาสาสมัครที่จะมาช่วยเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากต้องจัดเวรหมุนเวียนทำงานต่อเนื่องตลอด 24 ชม.ต่อไป




เชื่อ \"พะยูน\" โผล่สะพานราไวย์ คือ \"เจ้าหลังขาว\" ส่วนดุหยงน้อยพลัดหลง อาการดีขึ้น

ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก : เพจเฟซบุ๊ก กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง