จากการสืบสวนพบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน ไม่มีบันไดหนีไฟ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน และภายหลังเกิดไฟไหม้เพียง 15 นาที โรงงานก็พังถล่มลงมา
สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน
ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย
จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ทำให้สังคมเกิดความตระหนักในอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานมากขึ้น ในปี 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมอันเกิดขึ้นจากการละเลยในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ที่มีผลกระทบร้ายแรงมากที่สุดของประเทศไทยครั้งหนึ่ง
ขอบคุณภาพและข้อมูล : สปริงนิวส์, วิกิพีเดีย