svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

พาชม "นกกาฝากท้องสีส้ม" สัตว์ป่าคุ้มครอง เจ้าตัวเล็กที่มีสีสันสะดุดตา

23 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พาชมพร้อมรู้จัก "นกกาฝากท้องสีส้ม" สัตว์ป่าคุ้มครอง เจ้าตัวเล็กที่ปราดเปรียว มีสีสันสดใสสะดุดตา เห็นได้บ่อยตามชายป่าใกล้ๆ บ้านแถบภาคใต้ ไม่ต้องบุกป่าฝ่าดงไปหา

หากใครอาศัยอยู่แถบภาคใต้ อาจเคยเห็นนกที่มีสีสันสดใส นั่นอาจเป็น "นกกาฝากท้องสีส้ม" นกบ้านๆ ตัวเล็กกะทัดรัด ปราดเปรียว มักพบเห็นกันบ่อยตามชายป่าใกล้ๆ บ้านแถบภาคใต้ โดยไม่จำเป็นต้องบุกป่าฝ่าดงไปหา 

ยิ่งในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งลูกไม้ป่า เช่น ลูกไทร กำลังสุก พื้นที่แถวนั้นก็จะกลายเป็นที่ชุมนุมสารพัดนก แห่กันมากินลูกไทรกันสนุกสนาน ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวแทบทั้งวัน เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารแลัว ต้นไทรยังเป็นที่หลบแดดที่ร้อนอบอ้าวอยู่ในขณะนี้ เช่นเดียวกับมนุษย์ก็มาหามุมสงบๆ คลายร้อนอยู่ใต้ต้นไทรต้นเดียวกับนกกาฝากท้องสีส้มด้วยเช่นกัน 

"Nation STORY" ขอพาไปชมความสวยงาม พร้อมทำความรู้จัก "นกกาฝากท้องสีส้ม" กัน

พาชม "นกกาฝากท้องสีส้ม" สัตว์ป่าคุ้มครอง เจ้าตัวเล็กที่มีสีสันสะดุดตา
นกที่มีขนาดเล็กเพียง 9 ซม.

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ ระบบฐานข้อมูลชนิดนกในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ เพจเฟซบุ๊ก คนรักนก พบว่า นกกาฝากท้องสีส้ม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dicaeum trigonostigma หมายถึง "นกที่มีลายเป็นรูปสามเหลี่ยมบริเวณหลังและตะโพก" พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั่วโลกมีถึง 16 ชนิดย่อย 

ส่วนประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่ 

  • Dicaeum trigonostigma trigonostigma (Scopoil)
  • Dicaeum trigonostigma rubropygium Stuart Baker

พาชม "นกกาฝากท้องสีส้ม" สัตว์ป่าคุ้มครอง เจ้าตัวเล็กที่มีสีสันสะดุดตา
สำหรับลักษณะโดยทั่วไป นกกาฝากท้องสีส้ม จัดเป็นนกขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 9 ซม. ปากค่อนข้างสั้นและหนา โค้งเล็กน้อย หางสั้น เราสามารถสังเกตตัวผู้กับตัวเมีย รวมถึงตัวไม่เต็มวัย ได้ดังนี้

  • ตัวผู้ : มีท้องจนถึงก้นสีส้มสดใสปนสีเหลือง บริเวณอกและคอมีสีเทาอ่อน ส่วนหน้า หัว กระหม่อมจนถึงท้ายทอย ปีก และหางสีเทาเข้ม คอหอยสีเทาอ่อน 
  • ตัวเมีย : มีสีขรึมกว่า โดยขนคลุมลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลแกมเขียว บริเวณท้องจนถึงก้นสีสีเหลืองอมส้มจางๆ ตะโพกสีเหลือง
  • ตัวไม่เต็มวัย : จะมีความคล้ายตัวเมีย แต่คอหอย อก และสีข้างเป็นสีเขียวอ่อนแกมเทา

พาชม "นกกาฝากท้องสีส้ม" สัตว์ป่าคุ้มครอง เจ้าตัวเล็กที่มีสีสันสะดุดตา
แหล่งอาศัย

เราสามารถเจอ "นกกาฝากท้องสีส้ม" ได้ตามป่าดิบ ชายป่า รวมทั้ง สวนผลไม้ และแหล่งกสิกรรม ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล บางพื้นที่ก็พบในระดับความสูง 1,500 เมตร โดยนกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในอินเดียตะวันออก พม่า ไทย มาเลเซีย หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์ ซึ่งพวกมันผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี ทำรังเป็นรูปทรงกลมหรือรี ขนาดของไข่ประมาณ 11.2x15.5 มม. 

สำหรับประเทศไทย นกกาฝากท้องสีส้ม เป็นนกประจำถิ่นที่เห็นได้บ่อยทางภาคใต้ พบได้ตามป่าดิบ ชายป่า จากที่ราบจนถึงความสูง 900 เมตร

พฤติกรรมและอาหาร

นกกาฝากท้องสีส้ม อาศัยและหากินตามกิ่งไม้ รวมถึงยอดไม้ ไม่ว่าจะเป็นพุ่มไม้และไม้ยืนต้นขนาดกลาง ส่งเสียงร้องราวๆ 8 พยางค์ไล่จากเสียงต่ำไปหาสูงดังคล้าย "ซี ซี ซี ซี ซี ซี ซิ ซิ" มักพบอยู่เป็นคู่ 

ส่วนอาหารของมันคือ น้ำหวานดอกไม้ เกสรดอกไม้ ผลไม้ แมลงเล็กๆ ตัวหนอน และแมงมุม พฤติกรรมการกินอาหารไม่แตกต่างจากนกกาฝากอื่นๆ โดยเฉพาะนกกาฝากก้นเหลือง นอกจากนี้ เราอาจพบนกกาฝาก หากินเป็นกลุ่มร่วมกับนกชนิดอื่นได้ เช่น นกกินปลี กับนกแว่นตาขาว
พาชม "นกกาฝากท้องสีส้ม" สัตว์ป่าคุ้มครอง เจ้าตัวเล็กที่มีสีสันสะดุดตา

เป็นนกประจำถิ่น และสัตว์ป่าคุ้มครอง

สถานภาพของนกกาฝากท้องสีส้ม จัดว่าเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย rubropygium พบได้ทางภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนชนิดย่อย trigonostigma พบทางภาคใต้ส่วนที่เหลือนั่นเอง ขณะที่ในทางกฎหมาย นกกาฝากท้องสีส้ม อยู่ในลำดับที่ 152 ในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนก

เป็นยังไงกันบ้างกับเรื่องราวของนกกาฝากท้องสีส้ม ที่ Nation STORY นำมาฝากกันคราวนี้ ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะรู้จักนกชนิดนี้มากขึ้น ไม่แน่ว่าคุณอาจเคยเจอแล้วก็ได้ ส่วนรอบหน้าจะเป็นเรื่องราวของสัตว์ชนิดไหนนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ

ภาพโดย : จรูญ ทองนวล (Charoon Thongnual)
ขอบคุณข้อมูลจาก :
ระบบฐานข้อมูลชนิดนกในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เพจเฟซบุ๊ก คนรักนก
ebird
โลกสีเขียว

logoline