ในห้วงเดือนเมษายนของทุกปี เป็นที่รู้กันว่า ชายไทยอายุ 21 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้ารับการคัดเลือกทหารกองเกิน เพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือ "เกณฑ์ทหาร" โดยใช้วิธีจับใบดำใบแดง ซึ่งปีนี้กำหนดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 - 12 เมษายน 2567 ยกเว้นวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งเป็นหยุดราชการ วันจักรี
ในปี 2567 กองทัพบก ออกประกาศเรื่อง ชี้แจงการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยผู้ที่อยู่ในกำหนดเรียกไปเข้ารับการเกณฑ์ทหาร คือ ชายสัญชาติไทย เกิด พุทธศักราช 2546 ซึ่งมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ และคนที่เกิด พุทธศักราช 2538 ถึง พุทธศักราช 2545 ซึ่งมีอายุ 22 ถึง 29 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
สำหรับผู้ใดหลีกเลี่ยง หรือขัดขืนไม่ไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) หรือไม่ไปเข้ารับการตรวจเลือกฯ ตามกำหนดในหมายเรียก หรือไปแต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือกฯ หรือไม่อยู่จนการตรวจเลือกฯแล้วเสร็จ ถือว่ามีความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
ทำไมต้อง เกณฑ์ทหาร?
"เกณฑ์ทหาร" เป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน
ชายไทยเริ่มเป็นทหารกองเกินนับแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินอาจถูกเรียกไปรับการตรวจเลือกเพื่อเข้ากองประจำการได้เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินเมื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการครบกำหนด หรือสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด หรือมีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ จะถูกปลดเป็นทหารกองหนุน
เมื่อเวลาผ่านไปหรืออายุครบตามที่กำหนดทหารกองหนุนก็จะถูกปลดพ้นราชการทหาร ในระหว่างที่เป็นทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนนั้น อาจถูกเรียกพลได้ตามที่กระทรวงกลาโหมเห็นสมควร และอาจถูกระดมพลได้หากมีพระราชกฤษฎีกา
ชายไทยจำนวนมากไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ เพราะผ่านการเรียนรักษาดินแดนครบสามปี หรืออาจมีเหตุได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันได้ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่ต้องไปรับการตรวจเลือกหรือไปในวันตรวจเลือก แต่ถูกคัดออกเสียก่อน
สำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนรักษาดินแดน หรือ เรียนไม่ครบหลักสูตรตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด (ไม่จบชั้นปีที่ 3) หรือ ผ่อนผันครบกำหนดแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกเข้ากองประจำการเต็มขั้น โดยถูกจำแนกออกเป็นสี่จำพวกตามความสมบูรณ์ของร่างกาย หากมีผู้ประสงค์สมัครใจเข้ากองประจำการเต็มจำนวนที่รับแล้ว ก็จะไม่มีการจับสลาก
ในกรณีที่มีผู้สมัครไม่พอและมีคนให้เลือกมากกว่าจำนวนที่ต้องการก็จะใช้วิธีจับสลากใบดำใบแดง ผู้จับได้ใบแดงจะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามเรียกร้องให้ "ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร" เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งเห็นว่าต้องมีการปรับปเปลี่ยนรูปแบบในการเข้าเป็นทหารโดยสมัครใจมากกว่าถูกบังคับ
เปิดตัวเลข ทหารเกณฑ์ 1 แสนคน/ปี
ประเด็น "ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร" ได้รับการพูดถึงอย่างร้อนแรงมากขึ้น เมื่อเกิดความไม่เท่าเทียม การสูญเสียโอกาส รวมทั้งการถูกละเมิดในระหว่างการเป็น "ทหารเกณฑ์"
นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เปิดเผยถึงนโยบายการเกณฑ์ทหารจากการพูดคุบกับผู้นำเหล่าทัพ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อปลายปี 2566 ว่า ต้องการผลักดันนโยบายต่างๆ เช่น การเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นรูปแบบสมัครใจ สิ่งที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในทันที ในเดือนเม.ย.2567 จะเห็นอัตราเกณฑ์ทหารที่ลดลงจากเดิมอย่างแน่นอน และจะค่อย ๆ หมดไปจนเหลือเพียงการเข้ากองทัพแบบสมัครใจ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพมีแผนอยู่แล้ว เพียงแค่ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม การลดลงทำได้ไม่ง่ายนัก เมื่อจำนวนความต้องการทหารเกณฑ์ ของแต่ละหน่วยแต่ละกรมกองยังมีความต้องการจำนวนมาก ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเปิดข้อมูล เกณฑ์ทหารก่อนหน้านี้ พบว่า เคยมีการเกณฑ์ทหารสูงสุดถึงปีละ 2 แสนราย และได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งยอดเกณฑ์ทหารเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 แสนคน/ปี
"สำหรับ ปี 2566 ลดจำนวนเหลือ 9 หมื่นคน และในปี 2567 มียอดเกณฑ์ทหารประมาณ 8.6 หมื่นคน"
นั่นหมายถึงในทุกๆปี ชายไทยประมาณ 1 แสนคนต่อไป ต้องก้าวเข้าสู่กรมกองต่างๆ ในฐานะ "ทหารเกณฑ์"
เร่งรับสมัคร ทหารเกณฑ์แบบสมัครใจ
กองทัพไทย เดินหน้าสร้างแรงจูงใจพิเศษ เพื่อหวังจำให้มีผู้สมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ หรือ ทหารเกณฑ์แบบสมัครใจ มากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2564 เริ่มเปิดรับสมัครใจเข้าเป็นทหารกองเกิน โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ก่อนกำหนดการเกณฑ์ทหารปรกติในแต่ละปี ชูประเด็น "สมัครทหารยุคใหม่ ได้อะไรมากกว่าที่คิด" โดยทุกเหล่าทัพเตรียมสิทธิประโยชน์ ต่างๆ
กระทรวงกลาโหม ได้แจ้งถึงสวัสดิการเป็นอย่างไร ทหารยุคใหม่ได้อะไร ซึ่งพยายามลบภาพทหารเกณฑ์ในยุคอดีตให้ได้ สามารถเลือกหน่วยทหารที่ต้องการได้ พร้อมชูสิ่งดีๆที่ทหารเกณฑ์แบบสมัครใจจะได้อะไรบ้าง เช่น เงินเดือน ความรู้ การฝึกฝน และการศึกษา
นอกจากนี้เมื่อปลดออกจากกองประจำการแล้ว สามารถสอบเข้ารับราชการในส่วนของกองทัพบก จะได้รับคะแนนพิเศษ หรือเมื่อสมัครสอบคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการตามส่วนราชการต่าง ๆ หรือเข้าทำงานในภาคเอกชน จะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ
จากการตรวจสอบ ข้อมูลหน่วยทหารที่เปิดรับสมัครทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ 2567 หรือ ทหารเกณฑ์แบบสมัครใจ จากเว็บไซต์ กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน รวมทั้งสิ้น 28,971 คน โดยกองทัพบกเปิดรับมากที่สุด 27,721 คน แยกเป็น
ขณะที่ข้อมูลการสมัครเข้าเป็นทหารกองเกิน หรือ สมัครใจเป็นทหารเกณฑ์ ซึ่งมีการเปิดรับแบบออนไลน์ตั้งแต่ปี 2564 พบว่า..
ปี 2564 มียอดผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 28,572 คน แยกเป็น
ปี 2565 มียอดผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 29,997 คน แยกเป็น
ปี 2566 มียอดผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 35,617 คน แยกเป็น
ปี 2567 มีการเปิดรับสมัครออนไลน์ จำนวน 27,721 คน
เมื่อตรวจสอบจำนวนประชากรของประเทศไทยพบว่า ประชากรเพศชาย กลุ่มอายุระหว่าง 21-25 ปี มีประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่กระทรวงกลาโหม มีความต้องการกำลังพล "ทหารเกณฑ์" ประมาณ 90,000-100,000 นาย/ปี
ดังนั้นเมื่อหักลบกับจำนวนสมัครใจเข้าเป็นทหารประมาณ 25,000-28,000 คน จะยังคงมีส่วนต่างที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก ด้วยการจับใบดำใบแดง ในแต่ละปีประมาณ 7 หมื่นกว่าคน ซึ่งจำนวนนี้ส่วนใหญ่ หรือเกือบ 100% คือ ผู้ที่ไม่ประสงค์เป็น "ทหารเกณฑ์"
ข้อถกเถียงเรื่อง ทำไมไม่อยากถูก "เกณฑ์ทหาร" เป็นที่ทราบกันทั้งจากโลกออนไลน์และปรากฎเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นการสูญเสียโอกาส อาทิ สูญเสียงานประจำที่ทำอยู่ สูญเสียรายได้ เงินเดือนทหารเกณฑ์ไม่เพียงพอ หรือกลัวถูกกดขี่และการละเมิดสิทธิด้านต่างๆ อาทิ การไปเป็นทหารรับใช้
ดังนั้น จึงเรื่องท้าทายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ รัฐบาล และ กระทรวงกลาโหม ต้องแก้ให้ได้ ทำอย่างไรจึงจะมีคนแห่เข้าสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการแบบสมัครใจมากกว่าจำนวนความต้องการของกองทัพ
หรือถึงเวลาแล้วที่ "กองทัพ" ต้องทบทวนว่า ความต้องการที่แท้จริงและเหมาะสมของ ทหารเกณฑ์ มีตัวเลขเท่าใด
เมื่อถึงเวลานั้น คำตอบว่า ถึงเวลา "ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" เมื่อใด จะแจ่มชัดขึ้นมาทันที!!