ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าว หรือไม่ก็อาจผ่านตาตอนไถฟีดในโลกออนไลน์ ถึงการพบ "พะยูน" เข้ามาเกยตื้น ใกล้เรือหางยาวของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง จ.ตรัง ในสภาพลำตัวซูบยาว ผอมโซ
โดยทางเพจ ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ซึ่งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง ได้โพสต์รูปภาพและข้อความ ระบุว่า "จะร้องแล้ว พะยูนผอมมาก ท่าเรือบ้านพร้าวเกาะลิบงไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย. ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆสภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ"
คนที่ได้เห็นภาพนี้ จำนวนไม่น้อยต่างสะเทือนใจ พร้อมกับความรู้สึกเป็นห่วงต่อสถานการณ์พะยูนในทะเลตรัง
คำถามที่ตามต่อมาคือ เกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเล เพราะพะยูนตัวที่เข้ามาเกยตื้น มีสภาพผอมโซ จนสุดท้ายแล้วเขาก็จากโลกนี้ไป ซึ่งนับเป็น "พะยูน" ตรัง ตัวที่ 4 แล้ว ที่ตายลงในช่วงปี 2567 นี้ ถึงแม้ว่าจะผ่านมาไม่ถึง 3 เดือนก็ตาม
มิหนำซ้ำ จากผลการบินสำรวจของคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเล ที่สำรวจพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง เบื้องต้น เจอประชากรพะยูนทะเลตรังลดฮวบ หากเทียบกับในปี 2566
"Nation STORY" ขอนำเรื่องราวของหญ้าทะเลและพะยูนตรัง เมื่อพวกเขากำลังเผชิญกับวิกฤต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเคลื่อนไหวกับแผนรับมืออย่างไร แล้วผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุที่หญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรม คืออะไรกันแน่?
สาเหตุ "พะยูน" เกยตื้นส่วนใหญ่ เกิดจากอาการป่วย
อย่างที่กล่าวในตอนต้น พะยูนตัวที่ผอมได้ตายไป ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) ได้นำซากพะยูนดังกล่าวมาทำการผ่าชันสูตรซากโดยทีมสัตวแพทย์
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซากพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัวบ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย
หลังผ่าพิสูจน์ 4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ลงความเห็นสาเหตุการตายว่า สัตว์ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร พร้อมทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป
นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทะเลตรังพบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว ที่ผ่านมาจะพบว่า พะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปีประมาณ พ.ย.-ธ.ค. ส่วนที่ตายในปีนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงกลางๆปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง
"จากที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายปี พบสาเหตุหลักของการเกยตื้นส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะซากจะเน่า น้อยมากที่จะเจอซากที่สด เมื่อเจอซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก จะเห็นได้ว่าตัวล่าสุด พบพยาธิในกระเพาะมากขึ้น ชี้ชัดว่ามันป่วย
ส่วนพะยูนตัวดังกล่าวผอม เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ มันป่วยแล้วทำให้มันผอม หรือ มันอดอาหารแล้วเหนี่ยวนำทำให้มันป่วย ซึ่งจากการชันสูตรในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะของหัวใจอักเสบ และมีก้อนไขมันในหัวใจ ถ้าพบว่าในกระเพาะของพะยูนมีแผล ก็อาจจะเป็นเพราะขาดอาหารได้ แต่นี่พบว่ามีพยาธิเต็มกระเพาะเกิดจากอาการป่วยเรื้อรัง" นายสันติ กล่าว
หญ้าทะเลเสื่อมโทรมหนัก กระทบเจ้าหมูน้ำตรัง
จากที่พบว่าพะยูนเกยตื้นตายในปีนี้แล้ว 4 ตัว เบื้องต้นมีการคาดสาเหตุหลัก เกิดจากปัญหาสภาพระบบนิเวศในทะเลที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นดินปกคลุมด้วยตะกอนดิน หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนทั่วทะเลตรังเสื่อมโทรมหนัก รวมไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งผลทำให้พะยูนและสัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปู ปลาหายไป จนชาวบ้านไม่มีแหล่งหากินบริเวณใกล้ชายฝั่งเหมือนที่ผ่านๆมา
เกี่ยวกับเรื่องพะยูนตรังและหญ้าทะเลนั้น ทาง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุถึง 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตหญ้าทะเล/พะยูน
โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ อ.ธรณ์ ยกขึ้นมาให้เห็น คือ หญ้าทะเลตรัง/กระบี่ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน อาจมีรายงานเรื่องขุดลอกหรือทรายกลบที่ลิบง แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ในอดีตและการขุดลอกหยุดไปหลายปีแล้ว
ขณะที่หญ้าตายหนนี้เริ่มตายปี 2565-2567 ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น และอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากโลกร้อนไม่หยุด นอกจากนี้ ยังมีรายงานหญ้าเสื่อมโทรมในลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะพระทอง (พังงา) อีกหลายพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติม
อ.ธรณ์ ยังได้โพสต์ภาพหญ้าทะเลไหม้เนื่องจากน้ำลงต่ำผิดปรกติ น้ำยังร้อน/แดดแรง ปัจจุบันในพื้นที่นั้นหญ้าตายหมดแล้ว หญ้าทะเลยังตายจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนรุนแรง บางแห่งเน่าจากปลาย บางแห่งเน่าเฉพาะโคนก่อนใบขาด ยังมีความเป็นไปได้ในเรื่องโรค (เชื้อรา)
พะยูน 220 ตัวอยู่ที่ตรัง/กระบี่ (ศรีบอยา) เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าเหลือ
เร่งหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม - เจอประชากรพะยูนทะเลตรังลดฮวบ
ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ดูเหมือนจะค่อยๆ ชัดขึ้น เมื่อกรมทะเลและชายฝั่ง ส่งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด
ซึ่งทางคณะทำงานฯ ได้แบ่งการทำงานทั้งภาคพื้นดินในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลหน้าดินบริเวณแหล่งหญ้า ติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรัง (Line Transect, เก็บตัวอย่างดินตะกอน) เก็บข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์กายภาพในพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม เก็บตัวอย่างการปนเปื้อนของโลหะหนัก (Heavy metals) และ มลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน(Persistent Organic Pollutants) ในตะกอนดินและหญ้าทะเล
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้สำรวจพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จากทั้งทางอากาศและทางเรือ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง เบื้องต้น เจอพะยูนเพียง 36 ตัว พบพะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 1 คู่ โลมาหลังโหนก 6 ตัว พบโลมาคู่แม่-ลูก 2 คู่ และเต่าทะเล 38 ตัว หากเทียบกับในปี 2566 พบพะยูน 194 ตัว คู่แม่ลูกถึง 12 คู่ จึงเชื่อว่าพะยูนทะเลตรังกำลังเผชิญวิกฤต มีโอกาสจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังในอนาคตอันใกล้นี้
ผลสรุปเบื้องต้น หญ้าทะเลตายเพราะอะไร - กางแผนรับมือวิกฤต
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงติดตามแก้ไขปัญหาวิกฤตหญ้าทะเลและพะยูนในทะเลตรังอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) สั่ง ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทส. ลงพื้นที่ จ.ตรัง ร่วมกับ นายนิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกล , นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) , ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเร่งแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม
จากนั้น คณะของ ร.อ.รชฏ ได้แถลงข่าวกับนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง , นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน , เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล , กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังมีการลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนและหญ้าทะเลตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
โดยระบุว่า จากการติดตามบริเวณเกาะลิบงนั้น พบว่า หญ้าทะเลตายไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับน้ำลดลง30-40 เซนติเมตร เมื่อน้ำลด ทำให้หญ้าทะเลตากแห้งเป็นเวลานาน ทำให้หญ้าทะเลตาย รวมทั้งตะกอนดิน ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์ที่แน่ชัด
ร.อ.รชฏ ผู้ช่วย รมว.ทส. บอกว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหญ้าทะเล และผลกระทบที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องเร่งพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมโดยใช้หลักการ ตลอดจนเร่งการศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูและเสริมความแข็งแรงของระบบนิเวศให้หญ้าทะเลได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราก็สามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวได้โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม จึงขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในพื้นที่ ประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือและโรงแรม ใน 3 แนวทาง คือ
ขณะที่ นายปิ่นสักก์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า คณะทำงานได้จัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นการเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากหญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูงที่เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศทางทะเลไทย
จากการทำงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เบื้องต้นพบการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรัง สรุปสาเหตุหลักและสาเหตุประกอบอื่นๆ ได้แก่
1.สาเหตุหลักที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมตายลงเป็นวงกว้าง คือระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าปกติ เป็นสาเหตุหลักทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศที่รุนแรงและแปรปรวนมากขึ้น และพบกรณีหญ้าทะเลตายในลักษณะดังกล่าวในบริเวณอ่าวไทย ทั้งระยอง ตราด จันทบุรี รวมถึงในมาเลเซียด้วย หญ้าทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศหนึ่งในทะเลย่อมได้รับผลกระทบจากการต้องผึ่งแห้งและโดนแดดนานขึ้น
ซึ่งจากการนำข้อมูลของกรมอุทกศาสตร์มีศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในปี 2567นี้ พบว่า ระดับน้ำทะเลมีความเปลี่ยนแปลงลดลงต่ำกว่าปกติของทุกปีเฉลี่ย 30 เซนติเมตร เรียกว่าเกิดภาวะการกระเพื่อมของน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใกล้หาดมาก เห็นได้จากกรณีที่ปรากฏ "กัลปังหาแดง" โผล่พ้นน้ำในพื้นที่เกาะสุกร จังหวัดตรัง ทำให้หญ้าทะเลที่เป็นพืชนั้นสูงผึ่งแดดแห้งและตายลงเป็นวงกว้าง ขณะที่หญ้าทะเลที่อยู่ในน้ำกลับปกติดี แต่อาจมีใบที่ขาดสั้นเพราะเมื่อแหล่งหญ้าใหญ่เสื่อมโทรม ทั้งพะยูนและเต่าทะเลก็มารุมกันกัดกินเป็นอาหาร
2.การทับถมและการเปลี่ยนสภาพของตะกอนในแหล่งหญ้าทะเล จากการศึกษาตะกอน ในเบื้องต้นบริเวณท่าเทียบเรือเกาะมุกด์ พบว่าลักษณะตะกอนชั้นบน 0-4 เซนติเมตรเป็นทรายละเอียดปนเลนและเปลือกหอย มีสีขาวปนเทา มีลักษณะอัดแน่นทำให้พื้นค่อนข้างแน่นแข็งไม่มีการจมตัว ตะกอนชั้น 3-6 เซนติเมตร เป็นชั้นทรายละเอียดอัดแน่นมีสีดำเล็กน้อยของไฮโดรเจนซัลไฟด์ พบเศษเหง้าหญ้าทะเลตายเล็กน้อย ที่ชั้นตะกอน 5-6 เซนติเมตรเป็นทรายละเอียดอัดแน่น คล้ายกับตะกอนดินที่พบหญ้าทะเลตายที่เกาะลิบง
ทั้งนี้ การศึกษาการปนเปื้อนของโลหะหนัก และมลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน ในตะกอนดินและหญ้าทะเลจากบริเวณแนวหญ้าทะเลจังหวัดตรัง เก็บตัวอย่างตะกอนผิวหน้าและชั้นตะกอน พบว่าลักษณะของตะกอนส่วนใหญ่เป็นทราย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะตะกอนจากอดีตที่มีลักษณะเป็นโคลนปนทราย ซึ่งเราไม่ตัดประเด็นของตะกอนทับถมทิ้ง และกำลังศึกษาหาแหล่งที่มาของตะกอนดังกล่าวว่ามาจากพื้นที่ใด
3.การระบาดของโรคในหญ้าทะเล หรือปัจจัยอื่นๆ ทางทีมวิจัยมีการศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไปอีก โดยอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้หญ้าทะเลอ่อนแอมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น การผึ่งแห้งนานขึ้นในขณะน้ำลง
อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาที่แผ่ขยายเป็นพื้นที่กว้าง โดยเริ่มมีรายงานพบหญ้าทะเลที่ใบขาดในประเทศอื่นๆด้วย ทำให้ สมมุติฐานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความเป็นไปได้สูง แนวทางฟื้นฟูคงต้องให้ระบบนิเวศฟื้นตัวและมีความพร้อม ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ต้องใช้เวลา 4-5 ปี ให้ธรรมชาติฟื้นฟูด้วยตัวเอง หรือเมื่อเข้าสู่ช่วงฝนตก ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงคงที่
และเราพบว่าหญ้าทะเลในทั้งหมด 13 ชนิด นอกจากหญ้าคาทะเลที่เสื่อมโทรมเป็นหลักแล้ว หญ้าชนิดอื่นก็เริ่มมีการฟื้นตัว เช่น หญ้าใบมะกรูดซึ่งเป็นแหล่งอาหารหนึ่งของพะยูน เป็นต้น แต่ขณะนี้จำเป็นต้องเตรียมการคัดเลือกและสะสมพันธุ์หญ้าทะเลที่มีความทนทานสูง โดยรวบรวมจากหลายพื้นที่เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมของหญ้าทะเล การพัฒนาเทคนิคการลงปลูกในแหล่งธรรมชาติ โดยใช้ต้นแบบจากแปลงปลูกที่ประสบความสำเร็จแล้ว อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการเพาะขยายพันธุ์โดยใช้บ่อพักน้ำทะเลหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อสร้างความพร้อมในการนำไปปลูกเสริมในสภาพธรรมชาติต่อไป
"ส่วนการบินสำรวจประชากรพะยูนล่าสุดที่ลดลงมาอย่างน่ากังวล พบเพียง 36 ตัว จากปี 2566 ที่พบถึง 194 ตัว กรมยังขอไม่ยืนยันตัวเลขนี้ เพราะในช่วงการบินสำรวจดังกล่าวสภาพอากาศและน้ำไม่อำนวย และไม่พบซากพะยูนที่หายไปเป็นร้อยตัว จึงสันนิษฐานว่ายังไม่ตาย แต่อาจเคลื่อนย้ายที่หากิน โดยจะมีการบินสำรวจใหม่ในปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อวางแผนกำหนดพื้นที่ปลอดภัยที่พะยูนมีการเคลื่อนย้ายต่อไป
และขอให้เชื่อมั่นว่าเรากำลังดำเนินการอย่างเต็มกำลังที่สุดเพื่ออนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งออกอาหารทะเล ที่สหรัฐเมริกาเข้มในเรื่องมาตรการประเทศต้นทางในเรื่องการดูแลพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์" นายปิ่นสักก์ กล่าว
"มูลนิธิอันดามัน" จี้ หน่วยงานตามคุ้มครอง "พะยูน" ย้ายที่หากินออกนอกเขตอนุรักษ์
ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า แม้จะอยู่ระหว่างการหาสาเหตุ และแนวทางการฟื้นฟูที่ต้องใช้เวลา แต่แนวทางการอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูนก็ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เมื่อพะยูนมีการย้ายพื้นที่หากินออกนอกพื้นที่จังหวัดตรังตามประกาศกระทรวงทส.ที่กำหนดเขตคุ้มครองไว้ โดยจากข้อมูลที่เครือข่ายมูลนิธิฯในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพังงาแจ้งมาพบว่า ในขณะนี้มีชาวบ้านพบเห็นพะยูนในพื้นที่กระบี่และพังงานเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานติดตามวางแผนการคุ้มครองภัยคุกคามพะยูนที่ย้ายถิ่นด้วย
หลังจากนี้ คงต้องติดตามกันต่อว่า สุดท้ายแล้ว กุญแจ(มาตรการ)ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง พลังของเครือข่ายอนุรักษ์ในพื้นที่ จะไขวิกฤตหญ้าทะเลใน จ.ตรัง ได้หรือไม่ แล้ว "พะยูนตรัง" จะย้ายที่หากินจริงๆ หรือไปที่ไหน อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่และบุคคลที่จะช่วยทั้งหญ้าทะเลและเจ้าหมูน้ำ เพื่อให้พวกเขาอยู่คู่กับท้องทะเลต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก :
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเล
คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง