18 มกราคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (TIPNET2023) ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม ณ โรงแรมแชง กรี ลา เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ ASEAN-ACT, มูลนิธิ A21, IOM Thailand, โครงการ RSO, Lift International, โครงการ SCIENTIA, มูลนิธิ O.U.R, มูลนิธิ IJM, มูลนิธิ ZOE, และมูลนิธิ RAPHA
การประชุมในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามนโยบายของ พ.ต.อ.ทวี โดยข้อสั่งการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายใต้การกำกับดูแลของ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้กำกับดูแลกองคดีการค้ามนุษย์ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เช่น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน เป็นต้น ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ, ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ประเทศต่างๆประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน รวมผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 ราย จากกว่า 40 หน่วยงาน
สำหรับวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผู้แทนแต่ละหน่วยงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่ความสำเร็จในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการบูรณาการการทำงานอย่างเข้มแข็งและมีเอกภาพตามหลักมาตรฐานสากล และเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่จะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
พ.ต.อ.ทวี กล่าวเปิดการประชุมว่า “อาชญากรรมการค้ามนุษย์ เป็นรายได้หลักอันดับสอง ของนักประกอบอาชญากรรม รองจากการค้ายาเสพติด โดยภัยจากการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องที่จะต้องมีการต่อต้านและแก้ไข เนื่องด้วยนานาชาติมีหลักคิดร่วมกันว่า มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและความสำคัญ”
ดังนั้น การกระทำที่กระทำต่อมนุษย์ จึงถือว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด โดยในสมัยที่ตนเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เราหารือกันว่า ควรจะมีนโยบาย 5P เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ คือ Policy, Prevention, Protection, Prosecution และ Partnership ซึ่งงานในวันนี้(18 ม.ค.) ถือเป็นการทำให้ Partnership เป็นรูปธรรม เมื่อ Partner หรือเครือข่ายมารวมกันในวันนี้ ตนจึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญ
เนื่องจากการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรของโลก ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่ง สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง
ความร่วมมืออย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องมีความจริงใจและจริงจัง มีความเป็นหุ้นส่วนที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการแก้ไขปัญหานี้