อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลกและที่ปรึกษาด้านการตัดรายจ่ายรัฐบาลของสหรัฐฯ ร่วมการประชุมทางไกลกับพรรคสันนิบาต ที่เป็นพรรคขวาจัดของอิตาลีเมื่อวันเสาร์ (5 เมษายน) และกล่าวว่า เขาหวังให้ยุโรปและสหรัฐฯ สามารถตกลงกันว่าจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกัน ที่จะเป็นการสร้างเขตการค้าสรีระหว่างสองฝ่าย
นอกจากนี้เขายังตอบคำถามของมัตเตโอ ซาลวินี หัวหน้าพรรคสันนิบาตว่า เขาสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ ได้เสรีมากขึ้น
ถ้อยแถลงของมัสก์มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศเมื่อวันพุธ (2 เมษายน)ขึ้นภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากทั่วโลก โดยเริ่มมีผลบังคับเมื่อวันเสาร์ (5 เมษายน )และขึ้นภาษีอัตราสูงกว่ากับอีกหลายสิบประเทศ ที่จะมีผลในวันพุธ ( 9 เมษายน) โดยสหภาพยุโรปหรืออียู จะเผชิญภาษีอัตราใหม่ที่ 20%
เกียนคาร์โลก จิออร์เกตตี รัฐมนตรีเศรษฐกิจอิตาลี จากรพรคสันนิบาต กล่าวในวันเดียวกันเรียกร้องให้ยุโรปคลี่คลายความขัดแย้งเรื่องภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ และไม่เห็นด้วยกับการดำเนินมาตรการตอบโต้
ขณะที่มารอส เซฟโควิช หัวหน้านโยบายการค้าของอียู บอกว่า อียูจะดำเนินการตอบโต้อย่างเป็นชั้นเป็นตอนด้วยความระมัดระวัง
และนอกจากการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ระลอกล่าสุดทำให้ตลาดหุ้นร่วงทั่วโลกแล้ว มาตรการขึ้นภาษีกับรถยนต์นำเข้าเป็น 25% ที่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 3 เมษายน ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตแล้ว โดยบางบริษัทเริ่มระงับการผลิตเพื่อประเมินผลกระทบ เช่น จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ในอังกฤษ ที่ทาทา มอเตอร์ส ของอินเดียเป็นเจ้าของ ยืนยันว่า จะระงับการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในอังกฤษไปยังสหรัฐฯ ชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อหาทางบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษี 25% ของทรัมป์
นอกจากนี้บริษัทสเตลแลนทิส ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ประกาศปลดพนักงาน 900 คน ในโรงงาน 5 แห่งในสหรัฐฯ และระงับการผลิตที่โรงงานประกอบรถยนต์ 1 แห่งในเม็กซิโกและอีก 1 แห่งในแคนาดาเพื่อประเมินผลกระทบระยะกลางและระยะยาวจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ต่อการดำเนินงานบริษัท